xs
xsm
sm
md
lg

"ไหม" สับคลังดูแลระบบแต่ตอบเงินดิจิทัลไม่ได้ "จุลพันธ์" กลับลำอ้างแค่ตั้งโครงการ หลังต้องมาตอบแทน "ประเสริฐ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ศิริกัญญา" จี้ ความคืบหน้า 6 ระบบย่อยใช้ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3-ทางรัฐใช้ชำระเงินได้หรือไม่ ลั่นที่จริงอยากถาม "ประเสริฐ" รมช.คลัง ตอบแทนบอกเหมือนปัญหาเชาว์ ยันเงินหมื่นตามกรอบ-ไตรมาส 2 ได้แน่ รับคลังเป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ เจอสวนดูแลระบบทำไมตอบไม่ได้ ก่อนกลับลำอ้างแค่ก่อตั้งโครงการ

วันที่ (13 มีนาคม) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ภายหลังเปิดให้สมาชิกหารือความเดือดร้อนของประชาชน มีการพิจารณากระทู้ถาม โดยน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ถามน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่อง Payment Platform แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังมาตอบแทน

โดยน.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมามีการประสานงานไปแล้วว่าตนจะถามนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แต่อาจจะมีการประสานงานที่ผิดพลาดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา จึงเป็นที่น่าเสียดายที่วันนี้อาจจะไม่ได้คำตอบที่ครบถ้วน โดยตนอยากถามว่าเราจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นทางรัฐให้ชำระเงินได้หรือไม่ เพราะในสโคปงานของการพัฒนาระบบ Payment Platform ไม่ได้มีการระบุให้พัฒนาแอปพลิเคชั่นทางรัฐสำหรับการชำระเงิน ซึ่งระบบ Payment Platform จะเป็นระบบแกนกลางและนำระบบของธนาคารต่างๆ หรือ Non-Bank มาเชื่อมต่อเพื่อสามารถเปิดแอปพลิเคชั่นธนาคารแล้วเข้าไปดิจิทัลวอลเล็ตก่อนจะสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเงินได้เลย รวมถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง API BluePrint อีกรอบเพื่อเก็บข้อมูลประเภทสินค้าในอนาคตหรือไม่ เพราะหากจะทำให้แอปพลิเคชั่นทางรัฐให้สามารถชำระเงินได้ หรือหากเปลี่ยนแปลง API BluePrint อีก ระบบก็จะไม่เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้จะจะไม่สามารถทดสอบระบบได้ทันในไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 เหมือนที่เคยมีการระบุไว้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ผู้ที่เข้ามาให้บริการที่ไม่ใช่แบงก์หรือ Non-Bank เขายอมจ่ายเงินด้วยตนเองเพื่อเอาระบบเข้ามาเชื่อมต่อกับ Payment Platform นี้ เพื่อไปหาลูกค้ามาใช้วอลเล็ตเพิ่ม ซึ่งธนาคารนั้นอาจจะไม่ใช่ เพราะการใช้ผ่านบัญชีเงินฝากนั้นง่ายกว่าอยู่แล้ว แต่สำหรับ Non-Bank ที่ไม่ใช่ธนาคารต่างๆ เขาต้องจ่ายเงินเพื่อมาพัฒนาระบบให้ลูกค้ามาใช้วอลเล็ต แต่รัฐบาลกลับทำวอลเล็ตมาแข่งเช่นนี้ ตนไม่แน่ใจว่าได้ทำตามข้อตกลงที่เคยทำไว้กับธนาคารที่ไม่ใช่พาณิชย์หรือไม่ จึงอยากทราบว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ รวมถึงอยากทราบความคืบหน้าของระบบย่อย 6 ระบบ คือระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นหัวใจหลักของความสำเร็จโครงการนี้ ที่เมื่อมีการโอนเงินแล้วข้อมูลไม่หลุด เงินไม่หล่น ขณะนี้ทำไปถึงไหนแล้ว คืบหน้ากี่เปอร์เซ็นต์ อยู่กับหน่วยงานใด

