xs
xsm
sm
md
lg

กกต.สรุปเลือก อบจ.มีร้องคัดค้าน 492 เรื่อง วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว 91 เรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกต.สรุปเลือก อบจ.1 ก.พ.68 ทั่วประเทศ มีร้องคัดค้าน 492 เรื่อง วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว 91 เรื่อง

วันนี้(31มี.ค.)สำนักงาน กกต.ได้สรุปสถิติคำร้อง สำนวนเรื่องคัดค้าน การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กรณีครบวาระ ที่มีการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 27 มี.ค.68 มีจำนวนทั้งสิ้น 492 เรื่อง กกต. วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว จำนวน 91 เรื่อง แบ่งเป็น สั่งไม่รับ สั่งยก / ยุติ จำนวน 86 เรื่อง ยกคำร้อง 1 เรื่อง ระงับสิทธิ 3 เรื่อง ดำเนินคดีและยื่นศาล 1 เรื่องคงเหลือ 401 เรื่อง

ทั้งนี้ใน 47 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มี 6 จังหวัดที่ไม่มีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ได้แก่ กระบี่ นครปฐม น่าน พัทลุง ยะลา และสิงห์บุรี

ส่วน 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งเฉพาะสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มี3จังหวัดที่ไม่มีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท และอุทัยธานี อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.68 เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. 63 จำนวนคำร้องและสำนวนคัดค้านการเลือกตั้งลดลง 226 เรื่อง ซึ่งในการพิจารณาคำร้องและสำนวนคัดค้านการเลือกตั้งเมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ได้รับสำนวนแล้ว จะมีการดำเนินการ 4 ขั้นตอน

 1. สำนักงานกกต.ประจำจังหวัด เมื่อคณะกรรมการสืบสวน และไต่สวน ได้รับสำนวนแล้ว ให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนและจัดทำความเห็น เพื่อเสนอให้ผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำจังหวัดมีความเห็นประกอบสำนวน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้จัดส่งสำนวนไปยังสำนักงานกกต (ส่วนกลาง) โดยเร็ว

2. เมื่อสำนักงานกกต.กลาง) ได้รับสำนวนแล้วให้พนักงานสืบสวน และไต่สวนผู้รับผิดชอบสำนวน ดำเนินการวิเคราะห์สำนวนและจัดทำความเห็นเสนอผ่านผู้อำนวยการฝ่าย รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนัก และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือรองเลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับมอบหมาย 

3. เมื่อสำนวนถูกส่งให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ได้พิจารณาและจะทำความเห็นให้กกต.พิจารณา และสำนักงานกกต.เสนอสำนวน 

4.เมื่อกกตได้รับสำนวน จากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งแล้ว ต้องพิจารณาชี้ขาดหรือสั่งการโดยเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น