xs
xsm
sm
md
lg

"เทวฤทธิ์" ข้องใจ "อิ๊งค์" จริงจังขึ้นค่าแรงแค่ไหน ปล่อย รมว.แรงงานสานต่อเพียงลำพัง “พิพัฒน์” ยันไม่ละความพยายาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สว.เทวฤทธิ์” ข้องใจ ”นายกอิ๊งค์” จริงจังขึ้นค่าแรงแค่ไหน ใครขวางคลอง ปล่อยให้ “รมมว.แรงงาน” สานต่อนโยบายเพียงแค่ลำพัง ขณะที่“พิพัฒน์”ยันไม่ลดละ ความพยายามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ใช้โมเดล ปี 2555 เป็นต้นแบบ ย้ำชัดค่าแรง 600 บาท ในปี 70 ต้องดู GDP ประเทศ

ในการประชุมวุฒิสภา วันนี้(10 มี.ค.) นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ได้ตั้งกระทู้ถามนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเรื่อง อุปสรรคของการผลักดันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ และแนวทางในการผลักดันนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต ว่า หากย้อนกลับไปดูการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นช่องว่างการเปรียบเทียบจีดีพีต่อหัวปี 2565 ที่ล่าสุดขึ้นไปถึง 767 บาทต่อคน ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 341 บาทต่อคน แปลว่าแรงงานขาดทุน เพราะการปรับขึ้นค่าแรงไม่ทันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

"นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้พูดไว้เป็นนโยบายเรือธงฉบับแรกก่อนดิจิทัลวอลเล็ตด้วยซ้ำว่า จะต้องปรับขึ้นค่าแรง 600 บาทภายในปี 2570 ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ผมไม่ทราบว่านายกฯมีความจริงจังหรือทิ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สานต่อนโยบายเพียงแค่ลำพัง " นายเทวฤทธิ์กล่าว

นายเทวฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันด้วยปัญหาอุปสรรคที่มีความพยายามขยับขึ้นค่าแรงมาแล้ว 3 รอบ ตนจึงขอถามว่า อะไรคืออุปสรรคสำคัญในการผลักดันการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ และมีแผนในการปรับอัตราการขึ้นค่าแรงเดียวกันหลังจากนี้หรือไม่และเมื่อไหร่ รวมทั้งมีมาตรการลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการหรือไม่ และขณะนี้รัฐบาลมีแนวทางอย่างไรให้การปรับขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทภายในปี 2570


ด้านนายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67 ก็มีแนวทางลักษณะใกล้เคียงกับการขึ้นค่าแรงในปี 2555 นำโมเดลตรงนั้นมาเป็นต้นแบบในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 77 จังหวัด แต่สุดท้ายกรรมการฝ่ายพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมด้วยอนุฯของแต่ละจังหวัดอีก 76 จังหวัด มีการประชุมและมีผลออกมาได้แค่ 4 จังหวัด หากถามว่าตนสบายใจหรือไม่ต้องเรียนว่าตนไม่ได้มีความสบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และถ้าถามว่าทำไม 400 บาทใน 7 จังหวัดนำร่องถึงเป็นไปไม่ได้นั้น เพราะจากการวิเคราะห์ในแต่ละจังหวัดรวมถึงไม่กล้าไปกระทบเอสเอ็มอี สมมุติว่าการล้มของเอสเอ็ม จะมีผลกับเศรษฐกิจของประเทศขั้นรุนแรง จึงต้องคอยพิจารณาว่าอะไรที่ประกาศไปแล้วมีผลกระทบน้อยที่สุด และในวันที่ 12 มี.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำ ของไตรภาคีอีกครั้ง แม้วันที่13 มี.ค. คณะกรรมการชุดนี้จะหมดวาระลง แต่ยังคงต้องรักษาการไปจนกว่าจะมีการสรรหาเข้ามาใหม่
"เราไม่สามารถที่จะบังคับใครได้เลย แต่ก็มีความมุ่งหวังและฝากไว้ที่คณะกรรมการไตรภาคี ช่วยฝากความคิดว่า การที่เราพยายามเอาจังหวัดนำร่อง เข้ามาตั้งเป็นสมมติฐานให้ได้และพยายามที่จะเอาอาชีพบางอาชีพที่คิดว่าเศรษฐกิจเขาดีขึ้นแล้วประกาศเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในส่วนนั้นอาจมีการดำเนินต่อไปได้ในเบื้องต้น"

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า มาตรการที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เช่น เพิ่มค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงการคลัง หรือลดเงินสมทบผู้ประกันตนฝ่ายนายจ้าง เป็นเรื่องประกันสังคมในกระทรวงแรงงาน สามารถทำได้ไม่ยาก และยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านสาธารณสุข อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงาน ที่จะต้องมีการหารือกัน อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าในหลายประเด็นจะนำโมเดลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากปี 2555 มาพิจารณาประกอบ หากประเด็นใดเป็นเรื่องใหม่จะนำมาพิจารณา ซึ่งความพยายามของกระทรวงแรงงาน ยังมีความพยายามที่จะประกาศขึ้นค่าแรง แต่ก็อยู่ที่คณะกรรมการไตรภาคี หากการประชุมครั้งแรก การขึ้นค่าแรงยังไม่ผ่านสามารถเรียกประชุมครั้งที่สองภายใน 15 วัน ซึ่งจะต้องใช้เสียงสองในสาม จึงขอฝากไปยังสปิริตของคณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้การขึ้นค่าแรงจาก 400 บาทถึง 600 บาทภายในปี 2570 นั้นจะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และอัตราการเจริญเติบโตจีดีพี และพิจารณาอัตราเงินเฟ้อว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะมีการขึ้นค่าแรงถึง 600 บาท หากทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถก้าวไปได้ ก็ไม่สามารถเดินไปถึงส่วนนั้นได้ แต่กระทรวงแรงงานได้ประกาศ 129 อาชีพที่จะได้รับการพัฒนา และได้รับค่าแรงเกินกว่า 400 บาทแล้ว ขาดเพียง 13 สาขาอาชีพที่ยังมีค่าแรงต่ำกว่า 400 บาท ยืนยันจะพยายามต่อไปเพื่อพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในส่วนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น