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า เรื่องบล็อกเซนที่เคยมีการพูดกันว่าจะใช้ยืนยันการใช้จ่ายทุกธุรกรรม แต่ตอนนี้กลับหดเหลือแค่เล็กๆ เพื่อตรวจสอบบันทึกรายการธุรกรรมต่างๆ คืบหน้าไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ติดตั้งไปแล้วกี่โหนดจาก 21 โหนด รวมถึงเรื่องการทดสอบระบบนั้นคืบหน้าไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เร็วหรือช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ที่จะทำให้ระบบนี้นิ่ง ส่วนอีกระบบคือระบบป้องกันการทุจริต ในส่วนนี้ทำแล้วหรือไม่ คืบหน้าเท่าไหร่ อยู่กับหน่วยงานใดในกระทรวงดิจิทัลฯ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับระบบคอลเซ็นเตอร์ที่มีการเชื่อมต่อธนาคารเข้ามา เมื่อโอนแล้วไม่ผ่านนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตั้งทีมคอลเซ็นเตอร์ไว้แล้วหรือไม่ คืบหน้าเท่าไหร่ อยู่กับหน่วยงานใด สุดท้ายคือการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ​ คลัง พาณิชย์ มหาดไทย หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ Digital Government Development Agency (Public Organization) (DGA) ควรมีผู้ที่เห็นภาพรวมทั้งหมด จึงอยากสอบถามว่าใครที่จะเข้ามาเป็นโปรเจ็กต์ เมเนเจอร์ที่จะคอยดูภาพรวมทั้งหมด

นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า ต้องขออภัยเพราะตนได้รับมอบหมายจากน.ส.แพทองธารให้มาตอบจริงๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้ถามเรื่องเกี่ยวกับระบบ Payment Platform โดยตรง น่าจะเป็นความคาดเคลื่อน และประเด็นเรื่องกระทู้ถามสดก็เป็นเหมือนสอบปัญหาเชาว์ เพราะไม่รู้คำถามก่อนและเมื่อผู้ถามถามมา พวกตนก็ใช้เชาว์ปัญญาในการตอบ แต่หากอยากเนื้อหาหรือคำตอบก็ต้องมานั่งปรับเปลี่ยนว่าให้ผู้ถามถามมาเลย จะได้เตรียมข้อมูลพร้อมผู้ตอบให้ถูกต้อง ส่วนเรื่องระบบ Payment Platform ที่น.ส.ศิริกัญญาถามว่าสามารถสแกนในนระบบทางรัฐได้หรือไม่นั้น สามารถดำเนินการได้ทั้งสองทาง ในส่วนของผู้พัฒนาได้พัฒนาแบบคู่ขนาน คือตัวระบบทางรัฐไม่ใช่เรื่อง Payment Platform ซึ่งดีจีเอ ที่เป็นหน่วยงานพัฒนาระบบของรัฐนั้นได้พัฒนาระบบมา 4 ระบบดังนี้ ระบบลงทะเบียนประชาชน ระบบลงทะเบียนร้านค้า ทางรัฐวอลเล็ต และระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน แต่เวลาที่เราใช้ทางรัฐนั้นคือหน้ากากที่ประชาชนจะต้องใช้ ส่วนแอปพลิเคชั่นจริงๆ ที่จะเรียกขึ้นมาใช้จริงๆ อยู่เบื้องหลัง ซึ่งผู้ใช้ทั่วไปอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรู้ว่าเป็นอะไร

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า แต่กลไกที่จะใช้ชำระเงินเมื่อเติมเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตไปให้ประชาชนแล้วนั้นมี 2 ช่องทาง โดยหนึ่งคือการใช้แอปพลิเคชั่นทางรัฐ ที่ขณะนี้กำลังมีการพัฒนาระบบ โดยเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตแอปพลิเคชั่นทางรัฐรวมถึงระบบการชำระเงินทั้งหมดนั้นจะเป็นระบบ Payment Platform การชำระเงินกลางของรัฐที่ประชาชนสามารถใช้ได้ สำหรับเงินประเภทต่างๆ ในอนาคตอาจจะมีการโยกย้ายสวัสดิการประเภทมารวมศูนย์อยู่ในจุดเดียว ซึ่งหากไปดูระบบของต่างประเทศนั้น จะเห็นว่ามีระบบที่รวมสวัสดิการต่างๆ ไว้ที่จุดเดียวได้ เราจะต้องพัฒนาระบบตรงนี้ไปให้ถึงให้ได้
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเชื่อมต่อกับธนาคารทั้งธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank รวมถึงส่วนที่เป็นเพย์เมนต์ของวอลเล็ตที่ไม่ได้เป็นธนาคารนั้น ทุกส่วนที่เข้าร่วมได้แจ้งความประสงค์เข้ามามาก โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่เข้าร่วมหมดหรือที่เรียกว่า Open Loop คือการที่เขาเข้ามาเชื่อมต่อกับเรา โดยที่เขาไม่ได้ทำเกี่ยวกับการเช็กคุณสมบัติหรือการเคลียร์เรื่องเกี่ยวกับการโอนจ่ายต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นเรื่องของรัฐ เราเพียงแค่เปิดประตูให้ธนาคารเหล่านั้นมาเชื่อมต่อเพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนเพราะคุ้นชินกับระบบโอนจ่ายของธนาคารปกติ

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะโอนจ่ายเงินในธนาคาร แต่สุดท้ายก็ต้องโหลดแอปพลิเคชั่นทางรัฐอยู่ดี เพื่อให้มีการลิงก์กันระหว่างสองแอปพลิเคชั่นเพื่อที่จะชำระเงิน เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นแค่ในส่วนของผู้ใช้ แต่ในส่วนของทางรัฐจะเป็นตัวเชื่อมระบบในการทำเรื่องระบบ Payment Platform และการโอนเม็ดเงินที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องโหลดทั้งสองแอปพลิเคชั่นอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการเช็กประเภทสินค้านั้น ต้องเรียนว่ากลไกการกำกับดูแลนั้นค่อนข้างยาก เราเปิดโอกาสให้ร้านโซห่วยมาร่วมโครงการ ซึ่งร้านเหล่านี้ไม่มีเครื่องที่จะออกบิลเพื่อให้ได้รายงานที่ออกมาถูกต้องว่าคนๆ นี้ซื้ออะไรบ้าง ฉะนั้น เราจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเขาซื้ออะไรบ้าง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหากเราไปกำกับประเภทสินค้าสิ่งที่จะใช้ผิดประเภทจะเกิดขึ้นเยอะมาก และเกิดคดีความกับร้านค้าเล็กๆ เหล่านั้นเต็มไปหมด จึงมีข้อเสนอจากหน่วยงานว่าเอาเรื่องสินค้าต้องห้ามออกและไปล็อกร้านค้า เพื่อป้องกันการใช้แล้วเกิดคดีความ แม้จะตรวจสอบสินค้ายังไม่ได้ แต่เราต้องพัฒนาระบบต่อ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องพัฒนาเพื่อนำระบบที่จะดูดว่าประชาชนไปซื้ออะไรมาบ้าง ขณะนี้ไม่เกิดขึ้นและไม่ใช่ข้อเท็จจริง

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ตนไม่สามารถตอบได้ว่าแต่ระบบพัฒนาไปถึงไหนและจะจบสิ้นเมื่อไหร่ แต่ในฐานะที่คลังเป็นโปรเจ็กต์ออนเนอร์ เราจะรับทราบจากสิ่งที่แต่ละกระทรวงรายงานมาว่าเราพร้อมเมื่อไหร่ ซึ่งเร็วๆ นี้จะเริ่มมีการทดสอบระบบแบบเอ็นทูเอ็น และขณะนี้มีการย้ายแอปพลิเคชั่นไปอยู่ในระบบเซิร์ฟเวอร์ของกระทรวงดิจิทัลฯ น่าจะใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ตนไม่แน่ใจไทม์ไลน์เพราะกระบวนภายในที่ภาครัฐดำเนินการกัน ยืนยันว่าอยู่ในกรอบระยะเวลาที่เคยให้ไว้และอยู่ในความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มีความเป็นห่วงและให้ตั้งอนุคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อมาติดตามตรวจสอบกลไกต่างๆ

