"สว.สำรอง" ตบเท้ายื่นค้านคำวินิจฉัยกกต. ไม่เอาผิด-พักงาน "แสวง" ไม่ระงับเหตุฮั้วสว. ปล่อยผู้สมัครกำโพยเข้าคูหา ชี้คำวินิจฉัยขัดแย้งกันเอง พยานปากเอกบอกไม่เคยให้ข้อมูลแต่กกต.อ้างสอบแล้ว "ผู้ตรวจการเลือก" ออกโรงยันไม่ได้คิดเองเออเอง หอบหลักฐานฟาดกลับ พร้อมไทม์ไน์แจ้งเรื่องแล้ว จี้พิจารณาตัวเอง
เมื่อวันนี้ (26 มี.ค.) กลุ่มสว. สำรอง นำโดย พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานกกต.เพิ่มเติมขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยกกต.ที่ 5/2568 ลงวันที่ 6 ม.ค.2568 ที่มีมติยกคำร้องกรณีมีร้องขอให้สั่งพักงานนายแสวง บุญมี เลขาธิการในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งสว.ระดับประเทศ เนื่องจากตอนเลือกสวระดับประเทศ นายแสวงได้รับข้อมูลการทุจริตจากผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ไม่ควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม โดยพล.ต.ท.คำรบ กล่าวว่า เหตุที่ต้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากในท้ายคำสั่งอ้างว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 มิ.ย.2567 ตามที่พ.ต.อ.มนัส นครศรี ผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการ ที่กล่าวอ้างว่า มีผู้นำข้อมูลมาแจ้งมีข้อมูลเมื่อเช้าในวันที่ 26 มิ.ย.2568 นั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกัน และอ้างว่าผู้ที่มาแจ้งไม่มีความเข้าใจ ว่าเรื่องนั้นเป็นความผิดหรือไม่ เลยไม่ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งในวันนั้น แต่นำมาแจ้งต่อพ.ต.อ.มนัส ภายหลังเพื่อให้สอดคล้องที่นายมนัสได้รายงานในวันที่ 28 มิ.ย.2567 ซึ่งคำวินิจฉัยของกกต.ในท่อนนั้น ระบุว่าได้มีการสอบปากคำผู้ร้องที่เป็นผู้หญิงที่ระบุว่าได้แจ้งต่อพ.ต.อ.มนัส ไว้แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ตรวจสอบไปยังผู้หญิงรายดังกล่าว เขายืนยันว่าตั้งแต่การเลือกสว. ครั้งที่ผ่านมา ไม่มีเจ้าหน้าที่กกต.แม้แต่คนเดียว ไปสอบปากคำเขา ดังนั้นกรณีที่กกต.อ้างว่าสอบปากคำหญิงรายดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการกล่าวอ้างเป็นเท็จ
ประเด็นที่ 2 กกต.อ้างว่าไม่มีอำนาจในการห้ามไม่ให้คนเอาสมุดสว. 3 เข้าไป เนื่องจากมีคำสั่งศาลปกครองกำกับไว้ แต่ที่จริงมันก็เคยมีคำสั่งศาลอาญาทุจริตออกมาแล้วแต่ไม่มีการนำมาพูดว่ากกต. สามารถห้ามได้หากมีเหตุ ดังนั้นสิ่งที่กกต.พูด เป็นเพียงข้ออ้างว่าไม่มีอำนาจในการห้าม อีกครั้งเนื้อหาสาระสำคัญในคำสั่งกกต.ดังกล่าว ยังได้สรุปว่าคณะกรรมการไต่สวน ได้พยายามสอบปากคำหญิงสาวที่อ้างว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลตอบพ.ต.อ.มนัส โดยกกต.ได้ทำหนังสือถึง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2567 และ 3 ก.ย.2567 แต่ผู้หญิงรายดังกล่าวไม่ได้มาให้ถ้อยคำเลย จากเหตุผลข้อนี้เท่ากับว่าไปขัดแย้งกับเหตุผลก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า ได้สอบสวนผู้หญิงรายดังกล่าวแล้ว แต่ สอดคล้องกับที่ตนได้สอบถามผู้หญิงดังกล่าว ซึ่งเขายอมรับว่าไม่ได้ไปให้การกับกกต.จริงๆ เพราะไม่ไว้ใจคณะกรรมการชุดนี้ และสุดท้ายในหนังสือของกกต.ก็ไปสรุปเอาดื้อๆ ว่าตามข้อกล่าวอ้างทั้งหมดไม่มีพยานหลักฐานมาประกอบ มีเพียงคำให้การของพ.ต.อ.มนัส ซึ่งเป็นคำสันนิษฐานเอาเอง มีน้ำหนักน้อย จึงไม่ถือว่านายแสวง มีความผิดตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยกกต. ซึ่งข้อสรุปนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่พ.ต.อ.มนัส ได้รายงานมาโดยตลอด
