ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิค พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ
วิชาชีพรังสีเทคนิค พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ปัจจุบันการประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคเป็นการประกอบโรคศิลปะสาขาหนึ่งที่อยู่ในความควบคุมตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบโรคศิลปะในเชิงนโยบายของการประกอบโรคศิลปะสาขาต่างๆ และมีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะและควบคุมการประกอบโรคศิลปะสาขานั้นๆ ในกรณีมีกระทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ อย่างไรก็ดี เมื่อวิทยาการและเทคโนโลยีทางด้านรังสีเทคนิคในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ประกอบกับมีจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขารังสีเทคนิคเพิ่มมากขึ้น แต่การดำเนินการเชิงนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับสาขารังสีเทคนิคยังต้องผ่านการพิจารณาและการดำเนินการของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะเสียก่อน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ เช่น การขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การออกหนังสือรับรองความรู้ความชำนาญเฉพาะทางในการประกอบโรคศิลปะ เนื่องจากกฎกระทรวงว่าด้วยการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตการออกใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตโรคศิลปะทุกสาขาให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิทยาการและเทคโนโลยีทางด้านรังสีเทคนิคที่เปลี่ยนแปลงไป
2. สธ. เสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพรังสีเทคนิค พ.ศ. .... เพื่อแยกการกำกับดูแลและ การควบคุมการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ และคณะกรรมสาขารังสีเทคนิค ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ออกมาจัดตั้งเป็น “สภารังสีเทคนิค” โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1) สภารังสีเทคนิค
(1) กำหนดให้มี “สภารังสีเทคนิค” เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ อาทิ ส่งเสริมการศึกษา การพัฒนา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ควบคุม กำกับ ดูแล และกำหนดมาตรฐาน การประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ควบคุมความประพฤติ คุณธรรม และจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคให้เป็นไปตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพรังสีเทคนิค
(2) กำหนดให้สภารังสีเทคนิคมีอำนาจหน้าที่ อาทิ รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตร ในวิชาชีพรังสีเทคนิคของสถาบันต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก ออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคสาขาต่างๆ
(3) กำหนดให้สภารังสีเทคนิคอาจมีรายได้จาก
(3.1) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(3.2) ค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ
(3.3) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของสภารังสีเทคนิค
(3.4) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภารังสีเทคนิค
(3.5) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตามข้อ (3.1) (3.4)
2) คณะกรรมการสภารังสีเทคนิค
(1) กำหนดให้มีคณะกรรมการสภารังสีเทคนิค ประกอบด้วย
(1.1) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
(1.2) กรรมการซึ่งเป็นคณบดีคณะรังสีเทคนิคในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชน จำนวน 5 คน
(1.3) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนสมาคมหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพรังสีเทคนิค จำนวน 3 คน
(1.4) กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิกมีจำนวนเท่ากับ จำนวนกรรมการใน (1.1) - (1.3) รวมกันในขณะเลือกตั้งแต่ละคราว
(2) กำหนดให้คณะกรรมการสภารังสีเทคนิคมีอำนาจหน้าที่ อาทิ บริหารและดำเนินกิจการสภารังสีเทคนิคตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ กำหนดแผนการดำเนินงานและงบประมาณของ สภารังสีเทคนิค ออกข้อบังคับสภารังสีเทคนิค
3) การควบคุมการประกอบวิชาชีพสีเทคนิค
(1) กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากสภารังสีเทคนิค โดยผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องสมัครเป็นสมาชิก สภารังสีเทคนิค และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสภารังสีเทคนิค (ใบอนุญาตให้ใช้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ 5 นับแต่ปีถัดจากปีที่ออกใบอนุญาต)
(2) กำหนดห้ามผู้ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคทำการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบวิชาชีพดังกล่าว เว้นแต่ในบางกรณี อาทิ นักเรียน นักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรม ซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในความควบคุมของสถาบันการศึกษา บุคคลซึ่งหน่วยงานของรัฐมอบหมายให้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค หรือบุคคลซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาล ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค
(3) กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคต้องประกอบวิชาชีพภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดและเงื่อนไข และต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพรังสีเทคนิค ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภารังสีเทคนิค ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับความเสียหายเพราะผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคฝ่าฝืนบังคับหรือจรรยาบรรณ ผู้ที่พบหรือทราบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ฝ่าฝืนบังคับหรือจรรยาบรรณ หรือกรรมการสภารังสีเทคนิค มีสิทธิกล่าวหาหรือกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคดังกล่าวได้ โดยคณะกรรมการสภารังสีเทคนิคมีอำนาจลงโทษ ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต
4) บทกำหนดโทษ
กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ อาทิ
(1) ผู้ใดทำการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2) ผู้ใดแสดงด้วยวิธีการใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิทำการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(3) ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ใดทำการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5) เพดานอัตราค่าธรรมเนียม
กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตรา ดังนี้
1) ค่าขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ฉบับละ 10,000 บาท
2) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ฉบับละ 1,000 บาท
3) ค่าหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบ
วิชาชีพรังสีเทคนิค ฉบับละ 5,000 บาท
4) ค่าใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 1,000 บาท
5) ค่าใบแปลใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ฉบับละ 1,000 บาท
6) ค่าต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ฉบับละ 5,000 บาท