ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นต่อเหตุแผ่นดินไหว กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวด้วยตนเอง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,091 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 – 30 มีนาคม 2568 พบว่า
เมื่อสอบถามประชาชนถึงความรู้สึกแรก เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ตกใจมาก เกิดอะไรขึ้น คิดว่าตนเองไม่สบาย รู้ว่าแผ่นดินไหว คิดว่าผีหลอก เกิดเหตุร้าย ในขณะที่ ร้อยละ 24.6 ตกใจแต่ไม่มาก ควบคุมสติได้ หาทางเอาตัวรอด แจ้งเตือนผู้อื่น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถาม ถึง แหล่งข่าวแรก ๆ ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารแผ่นดินไหว ตอบได้มากกว่า 1 แหล่ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.7 ระบุ คนในที่เกิดเหตุ คนรู้จัก ปากต่อปาก ในขณะที่ ร้อยละ 88.7 ระบุ โซเชียลมีเดีย Facebook, X/Twitter, Line, IG ร้อยละ 65.8 ระบุ เพื่อนร่วมงาน หน่วยงาน องค์กรของตนเอง ร้อยละ 53.9 ระบุ จาก ห้างร้าน หน่วยงานในที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว และร้อยละ 14.6 ระบุ จากหน่วยงานของรัฐ จากการแถลงข่าวสด สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามลำดับ
ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึง ความต้องการให้ หน่วยงานรัฐ ปรับปรุง พร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 87.1 ต้องการให้ เฝ้าระวัง ติดตามพื้นที่เสี่ยง สื่อสาร ไลฟ์สดจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีไลฟ์สดทันที ตอบสนองรับมือเหตุฉุกเฉิน แก้วิกฤต และฟื้นฟูเยียวยา ร้อยละ 84.9 ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจง ตรวจสอบ ความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนในทุกประเด็น และร้อยละ 77.6 ระบุ มีการให้ความรู้และฝึกซ้อมประชาชน รับมือเหตุฉุกเฉิน ในทุกมิติ ทุกสถานการณ์ ไม่ทำเฉพาะช่วงเป็นกระแสเท่านั้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งในด้านชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเกิดในพื้นที่ที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ประสบเหตุด้วยตนเองจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินระดับความตระหนัก ความเชื่อมั่น และความต้องการของประชาชน อันจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกับสภาพจริงของสังคมไทย
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวด้วยว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึง ภาวะช็อกทางจิตใจ (Psychological Shock) ของประชาชนซึ่งเป็นผลกระทบเบื้องต้นที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ และบ่งชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการฝึกฝนและความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของแผ่นดินไหว และแม้แต่นายกรัฐมนตรีเองน่าจะรู้คนแรกของประเทศและพร้อมไลฟ์สดทันทีต่อประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และครอบคลุมทุกมิติ ระบบศูนย์รวมข้อมูลของนายกรัฐมนตรีควรได้รับการพิจารณาทบทวนปรับปรุงเร่งด่วนสุดเพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุอะไรอีกในปัจจุบันและอนาคต เพราะแหล่งข่าวสารหลักที่ประชาชนเข้าถึงเป็นแบบ "ไม่เป็นทางการ" ซึ่งอาจก่อให้เกิดข่าวลวง (Fake News)หรือการตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น การที่ภาครัฐมีสัดส่วนในการเป็นแหล่งข้อมูลเพียงร้อยละ 14.6สะท้อนถึง ปัญหาการสื่อสารภาวะวิกฤต (Crisis Communication Deficit) อย่างชัดเจน
“สรุปโดยรวมได้ว่า ข้อมูลผลโพลนี้แสดงถึงความต้องการของประชาชนในด้าน "การมีส่วนร่วมและการได้รับข้อมูลที่โปร่งใส" (Participatory Governance) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยทางการสื่อสาร และชี้ให้เห็นว่าประชาชนพร้อมจะร่วมมือหากได้รับการสื่อสารอย่างจริงใจและต่อเนื่อง” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว