xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะถอนร่าง พ.ร.บ.ตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน-ร่าง พ.ร.บ.ตั้งศาลแรงงานสมุทรปราการ-ระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
วันนี้ (1 เม.ย.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ ดังนี้ 1. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เมื่อมีการเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา และ 2. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ และจัดตั้งศาลแรงงานขึ้นในจังหวัดระยองโดยให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่ในจังหวัดสมุทรปราการ และตลอดท้องที่ในจังหวัดระยอง ตามลำดับ

“ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งในชั้นการตรวจพิจารณาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11) มีความเห็นว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐพึงมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและเนื่องจากคดีแรงงานมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งผู้พิพากษาในศาลแรงงานจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างมากในการพิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน รวมทั้งควรมีอาวุโสเทียบเท่ากับผู้พิพากษาสมทบ นอกจากนี้ ในกรณีที่เหตุเกิดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง บางคดีขึ้นศาลแรงงานภาค 2 แต่ในขณะที่บางคดีขึ้นศาลแรงงานจังหวัดระยอง จึงอาจทำให้เกิดความลักลั่นได้ รวมถึงเมื่อมีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดระยองและศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำฟ้องคดีแรงงานต่อศาลจังหวัดระยอง หรือศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้อีกต่อไป จึงเห็นควรที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะพิจารณาแก้ไขปัญหาผู้พิพากษาไม่เพียงพอต่อจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นด้วยการบริหารจัดการโดยการจัดกลุ่มจังหวัดของศาลแรงงานภาคเสียใหม่ หรือจัดตั้งศาลแรงงานภาคเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว มีความประสงค์ที่จะขอถอน ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ รวม 2 ฉบับ เพื่อไปดำเนินการจัดตั้งเป็นศาลแรงงานภาคและจะเปิดทำการโดยการตราพระราชกฤษฎีกาต่อไป” นายคารม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น