xs
xsm
sm
md
lg

"ซาบีดา-นายกวิศวกรรมฯ" ยันตึกศูนย์ราชการปลอดภัยไม่กระทบโครงสร้าง ใช้อีพ็อกซี่ฉาบเสาปูนแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.มท.-นายกวิศวกรรรมสถาน ย้ำตึกเอ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ปลอดภัยดี after shock ไม่กระทบโครงสร้างอาคาร พบเสาปูนแตก เตรียมใช้อีพ็อกซี่ฉาบแทนปูน เพราะแข็งแรงเท่าคอนกรีต

วันนี้(31มี.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังพบรอยร้าวที่บริเวณชั้น 5 และชั้น 7 ของอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างอาคารเกิดการแยกตัวและมีเสียงดัง รวมถึงมีเศษปูนร่วงลงมา มีการอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่

จากนั้นทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของกรมธนารักษ์ได้เข้าตรวจสอบและประกาศให้ข้าราชการพนักงานที่อยู่ภายในอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือตึก a กลับเข้าทำงานได้ตามปกติ


ขณะที่การตรวจสอบอาคารนั้น นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายธเนศ วิระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานราชการ ได้ร่วมตรวจสอบและมีการประชุมประเมินสถานการณ์

โดยนางสาวซาบีดา ได้ให้สัมภาษณ์ว่าการประชุมในวันนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้อาคาร เนื่องจากอาการ after shock แต่ไม่รุนแรงส่งผลกระทบต่อมั่นคงแข็งแรงของอาคาร และประชาชน โดยทางอาคารได้มีการตรวจสอบจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนอาคารหน่วยงานราชการอื่นๆก็พยายามจะไล่ตรวจสอบให้ครบถ้วนทุกอาคาร ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองมีศูนย์รับแจ้งเข้าตรวจสอบอาคารของหน่วยงานภาครัฐ

"ยืนยันว่า after shock ไม่ส่งผลกับประเทศไทย และอาคารนี้ได้มีทีมวิศวกรของตึกตรวจสอบ 1 รอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาคาร ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองก็จะเข้าตรวจสอบอีกครั้ง จะสร้างความมั่นใจในการกลับเข้าใช้ตึกได้ ส่วนการเปิดให้บริการประชาชนที่จะมาติดต่อขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการ


ด้าน นายพงษ์นรา กล่าวว่าได้รับรายงานเหตุแผ่นดินไหวและ after shock ประมาณ 15 ครั้ง ซึ่งผู้ที่ใช้อาคารอาจจะมีความรู้สึก เวียนหัวหรือมีอะไรไหว เมื่อมีคนอพยพก็จะวิ่งตามกันลงมา ยืนยันว่าอาคารนี้ได้มีการตรวจสอบโดยวิศวกรที่ดูแลอาคารได้ตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา พบรอยร้าวไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหรือความแข็งแรงของอาคาร แต่อาจจะมีการขยับตัวของรอยเชื่อมระหว่างอาคารบ้าง แต่จากการตรวจสอบ ไม่พบรอยร้าวที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของอาคารจึงเปิดให้ใช้งานตามปกติในวันนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นจากการได้รับข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาเมื่อทำงานจึงเกิดความรู้สึกยังมีความไม่ปกติอยู่ เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็จะคิดว่าเกิดแผ่นดินไหวอีกแล้วและอพยพ ซึ่ง after shock 15 ครั้งที่เกิดขึ้นเมื่อเช้ามีขนาดเล็ก


