"ป.ป.ช." เสนอรัฐ 11 ข้อ ป้อง "สัญญาจ้างงาน" โปรเจกก่อสร้างภาครัฐ หลังพบมีขบวนการสร้างเงื่อนไขในสัญญา "ผู้รับเหมา" จัดหารถยนต์ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะผู้ควบคุมงาน ตามระเบียบพัสดุฯ ปูด! สัญญาให้ผู้รับจ้าง จัดหารถหรูอายุใช้งานไม่เกิน 1 - 2 ปี ราคาใกล้เคียง"รถประจําตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ" ชี้ไม่เหมาะสมนําไปใช้ควบคุมงาน เผยบางโปรเจก"หัวหน้าหน่วยงาน" นํารถไปใช้เอง ขับเที่ยวตจว.วันหยุด บางรายเฉี่ยวชนผู้รับเหมา ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายแทน ยังพบสอดไส้สัญญาให้ออกค่าใช้จ่าย "ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบํารุง ค่าประกันภัยชั้น 1" เพียบ!
วันนี้ (13 มี.ค.2568) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เผยแพร่มติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 มี.ค. หลังจากรับทราบรายงาน จากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามข้อเสนอแนะ
"เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้จากสัญญาจ้างงานก่อสร้าง กรณีเงื่อนไขในสัญญากำหนดให้ผู้รับจ้างต้องจัดหารถยนต์พร้อมค่าใช้จ่าย ที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ควบคุมงาน"
ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คมนาคม มหาดไทย สํานักงบประมาณ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อยุติ
ก่อนสรุปผลการพิจารณา/ผลการดําเนินการในภาพรวม แล้วส่งให้สลค. ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ข้อสรุปของ ป.ป.ช. ระบุว่า เพื่อป้องกัน การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้จากสัญญาจ้างงานก่อสร้าง จากเงื่อนไขดังกล่าว จึงมีข้อเสนอดังนี้
1. การควบคุมในขั้นตอนการกําหนดราคากลางหรือเอกสารประกวดราคาการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้าง
1.1 การคํานวณราคากลางรายการรถยนต์ในการควบคุมงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการกําหนดราคากลางงานก่อสร้างของกรมบัญชีกลาง
เพื่อมิให้มีการคํานวณค่าใช้จ่ายในการจัดหารถยนต์สําหรับผู้ควบคุมงาน ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานส่งผลให้ค่าก่อสร้างสูงเกินความเป็นจริง
และทําให้ ผู้รับจ้างได้กําไรเกินสมควร ซึ่งอาจมีการนํากําไรที่เกินสมควรมาเอื้อประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
1.2 การกําหนดคุณสมบัติรถยนต์ในสัญญาจ้างงานก่อสร้าง ให้พิจารณาจากลักษณะงาน และพื้นที่ควบคุมงานเป็นหลักและกําหนดคุณลักษณะรถยนต์ที่มีสภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ควบคุมงาน
เพื่อมิให้มีการนํารถยนต์ที่ผู้รับจ้างจัดหาให้ไปใช้ในการอื่นนอกเหนือจากการนํามาใช้ในการควบคุมงาน
1.3 การกําหนดอายุการใช้งานของรถยนต์ มิควรกําหนดอายุการใช้งาน “ไม่เกิน 1 - 2 ปี หรือ “ไม่เคยใช้งานมาก่อน”
เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่มีการซื้อขายเป็นการทั่วไป หรือรับรถยนต์คันดังกล่าวหลังเสร็จสิ้นโครงการงานก่อสร้าง
อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่
โดยควรกําหนดอายุการใช้งานรถยนต์ที่สามารถใช้ได้จริง ทั้งนี้ อาจกําหนดให้ผู้รับจ้างนําเอกสารการตรวจสภาพ รถยนต์ส่งมอบพร้อมกับรถยนต์
1.4 หน่วยงานของรัฐต้องกําหนดเงื่อนไขที่ให้ผู้รับจ้างต้องจัดหารถยนต์พร้อมค่าน้ำมัน เชื้อเพลิง ค่าซ่อมบํารุง และค่าเบี้ยประกันภัยยานพาหนะ สําหรับผู้ควบคุมงาน ในเอกสารประกวดราคา
เผยแพร่ไปพร้อมกับประกาศประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์อย่างชัดเจน และต้องดําเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด
