นายกฯ ถกศูนย์ บกปภ.ช. หวด ‘ปภ.- กสทช.’ ส่ง SMS แจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวช้า ไล่บี้ประสานทำงานเร็วกว่านี้ สั่งแจ้งข้อมูลปิด-เปิดถนน หากเกิดเหตุการณ์ใหญ่ แซะผิดเอง ไม่ได้ลงดีเทลระบุข้อความให้ชัด ยันอาฟเตอร์ช็อกไม่กระทบไทย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 มี.ค.ที่ศูนย์กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม นายภาสกร บุญลักษณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมด้วยหน่วยงานทหาร ตำรวจ และส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
โดยนายกฯ กล่าวช่วงต้นการประชุม ว่า ขออนุญาตวันนี้ขอให้ทุกท่านรับฟัง เผื่อมีอะไรก็เดี๋ยวค่อยแจ้งกัน อาจจะไม่มีโอกาสให้จังหวัดอื่นๆ รายงานเท่าไรวันนี้ ขอเน้นที่กรุงเทพฯก่อนเรื่องแจ้งให้ทราบอาจจะไม่ต้องแจ้งอะไรมาก เพราะทุกคนทราบกันอยู่แล้ว แต่อยากทราบว่าประเด็นแรกตอนที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเวลาประมาณ 13.20 น. ตนอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตสิ่งแรกที่ควรจะเกิดขึ้นมันคืออะไร เมื่อเกิดแผ่นดินไหวสิ่งแรกที่เกิดขึ้นประชาชนควรได้รับคืออะไรบ้าง ทั้งในเรื่องของSMSหรือไม่ถ้าใช่หน่วยงานไหนที่ต้องรับผิดชอบ
ด้านตัวแทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ปกติจะมีกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานแผ่นดินไหวและจะแจ้งมาที่ปภ.เพื่อทำการแจ้งเตือนต่อไป โดยกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งมาที่ ปภ. และทำการแจ้งเตือนต่อไป ทั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวเป็นสถานการณ์เดียวที่ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้จะรู้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ จึงทำให้นายกฯ กล่าวว่าเป็นความรู้ใหม่ของดิฉันเหมือนกัน ต้องบอกให้ประชาชนรับรู้ว่าแผ่นดินไหว ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าหรือทำนายล่วงหน้าได้ว่าอีก 2 วัน จากเกิดเหตุแผ่นดินไหว
จากนั้นตัวแทน ปภ.รายงานต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกคนจะรับรู้ได้ทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว
เราแจ้งเตือนครั้งแรกเรื่องการส่ง SMS ปภ. ส่งไปที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เพื่อให้ส่งSMS แจ้งไปให้ประชาชน
ด้าน นายกฯ จี้ถามด้วยน้ำเสียงเข้ม ว่า ปภ.ส่งไปที่ กสทช. 2 ครั้งจริงหรือไม่ เพราะ ปภ.แจ้งว่าส่งไปทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยตัวแทนปภ.ตอบว่า ส่งไป 4 ครั้ง นายกฯจึงถามกลับว่า ส่งครั้งแรกตอนกี่โมง จึงทำให้ตัวแทน ปภ. กล่าวว่า ส่งไปครั้งแรกเวลา 14.42 น. โดย เป็นการส่งข้อความเตือนว่าให้แจ้ง ประชาชนสามารถเข้าอาคารได้ในกรณีที่จำเป็น
จากนั้น นายกฯ ถามตัวแทน กสทช.ว่าได้รับแจ้งจากปภ.หรือไม่ว่าต้องส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน
ขณะที่ กสทช. กล่าวว่า ปภ.ส่งให้ครั้งแรกในเวลา 14.40-14.42 น. และ กสทช.เริ่มส่งทันทีเวลา 14.44 น. ด้าน นายกฯ ถามว่า ทราบว่ามีข้อจำกัดในการส่งให้ประชาชน 1-2 แสนเบอร์เท่านั้น โดยตัวแทนกสทช. ตอบว่า ใช่ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยทยอยส่งSMS ได้ทีละ 2 แสนเบอร์ ครั้งแรก 4 จังหวัดกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเครือข่ายมือถือกำลังเร่งทำระบบให้สามารถส่งได้ทีละ 3 ล้านเลขหมาย แต่ใช้เวลา5-6 ชั่วโมง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการรันคิว และสรุปสุดท้ายส่ง SMS ได้ทั้งหมดประมาณ 10 กว่าล้านเลขหมาย
ต่อมา นายกฯ สอบถามอีกว่า ปัญหาคือเรื่อง Cell Broadcast ( CB ) หรือวิธีการส่ง ข้อความสั้นๆ พร้อมกันไปยังผู้ใช้ โทรศัพท์ ที่อนุมัติไปยังไม่มา ทำให้เราส่ง SMS ได้แค่ 2 แสนเบอร์ และข้อความที่ส่ง ส่งไปว่าอะไร ด้านตัวแทน ปภ. แจ้งว่า ส่งไปรายงานว่า ครั้งแรกส่งให้ประชาชนสามารถเข้าอาคารได้ ส่วนครั้งที่สอง และครั้งที่สามส่งต่อเนื่องตามสถานการณ์
ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวเสริมว่า ปัญหาคือการส่ง SMS ของเราช้าและไม่ทั่วถึง ข้อนี้เป็นข้อแรกที่เป็นปัญหาต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก ดิฉันทราบดีว่า Cell Broadcast มาช่วงเดือน มิ.ย. หรือ เดือน ก.ค. ที่จะทำให้สามารถส่งข้อความทีเดียวกระจายได้หมด แต่เรื่องการขอความร่วมมือกับเครือข่ายระบบสื่อสารต่างๆไม่ว่าจะเป็นค่ายโทรศัพท์มือถือใหญ่ๆ อันนั้นสามารถร่วมมือกันได้ตรงไหน เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจะขอความร่วมมือได้อย่างไร ที่ข้อความ SMS จาก 1-2 แสนข้อความไปเป็น 1 ล้านข้อความอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ไม่มา คือ SMS และชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย ซื้อซิมการ์ดของไทยในระยะสั้นมีเตือนภัยหรือไม่ขอให้ทางกสทช. และปภ.ช่วยกันประสานว่าสามารถบูรณาการตรงนี้ร่วมกันได้อย่างไร ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน ดิฉันสั่งไปตั้งแต่บ่ายสองว่าให้SMS แจ้งเตือนให้หมดทุกอย่างแต่ระบบไม่ออก ก็เลยไม่ทราบว่ามันต้องทำตรงไหนเพิ่มเติมอีก ท่านมีข้อแนะนำหรือไม่ให้แนะนำมาเลย เพราะมีการสั่งจากมหาดไทยและนายกฯแล้ว มันต้องทำยังไงได้อีก
“จริงๆ แล้ว ปัญหาที่ 1 คือ เรายังไม่ได้ Cell Broadcast แต่ปัญหาที่สอง คือ SMS แจ้งเตือนประชาชนช้า และข้อมูลที่ส่งไปไม่ได้จะเป็นประโยชน์มาก อันนี้ขออนุญาตพูดความจริงตัวดิฉันก็ผิดเอง ที่ไม่ได้ระบุว่า ต้องส่งข้อความว่าอะไรบ้าง เพราะความจริงตอนนั้นทุกฝ่ายควรจะร่วมกัน ที่จะบอกรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วแจ้งประชาชนด้วยข้อความอะไร แต่ขอบคุณรายการโทรทัศน์เฉพาะกิจทั้งหมดพอบอกภายในไม่ถึง 5 นาที ทุกคนสามารถออกได้หมด ความจริงดิฉันอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตไม่ได้รู้สึกถึงความสั่นสะเทือนเลยแต่ภายใน 10 นาทีที่เข้าประชุม มีรัฐมนตรีแจ้งว่ามีแผ่นดินไหวทุกอย่างคือต้องเกิดขึ้นเร็วและรีบสั่งการจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ยังปรับปรุงได้คือเรื่องของ SMS ดิฉันมองว่าเมื่อ Cell Broadcast มาคงจะเห็นอะไรที่เป็นคำตอบ แต่อีกอย่างเรื่องแผ่นดินไหวถามตัวดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ค่อนข้างที่จะเหมือนประชาชนคนไทยทุกคน เพราะเราไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีแผ่นดินไหวเป็นประจำและหนัก ทุกคนคิดว่าตัวเองไม่สบายขาดน้ำตาลอะไรหรือไม่ ก็คงต้องให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ประชาชนไม่สามารถหาข้อมูลได้ และคนกลับบ้านไม่ได้ มีเสียงบ่นมาก คือต้องปิดรถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้ ถ้าสมมุติเป็นเหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใหญ่แบบนี้จะทำอะไรเตรียมไว้เลยตั้งแต่วันนี้ที่เส้นทางคมนาคมจะสามารถลิงค์กับการสื่อสารของประชาชนได้อย่างไร สมมติเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เส้นทางไหนใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ SMS บอกได้ไหมว่าถนนเส้นนี้ปิด ถนนนี้เปิด ขอให้เชื่อมต่อกันไว้เมื่อถ้ามันเกิดแบบนี้ขึ้นมาอีก SMS ต้องบอกข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนทราบ ฝากให้กระทรวงคมนาคมและกสทช.บูรณาการการทำงานครั้งหน้าจะต้องไม่บล็อกแบบนี้
จากนั้นตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานแนวโน้มการเกิดอาฟเตอร์ช็อกในไทยว่า จากการติดตามสถานการณ์จนถึงปัจจุบัน อาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้น 100 กว่าครั้ง ซึ่งในการเกิดจะมีความรุนแรงลดน้อยลง โดยแนวโน้มการเกิดจะเลื่อนไปทางทิศเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ทางประเทศจีนเกิดห่างไกลประเทศไทย ยืนยันว่ามีผลกระทบกับบ้านเราน้อยลง ด้าน นายกฯ ถามว่า น้อยลงคือเราอาจจะมีความรู้สึกบ้าง แต่ไม่มีผลกระทบใดๆ หรือแทบไม่รู้สึกเลยใช่หรือไม่ ขณะที่ตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยา ตอบว่า ถ้าเกิด 5 ริกเตอร์เราไม่มีความรู้สึก และประเทศไทยได้ติดตามต่อเนื่อง ยังไม่มีปฏิกิริยาที่จะส่งผลกระทบกับบ้านเรา
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายนายกฯ ถามอีกว่า ในแง่การเกิดแผ่นดินไหวอีกรอบ เราจะไม่มีโอกาสทราบ และไม่มีข้อมูลเลยใช่หรือไม่จากทางเมียนมา ด้านตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยา ตอบว่า เรื่องการเตือนภัยล่วงหน้าการเกิดแผ่นดินไหว ยังไม่มีเทคโนโลยี