เมืองไทย 360 องศา
เปิดฉากญัตติซักฟอกของฝ่ายค้านวันแรก คือวันที่ 24 มีนาคม มีการพุ่งเป้าหลักไปที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว แม้ว่าบางเรื่องที่ยกมากล่าวหาเธอของพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาชน รวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ จะบอกว่าเป็น “เรื่องนามธรรม” แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็น “ความรู้สึก” ที่ชาวบ้านรับรู้ได้ทุกวัน เช่น ความเดือดร้อนเรื่อง “ปากท้อง” และมองเห็นถึงความ “ด้อยความสามารถ” ของนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี สำหรับนายกรัฐมนตรีที่มาจาก “ครอบครัวชินวัตร” คนนี้ สิ่งที่ถูกกล่าวหาวนเวียนมาตั้งแต่ “รุ่นพ่อยันรุ่นลูก” ก็คือข้อกล่าวหาในเรื่องการ “ซุกหุ้น-หนีภาษี” จนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตัวพวกเขาอยู่ตลอดเวลา การอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อถูกฝ่ายค้านจากพรรคประชาชน คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ยกเอาเรื่องการทำ “นิติกรรมอำพราง” คือ การ “สร้างหนี้ปลอม” เพื่อหลีกเลี่ยง “ภาษีการรับให้” ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงถึง 218.7 ล้านบาท
ส.ส.ฝ่ายค้านคนนี้ ได้กล่าวหาว่าการทำนิติกรรมอำพราง เพื่อเลี่ยงภาษีการรับให้มาตั้งแต่ ปี 2559 โดยอธิบายว่า แต่เดิมก่อนที่จะมีภาษีการรับให้ การจะโอนหุ้นไปให้คนนั้น จะซุกหุ้นไว้กับคนนี้ ยักย้ายถ่ายเทกันไปมา ก็อ้างว่าให้โดยเสน่หา ภาษีสักสลึงก็ไม่ต้องเสีย แต่พอมีการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น หมายความว่า ลูกให้แม่ แม่ให้ลูก ถ้าเกิน 20 ล้านบาท
ส่วนที่เกินต้องเสียภาษีในอัตรา 5% และในมาตรา 42 (28) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลซึ่งไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท หมายความว่า พี่ให้น้อง น้องให้พี่ ลุงให้หลานหลานให้ลุง ถ้าเกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เกินต้องเสียภาษี ในอัตรา 5% เช่นเดียวกัน
นายวิโรจน์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าคนทั่วไป ที่พอจะมั่งมีเสียหน่อย เวลาจะให้ใคร ถ้าไม่อยากจะจ่ายภาษีการรับให้ จะทยอยให้ปีละไม่เกิน 10 ล้านบาท 20 ล้านบาท ถ้าอยากจะให้ทั้งก้อนตัดจบไปเลย ส่วนที่เกินต้องจ่ายภาษีการรับให้ แบบตรงไปตรงมา 5% แต่แทนที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะทำเหมือนกับที่มนุษย์มนาทั่วไปเขาทำกัน นางสาวแพทองธาร กลับมีพฤติกรรมใช้ช่องว่างทางกฎหมาย หลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ มาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
โดยเรื่องนี้สามารถแกะรอยได้จากบัญชีทรัพย์สินของ นางสาวแพทองธาร ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า นางสาวแพทองธาร เป็นลูกหนี้อยู่ 9 รายการ มูลค่าหนี้สินรวม 4,434.5 ล้านบาท พอมาดูที่รายละเอียดของเอกสาร กลับมีเอกสารแนบมาเพียงแค่ 9 แผ่น รายการละ 1 แผ่น ดังนั้น หนี้สินของนางสาวแพทองธาร ทั้ง 9 รายการ ที่ระบุเอาไว้ที่บัญชีทรัพย์สิน ที่มีเอกสารแนบแค่ 9 แผ่น รายการละแผ่น จึงไม่ใช่หนี้ที่อยู่ในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แน่ๆ แต่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว PN ซึ่งเป็นหนี้สินที่แพทองธาร ชินวัตร ซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แบบซื้อเชื่อ แล้วออกตั๋ว PN แทนการจ่ายเงิน