2. การควบคุมในระหว่างการใช้รถยนต์ตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานก่อสร้าง
2.1 ผู้บริหารหน่วยงานต้องกํากับดูแล ควบคุม การใช้รถยนต์ตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานก่อสร้างในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
มิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้รถยนต์ดังกล่าวในทางส่วนตัวหรือ นอกเหนือจากการปฏิบัติงานควบคุมงาน
2.2 หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ในแต่ละคัน โดยมีหน้าที่ควบคุมกํากับดูแลการใช้รถยนต์
ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีจําเป็นต้องเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะแต่ต้องทราบ กรณีที่บุคคลอื่นใดนํารถยนต์ดังกล่าวไปใช้
2.3 หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีการบันทึกการใช้รถยนต์ทุกครั้งที่ออกใช้งาน ตั้งแต่ ออกเดินทาง - กลับ ถึงหน่วยงาน สํานักงานก่อสร้าง หรือสถานที่อื่นใดตามแต่กรณี
โดยอย่างน้อยต้องปรากฏ รายการดังต่อไปนี้ คือ วันที่ใช้รถ เลขระยะทาง การเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ชื่อผู้ใช้รถยนต์และผู้ควบคุมดูแลการใช้ รถยนต์
ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจสอบสามารถนํารายการใช้รถยนต์ดังกล่าวเปรียบเทียบกับข้อมูลในการบันทึกควบคุม งานของผู้ควบคุมงานว่ามีการใช้รถยนต์สอดคล้องกับการควบคุมงานในแต่ละวันหรือไม่
2.4 ในการจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ทดรองจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ ที่ผู้รับจ้างจัดหาให้เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมงาน
เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องแสดงหลักฐาน ประกอบการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้รับจ้าง อาทิ ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
2.5 ในการเก็บรักษารถยนต์ ควรกําหนดให้เมื่อสิ้นสุดการควบคุมงานก่อสร้างในแต่ละวัน ต้องจัดเก็บและรักษารถยนต์ดังกล่าวไว้ที่สํานักงานก่อสร้างหรือสถานที่ของหน่วยงาน เว้นแต่มีเหตุจําเป็น
หรือมีเหตุตามสมควรให้เก็บรักษาในสถานที่ที่เหมาะสมแต่ต้องแจ้งให้ผู้ควบคุมดูแลการใช้รถยนต์ทราบทุกครั้ง
2.6 กรณีความรับผิดจากการใช้รถยนต์ตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างก่อสร้าง ควรกําหนดให้ ผู้รับจ้างรับผิดชอบเฉพาะความผิดในกรณีที่เกิดความเสียหาย
หรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์ในการ ปฏิบัติหน้าที่หรือเกี่ยวเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
ส่วนความเสียหายหรืออุบัติเหตุ ที่นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่
"ให้ผู้ที่ก่อเกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุเป็นผู้ชดใช้ ความเสียหายและให้หน่วยงานของรัฐดําเนินการทางวินัย ทางแพ่ง หรือทางอาญาตามแต่กรณี"
2.7 หน่วยงานของรัฐควรจัดให้มีระเบียบ กฎหมาย หรือมาตรการของหน่วยงานเกี่ยวกับ การใช้ยานพาหนะที่ครอบคลุมการใช้ยานพาหนะของผู้รับจ้างที่จัดไว้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ปฏิบัติงานตามภาระ ผูกพันของสัญญา
เพื่อควบคุมการใช้ยานพาหนะที่ผู้รับจ้างจัดหาให้ตามสัญญาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ดังเช่น ระเบียบกรมชลประทานว่าด้วยยานพาหนะ พ.ศ. 2547
มีรายงานว่า ข้อเสนอดังกล่าว สืบเนื่อง สํานักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่อง กรณี โครงการงานก่อสร้างของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง กําหนดในเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างก่อสร้างให้ผู้รับจ้างจัดหารถยนต์ที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 1 - 2 ปี
"ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานของหน่วยงานของรัฐ เพื่อใช้ในการควบคุมงานก่อสร้าง พร้อมกับให้ผู้รับจ้าง ออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบํารุง ค่าประกันภัยชั้น 1"
ซึ่งการกําหนดรถยนต์ ที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 1 - 2 ปี นั้น เทียบเท่ากับรถยนต์ใหม่เป็นการสร้างภาระและค่าใช้จ่ายเกินความจําเป็น ให้กับผู้รับจ้าง
และเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานนํารถยนต์ ที่ผู้รับจ้างจัดหาให้ตามสัญญาไปใช้ในทางส่วนตัว หรือ ขับไปต่างจังหวัดในช่วงวันหยุด และนํารถยนต์ที่ผู้รับจ้างจัดหาให้ตามสัญญาไปไว้ที่บ้านเสมือนเป็นรถยนต์ ของตนเอง
รวมถึงการใช้รถยนต์ที่ผู้รับจ้างจัดหาให้ตามสัญญา โดยขาดความระมัดระวังขับรถยนต์ไปเฉี่ยวชน ทําให้รถยนต์เกิดความเสียหาย
ป.ป.ช. ยังพบว่า ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งการให้ผู้รับจ้างจัดหารถยนต์ให้เจ้าหน้าที่ใช้ พร้อมออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ยังมีกรณี ที่ "หัวหน้าหน่วยงาน" นํารถยนต์ไปใช้เอง และผู้ตรวจงาน หรือควบคุมงาน ก็ยังคงให้ผู้รับจ้างมารับ
หรือใช้รถยนต์ ของหน่วยงานไปตรวจงานหรือควบคุมงาน รวมถึงมีการรับค่าน้ำมัน หรือค่าบํารุงรักษารถยนต์ เป็นเงินก้อน ซึ่งอาจเป็นการรับสินบน รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาด
หรือรับรถยนต์คันดังกล่าวหลังเสร็จสิ้นโครงการงานก่อสร้าง เป็นความเสี่ยงที่ผู้ควบคุมงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรือผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่
มีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีการ เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจรับงานหรือควบคุมงาน ซึ่งส่งผลเสียหายแก่ราชการหรือภาครัฐ
ประกอบกับสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้ความเห็นโดยสรุปว่า จากการตรวจสอบโครงการจ้าง ก่อสร้างของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งมีการคํานวณค่าใช้จ่ายในการจัดหารถยนต์สําหรับผู้ควบคุมงาน
ไม่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์การคํานวณค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกําหนด และค่าใช้จ่ายอื่นที่จําเป็นต้องมี
และกําหนดเงื่อนไขให้รถยนต์ตกเป็นของหน่วยงานของรัฐเมื่องานแล้วเสร็จ ส่งผลให้ค่าก่อสร้างสูงเกินความเป็นจริง โดยรถยนต์ที่กําหนดให้ผู้รับจ้างจัดหาสําหรับผู้ควบคุมงานในบางสัญญ ากําหนดให้เป็นการจัดหารถโดยสารขนาด 12 ที่นั่ง
"ซึ่งเป็นรถที่มีราคาใกล้เคียงกับ "รถประจําตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือผู้ดํารงตําแหน่งอื่นเทียบเท่า" ไม่เหมาะสมกับ การนํามาใช้สําหรับวิศวกรหรือผู้ควบคุมงาน หรือไม่เหมาะสมต่อการนําไปใช้ควบคุมงาน"
อันสะท้อนให้เห็นว่าอาจมีการนํารถดังกล่าว ไปใช้สําหรับการอื่นนอกเหนือจากการนํามาใช้ในการควบคุมงาน
จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานก่อสร้างและเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือ สินบน
หรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้ของเจ้าพนักงาน ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ควบคุมงานหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง อันเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ สร้างความเสียหายแก่รัฐ และงบประมาณของประเทศ.