ป.ป.ช. แจงตั้ง คกก.ไต่สวนคดี สว.ร้องสอบ “ทวี-อธิบดีดีเอสไอ” หรือไม่ อยู่ที่หลักฐาน คาด ไม่เกิน 1 ปี ยันไม่กดดัน รับหลายเรื่องเผือกร้อนการเมือง ระบุ ต้องจัดการเร็วให้สังคมกระจ่าง
วันนี้ (20 มี.ค.) นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีคดีฮั้ว สว.ว่า ทุกคดีมีขั้นตอนในการดำเนินการ เมื่อมีการกล่าวหามา ก็ต้องมีการตรวจรับ หากเห็นว่าอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. เช่น เป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กระทำผิดต่อหน้าที่ เราก็จะรับดำเนินการ ส่วนจะมีความผิดหรือไม่ เป็นขั้นตอนต่อไป คือ การตรวจสอบ แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน เราก็รายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ทราบว่า มี สว.มายื่นร้องเรียน ซึ่งจากนั้นจะเป็นเรื่องของสำนักงานในการตรวจสอบต่อไป แต่เรื่องนี้มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการรับทราบคือการ ตั้งคณะไต่สวน โดยยืนยันว่า ยังไม่ได้ดำเนินการ และการดำเนินการจะเหมือนคดีทั่วไป
เมื่อถามว่า ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร จึงจะตั้งคณะกรรมการไต่สวน นายสาโรจน์ กล่าวว่า ชั้นตรวจสอบเรามีมาตรฐานกำหนด ว่าควรจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรืออย่างช้าสุดไม่ควรเกิน 1 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียด ว่า มีความยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่ รวมถึงข้อมูลในทุกแง่มุมที่จะมาประกอบการไต่สวนว่ามีมูลหรือไม่
เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ ที่หลายคดีเผือกร้อนทางการเมือง อยู่ในมือ ป.ป.ช. ขณะนี้ นายสาโรจน์ กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่ในการตรวจสอบไต่สวน เรื่องที่อยู่ในอำนาจของกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูง ดังนั้น ประชาชนและสื่อมวลชน จะโฟกัสมาที่ ป.ป.ช. ว่าจะพิจารณาอย่างไร และจะเร็วหรือไม่ ป.ป.ช. เหมือนโดนจับจ้องอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ เรื่องที่กล่าวหามามักจะมี 2 มุม มาโดยตลอด ส่วนตัวคิดว่าบรรยากาศก็ไม่ได้ต่างจากที่ผ่านมา เพียงแต่ช่วงนี้มีคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเข้ามาถี่ จนโดนสังคมเร่งรัดและตั้งคำถาม ยืนยันไม่ได้ถูกกดดัน เป็นภาวะปกติของการทำหน้าที่ และที่สำคัญคือ เราต้องตั้งหลักในการทำหน้าที่ ให้เป็นไปตามพยานหลักฐาน และข้อกฎหมาย รวมถึงข้อเท็จจริง ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็ต้องอธิบายต่อสังคมได้ แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นมา คือ ความรวดเร็ว เป็นเรื่องที่เราต้องบริหารจัดการ