“ช่อ พรรณิการ์” สรุปบทเรียนแผ่นดินไหว เราไม่มีความพร้อมอะไรเลยในการรับมือภัยพิบัติ ประชาชนขาดความรู้ในสภาวการณ์นี้ รัฐขาดระบบการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ฉับไวและมีประสิทธิภาพ ทั้งที่เราเผชิญภัยพิบัติใหญ่มาหลายครั้งแล้ว
วันนี้ (29 มี.ค.) เวลา 09.40 น. น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Pannika Chor Wanich” เกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้
บันทึกประสบการณ์แผ่นดินไหวกรุงเทพฯ 28 มีนาคม 2025
ช่ออยู่ในรถ กำลังจะไปประชุมกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ ที่รัฐสภา กำลังจะถึงแล้ว อยู่ๆ รถก็โคลงเคลง ตอนแรกไม่คิดอะไร นึกว่ารถใหญ่วิ่งผ่าน แต่รถยังโคลงไม่หยุดจนเวียนหัว เลยเงยหน้าจากไอแพดขึ้นมา พอดีพี่คนขับรถหันมาบอกด้วยเสียงตกใจว่า คุณช่อ แผ่นดินไหวรึเปล่าครับ เสาไฟฟ้าโยกเลย
ตอนนั้นยังไม่แน่ใจ เพราะไม่คิดว่ากรุงเทพจะแผ่นดินไหวได้ แต่พอรถไปถึงแถวๆ หน้ารัฐสภา ก็เห็นคนออกมาออกันนอกตึกเยอะมาก เลยเริ่มตระหนักว่าน่าจะมีแผ่นดินไหวจริงๆ ลองเข้าไปดูใน X เริ่มเห็นคนโพสต์ #แผ่นดินไหว เห็นข่าวตึกถล่ม (ที่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าเป็นภาพจริงหรือไม่) ตอนนั้นช่อยังคิดแต่ว่าต้องเข้าไปประชุมที่สภา เพราะถามไปในกรุ๊ปไลน์ของ กมธ. ยังไม่มีการยกเลิกประชุม หลายคนรออยู่ในห้องประชุม พร้อมบอกว่าในสภาตึกโยกแรงมาก แต่ก็ยังไม่ได้อพยพออกมา ทุกอย่างสับสนมึนงง ไม่รู้ว่าตกลงสถานการณ์มันร้ายแรงขนาดไหนกันแน่
เมื่อรถไปถึงทางเข้ารัฐสภา ตำรวจสภากั้นกรวยหน้าประตูแล้ว พร้อมบอกว่า อย่าเข้าไปครับ เข้าไม่ได้ ตึกโยกแรงมาก กลัวว่าจะถล่ม!
ประโยคนี้เป็นประโยคแรกที่ทำให้ช่อตระหนักถึงความร้ายแรงจริงๆ ของสถานการณ์ ถ้าขนาดตำรวจสภากลัวว่าตึกจะถล่มคงไม่ธรรมดาแล้ว เลยพิมพ์ถามไปในไลน์ กมธ. อีกครั้งว่าเรายกเลิกประชุมมั้ย เพราะตอนนี้สถานการณ์วุ่นวายทั้งเมือง มีตึกถล่มด้วย คงไม่เหมาะสมที่จะประชุมต่อ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ประธาน กมธ. คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ออกมานอกสภาแล้ว และเจ้าหน้าที่กำลังทยอยออกมาที่สนามหญ้าริมน้ำ
ด้วยวิญญาณนักข่าวเก่า ช่อตัดสินใจลงจากรถ เดินเข้าไปที่สนามหญ้าเพื่อดูว่าการอพยพคนออกเป็นอย่างไรบ้าง ปรากฏว่า เดินเข้าไปเจอ สส.ตี๋ ภัทรพงษ์ สส. เชียงใหม่ ที่ดูแลงานด้านภัยพิบัติพอดี สส.ตี๋ บอกว่า ในสภาไม่มีการเตือนอพยพอย่างเป็นทางการ คนออกมากันเอง และตอนนี้ทุกเว็บแจ้งเตือนภัยพิบัติล่มหมด เรายืนอยู่ที่สนามหญ้าพักใหญ่ ไซเรนเตือนภัยของสภาจึงดัง เป็นสัญญาณอพยพอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังเกิดเหตุเกือบชั่วโมง เจ้าหน้าที่สภาซึ่งบางส่วนเริ่มทยอยกลับเข้าอาคารจึงต้องออกมาอีก เข้าใจว่าส่วนใหญ่เข้าไปเก็บของและเอารถออกจากอาคารด้วย
ช่อ สส.ตี๋ และ สส.รอมฎอน ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกันที่สนามหญ้าสภาในวันประสบเหตุภัยพิบัติ ก่อนแยกย้าย
ช่อนั่งรถกลับบ้าน ระหว่างทางเห็นคอนโดกำลังก่อสร้าง เครนพับหักครึ่งลงมา คนงานออกันอยู่เต็มสองฝั่งถนน (ทราบภายหลังว่าคนขับเครนตกลงมาเสียชีวิต) เสียงไซเรนดังแหวกอากาศตลอดเวลา และรถก็เริ่มติดแน่น สภาพกรุงเทพเหมือนหนังฮอลลีวูด ทุกคนดูสับสนและไม่รู้ว่าควรกลับเข้าอาคารหรือทำอะไรต่อ
โชคดีที่สุดที่ช่อไม่ได้กลับคอนโด แต่เตรียมจะกลับมานอนบ้านพ่อแม่อยู่แล้วในวันนั้น เลยไม่ได้มีปัญหาอะไรมากไปกว่ารถติด ถึงบ้านเรียบร้อยก็นั่งเช็กข่าว รับรู้ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงกว่าที่คิด มีคนติดในตึกที่ถล่มนับร้อย ไม่นับอาคารสูงที่เสียหายหลายพันแห่ง การจราจรเข้าสู่สภาวะโลกาวินาศ คนตกค้างบนถนน คอนโดจำนวนมากไม่ให้ลูกบ้านเข้าพัก เพราะสภาพอาคารเสียหายมาก รวมถึงคอนโดช่อ ซึ่งสภาพผนังร้าวเป็นแนวเฉียงหลายจุด ต้องรอวิศวกรมาตรวจสอบโครงสร้างอาคารเพื่อความปลอดภัย จนถึงตอนนี้เลยยังไม่รู้ว่าในห้องจะมีอะไรเสียหายแค่ไหน
สรุปบทเรียนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ คือ เราไม่มีความพร้อมอะไรเลยในการรับมือภัยพิบัติ ประชาชนก็ไม่มีความรู้ว่าต้องทำอะไรในสภาวการณ์นี้ รัฐเองก็ขาดระบบการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ฉับไวและมีประสิทธิภาพ ทั้งที่เราเผชิญภัยพิบัติใหญ่มาหลายครั้งแล้ว
ไม่อยากจะคิดว่าหากเกิดเหตุร้ายแรงกว่านี้ จะมีความสูญเสียมากมายขนาดไหน ทั้งจากภัยพิบัติและการขาดทักษะในการรับมือภัยพิบัติ