ข่าวปนคน คนปนข่าว
++ เข้าข่ายอั้งยี่ ซ่องโจร-ฟอกเงิน ฮั้วเลือกสว. อนุฯมีมติเป็น "คดีพิเศษ" ทวี สอดส่อง ลั่น 6 มีนาฯนี้ ต้องจบ จับตา "แสวง" งานจะเข้า!?
ก่อนที่จะถึงวันที่ 6 มีนาคม กำหนดนัดหมายกันของ คณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) ที่จะประชุมพิจารณาจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ สำหรับประเด็นปัญหา “ฮั้วเลือกสว.” ที่สังคมเฝ้าจับตา ล่าสุดยังมีการเคลื่อนไหวที่เข้มข้น
เริ่มจาก มติของอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ประชุมร่วม 4 ผู้แทนหน่วยงาน ประกอบด้วยสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาเรื่องสืบสวน ที่ 151/2567 เสนอ กคพ. ให้รับคดีฮั้วเลือกสว. เป็นคดีพิเศษ หลังจากพิจารณาจากสำนวนแล้ว “เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดทั้ง อั้งยี่ -ซ่องโจร-ฟอกเงิน”
กคพ.จะพิจารณาออกมาอย่างไร ต้องมาลุ้นกัน!!
ขณะที่ “ทวี สอดส่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันชัดเจนว่า จะต้องได้ข้อสรุปว่า จะรับหรือไม่เป็นคดีพิเศษ และเรื่องต้องจบในวันที่ 6 มีนาฯนี้ แน่นอน
ส่วนเหตุผลจะหนักแน่นเพียงใด ก็ต้องรอให้ กคพ.พิจารณาหลังจากยกแรกที่ประชุมกันไป มีประเด็นที่ต้องกลับมาทำการบ้านเสนอกลับมาใหม่
งานนี้ว่ากันว่าจะเป็นงานช้างสุรินทร์ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล และพฤติการณ์จำนวนมาก โดยวันก่อนปรากฏเป็นข่าวว่ามี “เอกสารหลุด” ระบุลิสต์รายชื่อผู้สมัคร และผู้ได้รับเลือก สว. ราว 1,200 คน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเรียกสอบปากคำ ในฐานะพยานคดีนี้
ถามว่า เอกสารหลุดดังกล่าว เป็นของจริง หรือมโน ? ข้อสันนิษฐานของ “ทวี” เชื่อว่า ในวันที่มีการเลือกสว. ที่เมืองทองธานี มีการเลือกประมาณ 3,000 รายเศษ ทราบว่า มีโพย และรายชื่อประมาณ 1,000 คน น่าจะเป็นข้อมูลชุดนี้มากกว่า แต่เอกสารไม่ได้หลุดมาจาก ดีเอสไอ
ในส่วนของ “ดีเอสไอ” จะตรวจสอบรายชื่อที่เข้ามา และ อาจมีมากกว่าประมาณ 1,200 คน ซึ่งลิสต์รายชื่อไม่ได้ยืนยันว่า เขาทำผิดหรือไม่ ตามหลักการของ ดีเอสไอ จะพยายามเรียกทุกคนที่รู้เห็นมาให้ข้อมูล ส่วนจะเป็นข้อมูลใหม่หรือไม่ ต้องไปถามพนักงานสอบสวน แต่ไม่ว่าจะอยู่ใน หรือนอกเมืองทองธานี ก็ต้องมาให้ข้อมูล
ส่วนคำถามถึง กรณี สว. ยื่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ “พ.ต.อ.ทวี และพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” อธิบดี ดีเอสไอ จะทำให้การทำงานมีปัญหาหรือไม่
รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ในระบบประชาธิปไตย หากรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มีการใช้สิทธิ์ได้ และยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่คนที่ยื่นคำร้อง หากดูเอกสารที่เป็นตัวเลข หรือในโพยอาจเป็นตัวเลขที่ตรงกัน ซึ่งก็มีเอกสารที่ปรากฏว่า มีรายชื่อที่ยื่นในจำนวน 140 คน คือมี 138 คน ที่อยู่ในสภา มีชื่อที่ปรากฏอยู่ในโพย และมีอีกประมาณ 62 คน ที่ไม่ปรากฏ
เรียกว่า งานนี้งดดรามา ต้องว่ากันด้วยหลักฐานประจักษ์พยาน กันมากกว่า
พูดถึงหลักฐาน “คดีฮั้วเลือกสว.” ก็มีความเคลื่อนไหวจากฝากของ “กลุ่มสว.สำรอง”
โดยเฉพาะประเด็นที่มีการระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุญาตให้ผู้สมัคร สว. นำโพยเข้าไปในวันเลือกได้
“อัครวัฒน์ พงศ์ธนาชลิตกุล” ตัวแทนกลุ่ม สว.สำรอง บอกเลยว่า เรื่องนี้มีโพยหลุดออกไปเป็นจำนวนมาก โดยแต่ละกลุ่ม ที่ได้รับเอกสารมาก่อนที่จะเดินเข้าห้องเลือกที่เมืองทองธานี มีการเขียนไว้ที่ สว.3 และ เขียนใส่กระดาษ เพื่อให้ติดตัวไว้
ทั้งๆ เขาที่มีประกาศห้ามเอาเอกสารเข้าหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งพอพบเห็นเข้า คืนวันเลือกตั้งจึงไปร้องต่อ กกต. แต่ไม่ได้เป็นผลอะไร จนการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ผู้ตรวจการเลือกตั้งจึงได้ไปแจ้งความต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ต่อมา กกต.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องโพย กลับกลายเป็นว่า คณะกรรมการเป็นลูกน้องของผู้ที่ถูกร้อง คือ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ที่แต่งตั้งลูกน้องขึ้นมาให้ตรวจสอบตัวเอง
ถามว่างานนี้เป็น “แสวง” หรือไม่ ที่เป็นคนอนุญาตให้เอาโพยเข้าไปหรือไม่ “อัครวัฒน์” กล่าวว่า จากที่ผู้ตรวจฯ ไปให้ปากคำต่อดีเอสไอ แจ้งว่า “แสวง” เป็นคนอนุญาตให้เอาโพยเข้าไปได้ ซึ่งมีในใบ สว.3 และกระดาษ จะถูกเขียนด้วยโพยอยู่ด้านหลัง เป็นตารางทั้ง 20 กลุ่ม มีตัวเลขระบุให้เลือกตามช่อง ซึ่งเรามีหลักฐานเป็น สว.3 ที่ยึดมาได้ อยู่ที่ดีเอสไอ จำนวนมาก
ก่อนหน้านี้ “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ออกมาเคลื่อนไหวออกตัวแทน กกต. ว่าที่อนุญาตให้นำโพยเข้าไปได้ เพราะผู้สมัครอาจจะจำได้ไม่หมด
ตรรกะนี้ “อัครวัฒน์” กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จะเอาโพยเข้าไป เพราะเป็นการทุจริต แต่ สว.3 ที่แจกมาให้เพื่อทุกคนได้ศึกษาว่า กลุ่มต่างๆ ชอบใคร หากมีโอกาสได้ไขว้กันสมควรจะเลือกใคร ซึ่งคนที่เลือกก็ต้องเปิดดูประวัติใน สว.3 แต่ที่ไม่ยุติธรรมที่สุด คือ การเขียนโพยเป็นร้อยๆโพย อยู่หลัง สว.3 แล้วเลือกตรงกันทั้งหมดทั้งประเทศ
มาถึงตรงนี้เรื่องนี้ก็คงต้องพิสูจน์กันตามหลักฐานและข้อกฎหมาย ส่วนจะกลายเป็น “คดีพิเศษ” หรือไม่ ต้องติดตามการประชุม กคพ.วันที่ 6 มีนาฯนี้... รู้เรื่อง !
++ ทักษิณ ได้ทีขยี้ซ้ำ ไม่ต่อสัญญา โมโตจีพี ให้ เนวิน !!??
