xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาเดินหน้าโหวต “สิริพรรณ-ชาตรี” เป็นตุลาการศาล รธน.หรือไม่ เมินญัตติ “นันทนา” ขอให้ชะลอ อ้างรอคดีฮั้ว สว.จบก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วุฒิสภาเดินหน้าพิจารณารับรอง “สิริพรรณ-ชาตรี” เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ หรือไม่ เมินญัตติ “นันทนา” ขอให้ชะลอ อ้างรอให้คดีฮั้วเลือกตั้งสิ้นสุดก่อน


วันนี้ (18 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งพิจารณาในวาระให้ความเห็นชอบบุคคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อให้ที่ประชุม สว.ชะลอการลงมติดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้มีการตรวจสอบที่มาของ สว. โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และมีการยื่นเรื่องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ สว.ชุดปัจจุบันหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากดึงดันลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีปัญหา และส่งผลต่อการดำรงตำแหน่ง เป็นโมฆะ ดังนั้น เพื่อความสง่างามไม่ให้ สว. ตกเป็นจำเลยของสังคม จึงขอให้ชะลอการลงมติ จนกว่าการตรวจสอบที่มาของสว. สิ้นสงสัย

ทั้งนี้ พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. โต้แย้งว่า เป็นหน้าที่ของ สว. ให้การลงมติเห็นชอบ การชะลอการลงมติไม่ถูกต้อง และเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบวาระต่อไป

โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ วินิจฉัยว่า ญัตติด่วนด้วยวาจาดังกล่าว ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะ สว.มีอำนาจเต็มในการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ น.ส.นันทนา โต้แย้งขอให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติในญัตติด่วนดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาดังกล่าว สว.มีการโต้แย้งอย่างดุเดือด โดยยกรัฐธรรมนูญและข้อบังคับยืนยันการทำหน้าที่ต่อไป โดย นายบุญจันทร์ นวลสาย สว. อภิปรายโต้แย้ง น.ส.นันทนา ว่า กรณีที่ว่ามีสื่อโซเชียลด่าว่า สว.ปัจจุบัน ซึ่งต่อว่าเราชิบหายเลย ศาลไหนตัดสินแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ดี ขอให้ยืนยันการทำหน้าที่ลงมติต่อไป

ขณะที่ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว.ฐานะเลขานุการ วิปวุฒิสภา โต้แย้งด้วยว่า หากตนจะเกเรบ้าง ไม่คำนึงถึงอำนาจหน้าที่และขอโหวตเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในอำนานหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญจะยอมหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่ประธานวินิจฉัยถือว่าถูกต้องและพร้อมรับการตรวจสอบ

“วันนี้ มีหน่วยงานไหนที่มีอำนาจเหนือ สว. มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือการกระทำมีสิ่งไหนที่ผิดระเบียบหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายวุฒิชาติ โต้แย้ง ซึ่ง น.ส.นันทนา กล่าวย้ำว่า ขณะนี้สังคมได้มองการทำหน้าที่ของ สว. และหากการลงมติดังกล่าวต่อไป อาจจะมีปัญหาได้ ซึ่ง นายวุฒิชาติ โต้แย้งกลับว่า ญัตติที่เสนออยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของรัฐธรรมนูญ ไม่กลัวการลงมติ เพราะประชาชนแยกแยะออกในสิ่งที่ สว.ดำเนินการ ซึ่งไม่ได้อยู่นอกรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ขอให้ดำเนินการตามระเบียบวาระประชุมต่อไป

อย่างไรก็ดี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ยืนยันว่า ไม่รับเป็นญัตติ และให้ดำเนินการตามวาระต่อไป ทำให้ น.ส.นันทนา ร้องขอให้การเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาดังกล่าวบันทึกการประชุมแทน ซึ่ง พล.อ.เกรียงไกร ย้ำว่า การประชุมวุฒิสภาทุกครั้ง จะมีการบันทึกการประชุมและทุกคนทราบดี

จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การพิจารณาวาระตามระเบียบต่อไป ซึ่งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เสนอรายงานการตรวจสอบ ที่มี พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สว.ฐานะประธานกรรมการสรรหา

ทั้งนี้ พ.ต.อ.กอบ ได้อภิปรายตอนหนึ่งก่อนเข้ารายงานตรวจสอบว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด คนที่กล่าวอ้างนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเรื่องนอกจากรัฐธรรมนูญ​ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และ สว.ที่เข้ามาตามระบบ ต้องทำงานตามประมวลจริยธรรมด้วย ขอความกรุณา ให้ความเคารพสภาแห่งที่ ซึ่งเป็นที่ทำงาน ที่ได้อยู่มีหน้ามีตาในสังคมเพราะสภาแห่งนี้ อย่าด้อยค่าตัวเอง หรือ สว. ไม่มีประโยชน์ อย่ากระเหี้ยนกระหือรือทำในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

สำหรับบุคคลที่เสนอชื่อให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบ มีจำนวน 2 คน คือ น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเฮก
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำงานครบวาระและต้องสรรหาแทน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรมนูญ และ นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งครบวาระดำรงตำแหน่ง เมื่อ พ.ย. 2567.


กำลังโหลดความคิดเห็น