xs
xsm
sm
md
lg

3 หน่วยงานรัฐ ให้ความเห็น “กองทุน Thai ESG Extra” หลัง ครม.ไฟเขียว โยก LTF เดิมเข้ากองทุนใหม่ ลดภาษี 5 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดหนังสือ 3 หน่วยงานรัฐ “สภาพัฒน์-สงป.-แบงก์ชาติ” ให้ความเห็น “กองทุนใหม่” Thai ESG Extra หลัง ครม.รับหลักการ โยกเงินจาก LTF เดิมเข้ากองทุนใหม่ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท พร้อมให้ซื้อกองทุนใหม่ได้ในวงเงินอีก 3 แสนบาท พร้อมลดหย่อนภาษีได้ “สภาพัฒน์” แนะกําหนดวงเงินลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด ให้สอดคล้องกับเงื่อนไข รักษาเสถียรภาพตลาดทุนไทย “สงป.” แนะสร้างกลไก ยกระดับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐาน “ธปท.” ฝากเร่งผลักดันการพัฒนาเชิงโครงสร้างในการยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจไทย

วันนี้ (12 มี.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลัง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการการจัดตั้ง “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนกองทุนใหม่” หรือเรียกว่า กองทุน “Thai ESG Extra”

ล่าสุด พบว่า มี 2 หน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ และ สำนักงบประมาณ ให้ความเห็นต่อกองทุน “Thai ESG Extra”

สภาพัฒน์ เห็นว่า กระทรวงการคลัง ควรพิจารณากําหนดวงเงินลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด ให้มีความสอดคล้องกับเงื่อนไขสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศจากมาตรการภาษี เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทย

และพิจารณาส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ควบคู่ไปกับ การให้ความสําคัญกับการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

และเตรียมการรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งลดแรงกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความเข้มงวดในการกํากับดูแลบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีการดําเนินการตามหลักธรรมาภิบาล

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

“ไม่ขัดข้องในหลักการของการรักษาเสถียรภาพตลาดทุนไทย อย่างไรก็ดี ตลาดทุนไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามทิศทางการดําเนิน นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก”

ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการผ่อนคลายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ดังนั้น การดําเนิน มาตรการภาษีเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทยและส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย

โดย (1) การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับผู้มีเงินได้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESGX ภายใน 2 เดือน (วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2568)

สําหรับการลงทุนในกองทุน Thai ESGX ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อ หน่วยลงทุน

และ (2) การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับผู้มีเงินได้ที่ถือในหน่วยลงทุนในกองทุน LTF และ ได้สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESGX โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่ากับจํานวน มูลค่าหน่วยลงทุน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

ทั้งนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2568 และเฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ในปีภาษี 2569-2572

โดยให้ยกเว้นเป็นจํานวนเท่าๆ กันในแต่ละปีภาษี โดยผู้มีเงินได้จะต้องแจ้งความประสงค์สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนต่อ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่กองทุน Thai ESGX เปิดให้สับเปลี่ยน หน่วยลงทุนครั้งแรก แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2568

และต้องถือหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่แจ้งความจํานงค์ เพื่อรักษาสภาพคล่องผ่านการจัดตั้งกองทุน Thai ESGX และรองรับการไถ่ถอน กองทุน LTF ที่ครบกําหนดนั้น จะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว

ทั้งนี้ การกําหนดให้สิทธิ ลดหย่อนภาษีได้เพียงเท่ามูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันที่แจ้งความประสงค์ ขณะที่ในขณะนี้การไถ่ถอนกองทุน LTF ลดลง อย่างมากในช่วงหลัง

การดําเนินมาตรการดังกล่าวจึงอาจไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อกองทุน Thai ESGX เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องของระบบในระยะสั้นได้มากนัก

สำนักงบประมาณ เห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้หุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ESG โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก (Small Cap) มีความเสี่ยงที่จะถูกเทขายพลาดโอกาสในการรับเม็ดเงิน ลงทุนเพิ่มเติมจากมาตรการดังกล่าว

จึงเห็นสมควรที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสร้างกลไก หรือมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ESG ปรับตัวและ เตรียมรับมือกับมาตรฐาน ESG ให้เกิดความยั่งยืนในการดําเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ เพื่อให้การดําเนินการตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเห็นสมควรที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าวให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก

ตลอดจนติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานผลการดําเนินงานตามมาตรการภาษีดังกล่าว ตามนัย พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่า ไม่ขัดข้องต่อร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ทั้งนี้ ภาครัฐ ควรเร่งผลักดันการพัฒนาเชิงโครงสร้างในการยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจไทย

เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ให้กับการลงทุน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเสถียรภาพของตลาดทุนที่เป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจด้วย

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เแถลงว่า กองทุนนี้จะรองรับเงินลงทุนของนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น 2 ส่วน

โดยส่วนแรกมาจากเงินลงทุนที่มาจากนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ปัจจุบันมีวงเงินคงค้างอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้จะให้นักลงทุนโยกเงินจากกองทุน LTF มาอยู่ในกองทุน Thai ESG Extra

โดยได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 แสนบาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2568 ได้ 3 แสนบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนบาท จะให้ใช้สิทธิในปีภาษีต่อๆ ไปปีละ 50,000 บาทจนครบจำนวน

อีกส่วนหนึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ต้องการซื้อหน่วยลงทุนใน กองทุน Thai ESG Extra เพื่อลดหย่อนภาษี

ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นเงินลงทุนใหม่โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 แสนบาทในปี 2568 โดยจะต้องซื้อหน่วยลงทุนภายในระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือน พ.ค.- มิ.ย.ปีนี้

ปัจจุบันสถานการณ์ในตลาดหุ้นทั่วโลกถือว่ามีความผันผวนมากจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีการปรับขึ้นภาษีกับคู่ค้า

โดยล่าสุด ในสหรัฐฯ ตลาดหุ้นก็ลดลงมากทั้งดัชนี Nasdaq และดาวโจนส์ ส่วนดัชนีหุ้นปรับตัวลดลง โดยหุ้นไทยเคยลงมาอยู่ในระดับต่ำประมาณ 1,200 จุด

ตอนนั้นเราทำกองทุนวายุภักษ์ก็สามารถดึงดัชนีขึ้นไปได้ที่ประมาณ 1,400 จุดก่อนจะปรับลดลงมาที่ระดับ 1,200 จุด และได้รับผลกระทบจากข่าวสารภายนอก

ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวคิดว่าในกองทุน ESG มีการเลือกหุ้นที่ดีมีอนาคต การเติบโตที่ยั่งยืน และมีการลงทุนในเทคโนโลยี

ซึ่งถือว่ามีโอกาสเติบโตในอนาคต เมื่อมีความชัดเจนเรื่องนโยบายนี้ก็เชื่อว่าจะสามารถชะลอแรงขายของดัชนีหุ้นลงได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น