วันนี้(12 มี.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้ยื่นหนังสือถึง นายฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการจ้างจัดหา พัฒนา ติดตั้ง และดูแลบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า (Utility Platform UTP) และระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning : ERP) ของ กฟภ. โดยทั้งสองโครงการมีการใช้งบประมาณจากรายได้ของ กฟภ. เพื่อให้ปรับปรุงและให้บริการทั่วประเทศ จึงขอให้ทางคณะ กมธ. ตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในหลายบริษัทต่อไป โดยมี นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะ กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ คนที่สอง เป็นผู้รับหนังสือ
โดยนายมงคลกิตติ์ แถลงว่า โครงการ UTP เป็นโครงการสำหรับให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ ที่ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยโครงการดังกล่าว มีราคากลางในการดำเนินการจำนวน 2,964 ล้านบาทเศษ โดยมีการจัดการและมีการเจรจาตั้งแต่ต้นว่า จะให้บริษัทใดได้เข้ามาบริงานจัดการโครงการ ปรากฏว่า ได้มีบริษัทเผือก กับ บริษัทพี (ทั้งสองบริษัทเป็นชื่อสมมติ) ที่เป็นคนจัดการโครงการดังกล่าว ส่วนโครงการ ERP ก็มีลักษณะการดำเนินโครงการคล้ายกับโครงการ UTP โดยมีการประมูลโครงการไปในราคา 2,963 ล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งสอง เพิ่งจะมีการประกาศผลในการประมูลไปแล้ว เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีเรื่องไม่ชอบมาพากลอยู่หลายประการ ตั้งแต่การทำราคากลาง เพราะตนสังเกตว่า ราคากลางทั้งสองโครงการนั้น มีความใกล้เคียงกัน เหมือนกับมีการนัดแนะกันมาให้สูงกว่าความเป็นจริง อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 10 , 11 , 12 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ต่อมา มีการเจรจาตกลงโครงการกันกับนายกนก (นามสมมติ) ที่อ้างตัวว่า เป็นผู้ประสานงานกับผู้มีอำนาจฯ ในซอยรางน้ำ โดยมีการนัดแนะถึงการยื่นประมูลทั้งสองโครงการดังกล่าว รวมทั้ง ยังมีการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง ออกมาเผยแพร่ให้สองบริษัทให้ทราบก่อนหรือไม่ เพราะบังเอิญว่า ทั้งสองบริษัทได้ยื่นประมูลแล้วมีคุณสมบัติและคุณลักษณะตรงตามเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกประการ
“ผมเชื่อว่า ทั้งสองโครงการนี้ มีคนเกี่ยวข้องอยู่ในขบวนการเป็นจำนวนมาก เพราะโครงการทั้งสองมีการตั้งราคากลางรวมกัน หกพันกว่าล้านบาท แต่เมื่อผมและทางมูลนิธิสำรวจมาแล้ว ปรากฏว่า ต่อให้ประมูลต้นทุนและกำไรในการดำเนินงาน ก็จะได้อยู่เพียง สี่พันกว่าล้านบาทเท่านั้น เพราะฉะนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า การกำหนดราคากลางแบบนี้ เป็นการกำหนดราคาในวงแคบแค่สองกลุ่มบริษัทนี้เท่านั้น เพราะถ้าเปิดให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาร่วมวงกำหนดราคากลาง ร่วมวงประมูลด้วย ก็อาจจะไม่มีเงินทอนให้ฝ่ายการเมือง ดังนั้น เมื่อทั้งสองโครงการ มีการดำเนินการไปแล้ว ก็จะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า และจะกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนผ่านการคิดค่า FT เพราะฉะนั้น ตนจึงอยากให้ทางคณะกรรมาธิการ ปปช. สภาผู้แทนราษฎร เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบการกำหนดราคากลางของโครงการทั้งสองว่า มีการฮั้วกันหรือไม่ มีกระบวนการสมคบกันเพื่อจะกีดกันไม่ให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาประมูลหรือไม่ และนายกนก (นามสมมติ) เป็นผู้ควบคุมการดำเนินโครงการทั้งสอง ให้เป็นไปตามที่วางเอาไว้หรือไม่” นายมงคลกิตติ์กล่าว