นายธเนศ ระบุว่าจากการทำงานในตึกนี้มา 10 กว่าปีก็จะคุ้นตากับรอยร้าวว่ามีจุดไหนบ้าง และเห็นการแยกตัวจุดเดิม ซึ่งอาคารศูนย์ราชการออกแบบให้แยกตัวเพื่อให้มีการขยายตัว หรือหดตัวของโครงสร้างตามหลักการออกแบบ ดังนั้นดูแล้วไม่มีอะไรผิดปกติ ซึ่งบริเวณชั้น 7 เกิดจากรอยร้าวที่ผนัง เป็นรอยร้าวเดิม แต่จะมีการตรวจสอบซ้ำร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง วิศวกรอาสาของสภาวิศวกร วิศวกรรมสถาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจ โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดเพื่อพิสูจน์ความสั่นไหว ถ้าลดลงก็ถือว่าจบ ยืนยันว่าแทบไม่พบรอยแตกใหม่ แต่จุดที่เดินผ่านและมีการตรวจสอบคือจุดรอยเชื่อมระหว่างอาคาร โดยมีการแกะแผ่นสแตนเลสระหว่างรอยเชื่อมของอาคารพบว่าเป็นช่องว่างตั้งแต่การก่อสร้าง ซึ่งรอยที่เกิดใหม่เกิดจากวันที่ 28 ตามร่องบันไดใต้ท้องคาน ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักในทางวิศวกรรมเป็นตัวถ่ายน้ำหนัก แต่ผนังเป็นผนังอิฐก่อฉาบปูน เมื่อไปชนกับคาน แค่ขยับตัวนิดเดียวตรงรอยต่อจะแตกเป็นริ้วๆ ยืนยันคานไม่ได้แตก รอยต่อคานกับเสาไม่มีรอยร้าว จึงขอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ยอมรับว่าเมื่อเกิดอาฟเตอร์ช็อคก็จะมีโอกาสทำให้รอยแตกร้าวเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นรอยแตกเดิม ซึ่งตรงจุดรอยเชื่อมของอาคารปกติก็จะต้องมีการทุบรื้อและสร้างใหม่ แต่ขอให้รออีกสักระยะเนื่องจากเพิ่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นใหม่ๆ


ขณะเดียวกันล่าสุดทีมวิศวกร ที่ปรึกษาของศูนย์ราชการได้เดินทางเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างอาคารอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีเสาหลักบริเวณชั้น2 ของอาคารติดกับที่ทำการไปรษณีย์ปูนเกิดการกระเทาะแตก จากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่ง นายไพรัช เล้าประเสริฐ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ เปิดเผยว่า ในช่วงการตรวจสอบพบว่าปูนมีรอยร้าว จนกระเทาะแตกเล็กน้อย ทางเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้กระเทาะปูนออกมาเพื่อตรวจสอบดูเสาภายใน ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวหรือไม่ โดยปูนที่กระเทาะแตกออกมานั้นเป็นเพียงปูนที่ฉาบด้านนอกของเสา ซึ่งค่อนข้างเปราะบางรองรับแรงกระแทกไม่ได้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลถึงตัวเสาที่เป็นโครงสร้างอาคารด้านใน จึงไม่ใช่เรื่องรุนแรง และกระทบต่อตัวอาคาร เพราะถ้ากระทบต่อโครงสร้างจะต้องมีรอยแตกหลายจุด จากนี้จะต้องนำปูนพอกซี่ซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าปูนซีเมนต์เมื่อแข็งตัวแล้วจะมีความแข็งแรงเท่ากับคอนกรีตมาฉาบปิดรอยบริเวณดังกล่าว โดยจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมทันที และหลังซ่อมแซมเสร็จสิ้นก็จะติดตาม มีรอยร้าวเพิ่มเติมหรือไม่ พร้อมยืนยันว่าจากการตรวจสอบพบความเสียหายที่บริเวณจุดนี้เพียงจุดเดียว

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทางวิศวกรจะนำกระจกสไลด์บางมาติดตั้งบริเวณจุดรอยเชื่อมของอาคารรวมถึงจุดที่เกิดรอยร้าว เพื่อทดสอบแรงสั่นสะเทือน หากอาคารมีการขยับตัวกระจกก็จะร่วงแตก




กำลังโหลดความคิดเห็น