จ่อตั้ง “ยุวสิงห์มหาดไทย” ให้โอกาสเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี จังหวัดละ 2 คน ร่วม “ชุดปฏิบัติการต้านยาเสพติดในพื้นที่จังหวัด” กว่า 150 คน ไร้ประวัติยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ไม่เคยมีคดีเกี่ยวข้อง บรรจุร่วมทีมงานประจําตําบล ประสานนายอำเภอ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผุดสารพัดเครือข่าย “ประชาสัมพันธ์-บูรณาการร่วมกิจกรรม TO BE NUMBER ONE” เผย ให้ความหวังสูง ถึงกับตั้งให้เป็น “สายข่าวพื้นที่” แกนนําเฝ้าระวังในหมู่บ้าน
วันนี้ (3 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย จะเปิดตัว “ยุวสิงห์มหาดไทย” ร่วมใจต้านยาเสพติด ในระหว่างการประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
แก่ผู้บริหารส่วนกลาง และ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ ในวันศุกร์ที่ 7 มี.ค.นี้ ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นอกจากให้นโยบาย และแจ้งถึงบทบาทของยุวสิงห์มหาดไทย รวมละใจต้านยาเสพติด หรือ MOI Youth Against Drugs ในการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่
จะมีพิธี มอบธงสัญลักษณ์หมู่บ้านสีขาว ให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด และธงและป้ายสัญลักษณ์การร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้แก่ยุวสิงห์มหาดไทย
“ศูนย์อํานวยการป้องกันและยาเสพติด 77 จังหวัด จะต้องคัดเลือก ยุวสิงห์มหาดไทย แห่งละ 2 คน รวม 154 คน จากทุกอําเภอ ซึ่งต้องมีสัญชาติไทย อายุระหว่าง 15-18 ปี มีความมุ่งมั่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด”
สำหรับคุณสมบัติ จะต้องสมัครใจ และมีจิตสาธารณะเข้ามาร่วมกิจกรรมของกระทรวงมหาดไทยในด้านต่างๆ ไม่เคยมีประวัติยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือเคยกระทําความผิดและถูกดําเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดและการกระทําความผิดตามกฎหมายทุกประเภท
รวมถึง กล้าแสดงออก มีภาวะผู้นําสูง และมีความสามารถในการสื่อสารในที่สาธารณะ จากหลักเกณ์การบําเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม 30 คะแนน มีคุณธรรมจริยธรรม 30 คะแนน ความรู้ความสามารถ 20 คะแนน และเป็นตัวอย่างที่ดีและการเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน 20 คะแนน
“ยุวสิงห์มหาดไทย” จะเข้ามาประสานงานกับ นายอำเภอ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งด้านการป้องกัน จะเป็นเครือข่ายแกนนําในการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่
ยังเป็นเครือข่ายแกนนําในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ร่วมกับกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ การแข่งขันกีฬา/ดนตรี เช่น กิจกรรม TO BE NUMBER ONE
จัดตั้งเป็นเครือข่ายแกนนําเฝ้าระวังในหมู่บ้าน เช่น เป็นสายข่าวในพื้นที่ แจ้งข้อร้องเรียน แจ้งพื้นที่เสี่ยง ตามมาตรการป้องปรามและปราบปราม
ท้ายสุดว่าด้วยการการบําบัดฟื้นฟู ร่วมกับชุดปฏิบัติการประจําตําบล ประชาสัมพันธ์ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด สมัครใจเลิกยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบําบัดรักษาที่เหมาะสม
ภายใต้การกํากับดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือสถานพยาบาล รวมถึงเป็นเครือข่ายร่วมติดตาม เยี่ยมเยียน ให้คําปรึกษา และเป็นผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบําบัดรักษา ร่วมกับ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม.