วันนี้(22 มี.ค.) ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เดินทางมาร่วมงาน E-SAN Life Drive พร้อมกล่าวปฐกถาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง" ก่อนรับฟังภาคเอกชน 8 จังหวัดนำเสนอแนวคิดเพื่อการพัฒนาจังหวัด
นายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งว่า
ภาพกว้างๆสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะ 8 จังหวัดของเรา คือ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์
ตามกรอบแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2566 - 2570 นั้น ให้ทิศทางไว้ว่า จะต้องพัฒนาสู่การเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน 3 มิติ ซึ่งเขาใช้คำว่า “Green", "Gate" และ "Growth"
Green หมายถึง การเป็น “ฐานการผลิต” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม [เน้นส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green economy เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
คำที่สอง Gate คือการเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้โอกาสจากการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดน ระเบียงเศรษฐกิจ พัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์
และคำที่สาม Growth คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สนับสนุนการพัฒนาศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากการท่องเที่ยวชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย
"ลองนึกถึงการทำเกษตรแนวใหม่ที่ทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แน่นอนเราต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งในการเพาะปลูก ทั้งในการแปรรูป ให้ข้าว หอมแดง กระเทียม มันสำปะหลัง อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่นๆของเรามีมูลค่ามากขึ้น
หลังจากนั้น นึกภาพต่อถึงการส่งไปขาย ตลาดในประเทศเป็นอย่างไร ตลาดต่างประเทศส่งถึงไหม ตรงนี้ก็ต้องคิดถึงระบบการขนส่ง การลำเลียง และการเปิดตลาดที่เราจะสามารถทำราคาได้ดี
เรื่องความเข้าใจตลาดนี่สำคัญ จึงเป็นเหตุผลให้ผมต้องมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดูแลด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะ"
สุดท้ายอย่าลืมต้นทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งท่านจะต้องคิดว่าเป็นการขายประสบการณ์ หาไอเดียว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างไร
"ที่บุรีรัมย์เมื่อสามวันก่อน ผมได้ไปร่วมพิธีเปิดงาน "Colors of Buriram" เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อ สืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
นี่คือหนึ่งตัวอย่าง ของการหยิบฉวยภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ แล้วเอามาต่อยอด ส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด จากการจัดงานแฟร์ได้อีก"