รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตเป็นวาระแห่งชาติ
วันนี้ (27 มี.ค.) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต (ข้อเสนอเชิงนโยบายฯ) 2. เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นวาระแห่งชาติ และ 3. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชนที่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้การกำกับดูแลและรับผิดชอบหรือที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย ร่วมกันขับเคลื่อนข้อเสนเชิงนโยบายฯ ด้วยโครงการ/กิจกรรมของหน่วยงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรมที่ชัดเจน
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ทั้งนี้ สถานการณ์เด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตต่างๆ สรุปได้ ดังนี้
1. สภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องหยุดทำ
การและเด็กจำเป็นต้องอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมและไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้ตลอด 24 ชม. ประกอบกับพบว่า ระยะเวลาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของเด็กสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้เด็กปฐมวัย อยู่ในสภาวะวิกฤตจากการใช้สื่อหน้าจอที่เพิ่มขึ้น
2. สภาวะวิกฤตจากความเหลื่อมล้ำในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัยสูงขึ้นโดยการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กอายุ 3-5 ปี ในปี 62-64 ลดลงอย่างต่อเนื่อง
3. สภาวะวิกฤตทางสังคม ครอบครัว จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 66 พบว่า ร้อยละ 17 ของหญิงอายุระหว่าง 20-24 ปี มีการสมรสก่อนอายุ 18 ปี ร้อยละ 25 ของเด็กอายุไม่เกิน 17 ปี ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ เนื่องจากพ่อแม่มักย้ายถิ่นฐานพื่อไปประกอบอาชีพ ร้อยละ 71 ของเด็ก 0-17 ปี อาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา และยาย เป็นต้น
จากสภาวะวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเด็กปฐมวัย เช่น พัฒนาการของเด็กปฐมวัยหยุดชะงัก เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ดังนั้น ในการประชุม คกก. พัฒนาเด็กปฐมวัย เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 67 [รนม. (นายอนุทิน) เป็นประธานกรรมการ] และ 13 พ.ย. 67 [รนม. (นายอนุทิน) มอบ รมว.ศธ. เป็นประธาน] มีมติเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้ สนง.เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คกก. พัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ ครม. ต่อไป
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายฯ มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1. 3 เร่ง
1.1 เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทุกด้านของเด็กปฐมวัย
1.2 เร่งจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อการเติบโตอย่างอยู่ดีมีสุขของเด็กปฐมวัย
1.3 เร่งเสริมศักยภาพ อปท. ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก เช่น รพ.อำเภอ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
2. 3 ลด
2.1 ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจังและงดใช้ในเด็กก่อนวัย 2 ขวบ โดยห้ามให้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือสื่อหน้าจอแก่เด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยเด็ดขาด และเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปีขึ้นไป ให้เล่นได้อย่างมีเงื่อนไข
2.2 ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย โดยการไม่เร่งการเรียนเขียนอ่านหรือยัดเยียดความรู้ให้เด็กปฐมวัย แต่เน้นการทำกิจกรรมที่หลากหลาย
2.3 ลดการใช้ความรุนแรงกับเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้ยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงและการใช้คำพูดในเชิงลบ
3. 3 เพิ่ม
3.1 เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย
3.2 เพิ่มการเล่าหรืออ่านนิทานกับเด็กสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ทักษะสมอง จินตนาการ และเพิ่มความสุขอย่างสม่ำเสมอ
3.3 เพิ่มความรัก ความใส่ใจ และเวลาคุณภาพของครอบครัว โดยการส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ มีความรู้และทักษะที่จะ “เล่นเป็นกอดเป็น คุยเป็น ฟังเป็น เล่าเป็น”
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ แบ่งเป็น 3 ส่วน สรุปได้ ดังนี้
1. เสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ
2. อปท. เร่งส่งเสริมศักยภาพหน่วยงานในกำกับ ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ให้สามารถดูแล จัดการสภาพแวดล้อม สวัสดิการในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
3. คณะอนุ กก. ด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยจัดทำแผนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด
“การขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว จะเกิดการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้งระบบอย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม ชัดเจน และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งผลให้เด็กปฐมวัยได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริมพัฒนาการที่ดีรอบด้าน เกิดทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต” นายอนุกูล กล่าว