xs
xsm
sm
md
lg

'นันทนา' เสนอวุฒิฯ ชะลอโหวตรับรอง 2 ว่าที่ตุลาการศาล รธน.จนกว่าคดีฮั้วเลือก สว.จะสิ้นสุด หวั่นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นโมฆะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'นันทนา' เสนอวุฒิสภา ชะลอลงมติรับรอง 2 ตุลาการศาล รธน.ออกไปก่อน จนกว่าคดีฮั้วเลือกตั้ง สว.จะสิ้นสุด หวั่นส่งผลกระทบระยะยาว-ผู้ดำรงตำแหน่งอาจเป็นโมฆะ


วันที่ 14 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณาวาระให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ซึ่งในกระบวนการที่จะลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบนั้น ยังเป็นที่กังขาของสาธารณชนโดยทั่วไป เพราะขณะนี้การตรวจสอบที่มาของ สว.ทั้งหมด อยู่ในมือของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ประชาชนก็ยังสงสัยการได้มาซึ่ง สว. ทั้งหลาย ดังนั้นหากจะมีการลงมติในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั้นมีอายุวาระ 7 ปี ถ้า สว.ที่ไปลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากบุคคลนั้นเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้ว เมื่อการตรวจสอบมีปัญหาว่าไม่สุจริต ก็จะทำให้ผู้ที่เป็น สว.นั้นขาดคุณสมบัติ และถ้าคนที่เป็น สว.ขาดคุณสมบัติแล้วไปลงมติเห็นชอบให้กับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะส่งผลให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นโมฆะ และจะเป็นผลกระทบระยะยาว

“ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้บรรดาสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดชะลอการลงมติเห็นชอบองค์กรอิสระในวันดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสิ้นสงสัย ว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สว.นั้นสุจริตโปร่งใส แล้วค่อยมาทำหน้าที่ลงมติกันต่อ ซึ่งก็จะไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว” นางสาวนันทนากล่าว

ขณะที่นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น กล่าวว่าตนไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงมติในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ด้วยข้อห่วงใย 3 ประการ คือ 1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันพ้นจากวาระไปแล้ว 2 ท่าน ยังคงเหลืออยู่ 7 ท่าน ที่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

2. แม้ สว. กลุ่มดังกล่าวจะอ้างว่าตนเองยังบริสุทธิ์อยู่ แต่การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ จะทำให้ไม่มีความสง่างาม

3. กลุ่ม สว. ได้แถลงข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง และแสดงตนว่าอยู่ขั้วการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล แปลว่าองค์กรอิสระที่ สว. คัดเลือกมา ก็อาจจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่สุจริต หรือกลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือไม่

นายภัทรพงศ์ เผยว่า ตนเองได้ไปยื่นเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนกรณี สว. ใช้เวทีวุฒิสภาเอาผิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ เนื่องจากทั้ง 2 ท่านก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่หลังจากที่ สว. กลุ่มดังกล่าวไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้เอาผิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีดีเอสไอ ต่อมาเพียงวันเดียว ป.ป.ช. ก็รับคำร้องไว้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น