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร โดย “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และคณะ เปรียบแล้วก็เหมือนสงครามตัวแทนระหว่าง “ทักษิณ ชินวัตร” กับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”
ไม่รู้เมื่อถึงเวลาจะฟาดฟันกันอย่างจริงจัง หรือ รบกันด้วยดาบก้านกล้วย
แต่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ คู่ระหว่าง “เพื่อไทย” กับ”ภูมิใจไทย” โดย “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร กับ “ครูใหญ่บุรีรัมย์” เนวิน ชิดชอบ นี่น่าจะเข้มข้น จริงจังกว่า
คู่นี้งัดข้อ ปีนเกลียว ต่อรองกันมาตลอด ไล่มาตั้งแต่เรื่องเขากระโดง- ที่ดินอัลไพน์- สนามกอล์ฟที่ปากช่อง เขาใหญ่ - เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ -แก้กฎหมายประชามติ – แก้รัฐธรรมนูญ กระทั่งเรื่องฮั้วเลือก สว.
ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ มีเรื่อง “โมโตจีพี” เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อง
การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือ “โมโตจีพี” ที่ สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ซึ่ง “เนวิน” พยายามปลุกปั้นขึ้นมา จนติดกระแส กำลังจะถูกตอน
เพราะสัญญาที่ประเทศไทย ทำไว้กับ “ดอร์น่า สปอร์ตส์” เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขัน “โมโตจีพี” เหลือเพียงแค่ปีเดียว คือ การเป็นเจ้าภาพสนามเปิดในฤดูกาล 2026 ก็หมดสัญญาแล้ว ต้องรอให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าจะต่อสัญญาออกไปหรือไม่
ถ้าต่อก็ยืดอายุออกไปได้อีกระยะหนึ่ง ถ้าไม่ต่อก็เป็นอันจบ และจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะธุรกิจของ “เนวิน” และ คนบุรีรัมย์
ท่าทีของ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ต่อเรื่องนี้ แม้จะออกมาในแนวแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ก็มีคำพูดให้ต้องสะดุด หยุดคิด คือ การแข่งขันรายการนี้ “ทำเงิน” หรือเปล่า ประเทศได้อะไรหรือเปล่า!?
... ถ้าเงินเข้าจังหวัด เข้าประเทศ ใครจะเป็นเจ้าของ ก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นธุรกิจของเขา ในการเป็นเจ้าของ ต้องดูว่าประเทศได้อะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องนับ บางทีเอกชนกับภาครัฐ ก็ต้องไปด้วยกัน แต่ต้องขอดูรายละเอียด และความสมเหตุสมผล การเมืองจะมองว่า เป็นการเมืองก็ได้ แต่ขอมองเรื่องของธุรกิจ และเงิน ว่าจะทำรายได้ให้เข้าประเทศมากน้อยแค่ไหน ขอตัดสินแบบนั้น...
ขณะที่ “เนวิน” เหมือนจะคาดเดาชะตากรรมได้ ก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า ความสำเร็จของโมโตจีพี ที่บุรีรัมย์ มันปรากฏให้เห็นแล้วว่า เป็นความยั่งยืนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว สำหรับแฟนมอเตอร์สปอร์ต สร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ไทย และบุรีรัมย์ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาใช้เงินหลายพันล้าน และยังเป็นสื่อทางอ้อม ให้คนรู้จักประเทศไทย เป็นพันล้านคน จากการจัดโมโตจีพี ที่นี่
...ความชัดเจนเรื่องต่อสัญญา “โมโตจีพี” ยังไม่มีเลย แต่รัฐบาลกลับพยายามจะไปเสนอจัดการแข่งขันรถ “ฟอร์มูล่าวัน” (เอฟ วัน) ซึ่งจะจัดที่ไหน จัดอย่างไร ใช้เงินเท่าไหร่ มีตัวเลขที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้จริงหรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้...
“โมโตจีพี เป็นรถสองล้อ ทุกคนสัมผัสได้ สามารถเป็นเจ้าของได้ ใกล้ชิดได้ ซึมซับได้ แต่ เอฟวัน มันเหมือนหมามองเครื่องบิน ดูได้ครั้งเดียวก็พอแล้ว”
เรื่องนี้ก็ต้องติดตามกันว่าที่สุดแล้ว “นายกฯอิ๊งค์” จะต่อสัญญาให้หรือไม่...นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเกมต่อรอง
ก็รู้ๆกันอยู่ว่า “เพื่อไทย” อยากได้เก้าอี้ รมว.มหาดไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกตั้ง แล้ว “ภูมิใจไทย” จะยอมสละไหมล่ะ!!