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องคอลเซ็นเตอร์นั้นก็ใช้เลขหมาย 1111 เป็นเลขหมายหลักของรัฐตั้งแต่เฟสที่ผ่านมา หากมีประเด็นคำถามก็สามารถโทรไปสอบถามเลขนี้ได้ สำหรับเรื่องบล็อกเซนนั้นยังมี และระบบความปลอดภัย และโปรเจ็กเมเนเจอร์ก็จะเป็นคลังที่จะบริหารจัดการทั้งหมด ส่วนเรื่องทางรัฐวอลเล็ตเป็นเรื่องที่ดีจีเอพัฒนาเองไม่ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยมุ่งที่จะใช้กับโครงการรัฐในอนาคต เช่น ด้านสวัสดิการ อย่างไรก็ตาม ยืนยันในกรอบเวลาไม่มีต้นไตรมาส 3 ตนยังเชื่อมั่นว่าการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ไตรมาส 2 เรียบร้อยแน่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า สิ่งที่นายจุลพันธ์ตอบมานั้นย้อนแย้งกันเอง เพราะหากบอกว่าคลังเป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ต้องทราบดีว่าการพัฒนาระบบต่างๆ นั้นไปถึงไหนแล้ว ทำไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ และหากคลังเป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์จริง แต่ตอบคำถามไม่ได้ ปลายไตรมาส 2 เราต้องมานั่งลุ้นกัน ส่วนคำถามสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทะเบียนของร้านค้าที่เปิดให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าไปแล้ว ที่เหตุใดจึงมีร้านค้าที่ได้อภิสิทธิ์เหนือกว่าร้านค้าอื่นในการลงทะเบียนล่วงหน้า และหากไม่ได้ตั้งใจกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการนี้อยู่แล้ว ทำไมไม่ให้ร้านค้ารายย่อยแลกเป็นเงินสด ทำไมยังต้องมีการจำกัดสิทธิ์ เช่น ไม่ให้สถานีน้ำมันเข้าร่วมโครงการนี้อยู่ดี เพราะอย่างไรก็กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้อยู่แล้ว เพราะอาจจะเปิดปัญหาได้ในอนาคต

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังไม่ใช่โปรเจ็กต์เมเนเจอร์ แต่เป็นโปรเจ็กต์ออนเนอร์ ซึ่งตนเป็นผู้บริหารจึงไม่สามารถลงรายละเอียดในทั้งหมดได้ แต่ยืนยันว่า มีผู้ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว ทั้งกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าแอปพลิเคชั่นทั้งหมดพัฒนาทันตามกรอบเวลา และในฐานะรัฐมนตรี เราต้องดูแลบริหารจัดการนโยบายเพื่อให้โครงการขับเคลื่อนจนประสบความสำเร็จ ยืนยันว่า ทันตามกรอบเวลา เงินถึงมือประชาชน ส่วนการลงทะเบียนร้านค้าว่า รายย่อยที่เรากล่าวถึง คือร้านค้าแผงลอย ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนกับรัฐมาก่อน จึงต้องมีกลไกเข้ามาดูแลในส่วนนี้ เพื่อยืนยันตัวตน โดยใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐเพื่อให้เขามาขึ้นทะเบียน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐดูแล ป้องกันการเกิดร้านค้าเงา ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อนำไปขึ้นเงินเพียงอย่างเดียว

สำหรับข้อห้ามในการใช้กับการบริการต่างๆ นั้น นายจุลพันธ์ ย้ำว่า สิ่งที่เราทำในโครงการนี้ คือการเติมเงินผ่านแอปดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีวัตถุประสงค์สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เราจึงเติมเม็ดเงินลงไป เพื่อให้เกิดการลงทุน การผลิต ซึ่งในภาคบริการนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการผลิตโดยตรง เราจึงกำหนดกรอบได้แนวทางไว้เช่นนี้ ส่วนการขึ้นเงินเราก็มีการปลดล็อกเรียบร้อยแล้ว โดยปรับเปลี่ยนว่า ไม่ต้องเป็นร้านค้าในระบบภาษีก็ได้ แต่ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เรื่องการยืนยันตัวตน และป้องกันไม่ให้ใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์โครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น