ด้านพ.ต.อ.มนัส กล่าวว่า ตนในฐานะผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการและเป็นอดีตพนักงานสอบสวน มา 30 กว่าปี การจะทำอะไรต้องมีหลักฐาน ดังนั้นยืนยันว่าสิ่งที่พล.ต.ท.คำรบ ระบุไว้เป็นความจริง ดังนั้นในวันนี้ตนจึงได้ยื่นหนังสือโต้แย้งคำวินิจฉัยของกกต.ที่ 5/2568 โดยสิ่งที่อยากจะขอยืนยันก่อนวันที่ 26 มิ.ย.2567 ตนได้รับข้อมูลเบาะแสว่าจะมีการฮั้วเกิดขึ้นในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจากแหล่งข่าว ซึ่งตอนนั้นตนเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการจะหมดวาระการทำหน้าที่ในวันที่ 25 มิ.ย.2568 แต่ในวันนั้นตนได้แชร์ข้อมูลที่ได้รับไปยังผู้ตรวจการเลือกตั้งอีกคน ซึ่งบังเอิญเป็นเพื่อนกับนายแสวง เพื่อจะได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับนายแสวง เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับคณะสืบสวนกกต. จากนั้นราว2 ชั่วโมงต่อมา นายแสวง ได้สั่งการให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการ กทม. ปทุมธานี ให้มาช่วยปฏิบัติหน้าที่ดูแลการเลือกสว.ระดับประเทศ ที่เมืองทองธานี ในวันที่ 26 มิ.ย.2567
พ.ต.อ.มนัส กล่าวอีกว่า ต่อมาในช่วงเวลา 08:10น. ในวันที่ 26 มิ.ย.2567 ตนเข้าไปยังสถานที่เลือกได้เจอผู้สมัครหญิงรายหนึ่งบอกข้อมูลสำคัญว่าจะมีการเขียนโพยฮั้วที่มีลักษณะเหมือนโพยจัดตั้งในสมุดสว. 3 จึงขอให้กกต.เก็บสมุดสว. 3 เล่มแรก ไม่ให้นำเข้าไปในการเลือกรอบไขว้ ตนจึงนำข้อมูลดังกล่าวแจ้งไปยังนายแสวง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่เลขากกต.กลับบอกว่า "รู้แล้ว แต่ทำอะไรเขาไม่ได้ปล่อยให้เขานำสมุดสว. 3 เข้าไปในรอบไขว้" นี่คือคำพูดที่ตนได้เขียนไปในรายงานผู้ตรวจการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2567 ย้ำว่าตนได้รับรายงานเวลา 08:10 น. และรายงานต่อในแสวง ในเวลา 08:29 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาห่างกันเพียงไม่นาน ตนจะโกหกได้อย่างไร ยืนยันว่าตนไม่ได้โกหก ทำด้วยความสุจริต เพื่ออยากให้การเลือกสว.เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม แต่ก็คิดในใจว่าเป็นหน้าที่ของผอ.การเลือกสว. ระดับประเทศซึ่งอาจจะไปแจ้งต่อประธานกกต.ต่อไป หรือน่าจะมีคำสั่งอะไรบางอย่างออกมาแต่ก็เงียบ จนมีผู้สมัครที่เห็นความไม่ชอบมาหากลออกมาส่งเสียง จนกกต.เรียกประชุมและไม่ให้นำสมุดสว. 3 เข้า
"ดังนั้นนายแสวง ต้องพิจารณาตัวเองว่าผิดต่อหน้าหรือไม่ เพราะตัวเองเป็นผอ.เลือกสว. ในประเทศ เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสาร พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. มาตรา 59 ต้องมีหน้าที่ไปแจ้งต่อประธานกกต.ทราบ นี่เป็นหน้าที่โดยตรงแต่ก็ไม่ทำ จนกระทั่งมีการโวยขึ้นมาจึงทำตอนหลัง" นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น และเมื่อมาดูถ้อยคำที่ระบุในคำวินิจฉัย กลับบอกว่าผมสันนิษฐานเหมือนกับผมมั่ว คาดเดาเอาเอง
ท้้งนี้พ.ต.อ.มนัส ได้โชว์ภาพการส่งหลักฐานผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ที่ประกอบข้อมูลเป็นเอกสารลับคำให้การ และเป็นข้อมูลเดียวกันที่ตนได้ส่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งอีกคนเพื่อส่งต่อให้นายแสวง เป็นการยืนยันว่าตนไม่ได้มั่ว ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานส่วนตัว ย้ำว่าตนเป็นพนักงานสอบสวนมาก่อนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด ในการเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งถ้าเขียนรายงานเท็จตนก็จะผิดตามกฎหมาย ตนจึงมั่วไม่ได้ ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อประชาชนและกกต. ไม่ได้ทำเพื่อสว.ทั้งหลาย
เมื่อถามว่าทำไมถึงต้องการเรียกร้องให้มีการเปิดหีบเลือกสว. พล.ต.ท.คํารบ กล่าวว่า คาดว่าน่าจะพบพิรุธในทุกกล่องเนื่องจาก จะมีบัตรที่โหวตเป็นรูปแบบเดียวกันให้กับอีกกลุ่ม อย่างน้อยทุกกล่องน่าจะต้องมีประมาณ2 ถึง3ชุดหรือประมาณ 20 ถึง 30 ใบ ถึงจะสอดคล้องกับคะแนนที่ออกมา แล้วตนเชื่อว่าถ้าเปิดหีบออกมาก็จะเป็นแบบที่ตนว่า