วันนี้(14 มี.ค.)ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะด้านการเกษตร เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนพร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ และมอบประกาศเกียรติคุณรวมถึงปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นและเกษตรกรกว่า 1,200 รายเข้าร่วม ณ ศาลาอเนกประสงค์ วัดเทพนิมิตต.เทพนิมิต อ.เขาสมิง จ.ตราด
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า จังหวัดตราดเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกผลไม้ที่สำคัญและมีชื่อเสียง อาทิเงาะ ทุเรียน มังคุด และยางพารา ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกปริมาณมาก ดังนั้นเกษตรกรจึงมีความต้องการใช้น้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ อาทิการกระจายน้ำท่อต่อขยายระบบส่งน้ำ และการก่อสร้างสถานีสูบน้ำซึ่งโครงการดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในแผนเพื่อเสนอของบกลางแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากมีงบเหลือจ่ายปีนี้เพียงพอได้กำชับให้กรมชลประทานจัดสรรงบเพื่อดำเนินการโครงการเร่งด่วนก่อนเพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องจังหวัดตราดโดยเร็วที่สุด
ศ.ดร.นฤมล กล่าวอีกว่าสำหรับหนึ่งในโครงการสำคัญ คือโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำวัดเทพนิมิต-บ้านมุมสงบ ตำบลเทพนิมิต อำเภอเขาสมิง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับภาคเกษตรและการอุปโภคบริโภครวมถึงเพิ่มศักยภาพในการสูบน้ำจากแม่น้ำเขาสมิงไปยังอ่างเก็บน้ำวังสมโภชน์ โดยมีแผนการก่อสร้างในปี 2570 เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 4.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญของจังหวัดตราด
ศ.ดร.นฤมล ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2568 ด้วยว่าในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ 5 กระทรวงบูรณาการทำงานร่วมกันบริหารจัดการผลไม้ที่มีแนวโน้มผลผลิตเพิ่มขึ้นในปีนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดราคาตกต่ำโดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำชับให้ดูแลคุณภาพผลไม้ไทยให้มีมาตรฐานมีความปลอดภัยและได้มาตรฐานการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมการตลาดการบริโภคภายในประเทศกระทรวงคมนาคมเตรียมพร้อมด้านระบบขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพคล่องตัวมากขึ้นนอกจากนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่กำกับดูแลไปรษณีย์ไทยจัดทำโครงการที่ช่วยส่งผลไม้จากสวนไปยังผู้บริโภคโดยตรงและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสนุบสนุนอีกด้วย
“สำหรับปัญหาการปนเปื้อน Basic Yellow 2 (BY2) และแคดเมียมในทุเรียนไทยนั้นกระทรวงเกษตรฯไม่นิ่งนอนใจเราได้เพิ่มมาตรการเข้มข้นและได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กำกับติดตามควบคุมมาตรฐานสินค้าผักและผลไม้ในโรงคัดบรรจุอย่างใกล้ชิดนอกจากนั้นยังได้ประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมให้มีการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นโดยแปรรูปจากทุเรียนผลสดเพื่อให้มีตลาดรองรับมากยิ่งขึ้น“ศ.ดร.นฤมลกล่าว
ขณะที่สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร จ.ตราด ดังนี้ 1. ทุเรียนพื้นที่เพาะปลูก 126,718 ไร่คาดการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากสุดเดือนเมษายน 2568 จำนวนผลผลิต 132,237 ตัน 2. เงาะพื้นที่เพาะปลูก 47,190 ไร่คาดการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากสุดเดือนพฤษภาคม 2568 จำนวนผลผลิต 107,490 ตันและ 3. มังคุดพื้นที่เพาะปลูก 39,701 ไร่คาดการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากสุดเดือนพฤษภาคม 2568 จำนวนผลผลิต 50,261 ตัน
โอกาสนี้ ศ.ดร.นฤมลได้มอบประกาศเกียรติคุณให้แก่นางแสวงพจนานนท์และนายพิพัฒน์พจนานนท์ที่ได้อุทิศที่ดินเพื่อให้กรมชลประทานใช้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านแก่งหินตำบลวัดตะเคียนอำเภอเขาสมิงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้อย่างเพียงพอส่งผลให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสร้างความมั่นคงทางน้ำให้แก่ชุมชน
นอกจากนี้ยังได้มอบป้ายและปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่อาทิมอบโฉนดเพื่อการเกษตรจำนวน 50 รายมอบป้ายโครงการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรมอบป้ายโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร มอบใบรับรองGAP พืชจำนวน 10 รายมอบเงินอุดหนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางตลอดจนมอบผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินพันธุ์สัตว์น้ำ และถุงยังชีพปศุสัตว์ เป็นต้น