“มีรายงานระบุว่าตั๋ว PN ทั้ง 9 ใบนี้ เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีเงื่อนไขสุดว้าวมาก คือจะชำระเงินค่าซื้อหุ้นเมื่อทวงถาม หมายความว่า หนี้สินทั้ง 9 รายการ จากการซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ เป็นหนี้สินที่ไม่มีกำหนดว่านางสาวแพทองธารต้องจ่ายค่าซื้อหุ้นเมื่อไหร่ ถ้าชาตินี้ไม่มีใครทวง นางสาวแพทองธาร ก็ไม่ต้องจ่าย ลืมไปได้เลยว่าเคยเป็นหนี้ เพราะดอกเบี้ยก็ไม่มีใครคิด นางสาวแพทองธาร ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยอะไร พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ในกงสีก็เป็นเจ้าหนี้ที่แสนดีมากๆ ยอมนอนกอดกระดาษ 9 แผ่น โดยที่ไม่รู้ว่าเงิน 4,434.5 ล้านบาท จะได้คืนวันไหน”
ขณะเดียวกัน การอภิปรายซักฟอกของฝ่ายค้านจากพรรคประชาชนยังยกเอาเรื่องกรณีที่ดิน “สนามกอล์ฟอัลไพน์” ของครอบครัวชินวัตร ขึ้นมาซักฟอก นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยกล่าวหาว่า การเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทสนามกอล์ฟ ดังกล่าว (อัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด) ของ น.ส.แพทองธาร มาตั้งแต่ปี 59-67 โดยไม่ยอมคืนที่ดินให้กับวัด หลังจากที่ศาลอาญาทุจริตพิพากษาจนถึงที่สุดแล้ว แต่ยังนำกรณีที่ดินดังกล่าวมาต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลกรณี “ที่ดินเขากระโดง” เพื่อเงินชดเชยจากกรมที่ดินจำนวนราว 7 พันล้านบาท
นอกเหนือจากนี้ ที่น่าสนใจก็คือ การลุกขึ้นอภิปรายเป็นครั้งแรกของสภาชุดนี้คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่โจมตี นายกรัฐมนตรีว่า “ไร้ความสามารถในทุกเรื่อง” ทั้ง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และด้านจริยธรรม ถูกครอบงำโดยคนในครอบครัว
“นโยบายเศรษฐกิจล้มเหลว ประชาชนเดือดร้อน ปัญหาปากท้องไม่ได้รับการแก้ไข คนตกงาน หนี้สินพุ่ง หนี้ครัวเรือนสูงถึง 104% ของจีดีพี ตลาดหุ้นทรุดหนัก รัฐบาลกลับเพิกเฉย ไม่มีมาตรการช่วยเหลือ นอกจากนี้ยัง ตัดงบประมาณแสนล้านบาทที่ควรลงสู่ระบบเศรษฐกิจ แล้วนำไปแจกเงินแทน ขัดคำเตือนของธนาโลก และไอเอ็มเอฟ ว่าการแจกเงินไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ถ้านายกฯ เข้าใจเศรษฐกิจ คนไทยคงไม่ลำบากแบบนี้” พล.อ.ประวิตร กล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า นายกฯ จะนำพาประเทศรอดจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร พร้อมกับตบท้ายว่า “ประเทศชาติไม่ใช่เวทีให้มือสมัครเล่นมาซ้อมมือ”
สำหรับการซักฟอกครั้งแรกของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร คราวนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง แม้ว่าจะถูกฝ่ายตรงข้ามเย้ยหยันว่า เป็นแค่ “นามธรรม” แต่สำหรับความรู้สึกของชาวบ้าน เชื่อว่าพวกเขาสัมผัสได้แน่นอน ถึงความเดือดร้อนจากปัญหา “ปากท้อง” ที่ชัดหน้าไม่ถึงหลัง รวมไปถึงการดำเนินนโยบายที่ไร้ผล “ไม่ตรงปก” นั่นคือ ไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่ประกาศเอาไว้ ทำให้มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในภูมิภาค
ดังนั้นหากสรุปการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันแรก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ถือว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่ใช้ได้ พุ่งเป้าไปที่ “จุดอ่อน” ของเธอ รวมไปถึงครอบครัวของเธอ ที่ตลอดมาที่พวกเขาเข้าสู่การเมืองล้วนมีแต่ข้อกล่าวหาในเรื่องการ “เลี่ยงภาษี” การ “ซุกหุ้น” รวมไปถึงการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงมาตลอด และคราวนี้ก็เช่นเดียวกัน ยังถูกกล่าวหาในเรื่องการ “ทุจริตต่อความไว้วางใจ” ซ้ำเติมเข้ามาอีก และการพุ่งเป้าหลักแบบนี้ถือว่ากระเทือนได้ไม่เบาทีเดียว !!