ครม.ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2562 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เรื่อง ของ ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนและให้ใช้ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (โครงการนมโรงเรียนฯ)
2. เห็นชอบการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการนมโรงเรียนฯ จำนวน 4 ข้อ ดังนี้
(1) นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ
(2) เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถผลิตขายน้ำนมโคที่มีคุณภาพได้และมีความยั่งยืนในอาชีพ
(3) เพื่อสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษาในการดำเนินกิจการผลิตนมในลำดับแรก ซึ่งจะเกิดความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
(4) ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. สถานการณ์การผลิตและการเลี้ยงโคนมในปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลงจาก 15,724 ราย ในปี 2566 เป็นจำนวน 14,997 ราย ในปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมโคของทั้งประเทศลดลงจาก 1.026 ล้านตันต่อปี ในปี 2566 เป็น 1.011 ล้านตันต่อปี ในปี 2567 รวมทั้งจำนวนแม่โครีดนมยังมีแนวโน้มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลงจาก 244,292 ตัว ในปี 2566 เป็น 233,501 ตัวในปี 2567 ประกอบกับภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (Thailand - Australia Free Trade Agreement (TAFTA)) และความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวชีแลนด์ (Thaland-New Zealand Closer Economic Partnership (TNZCEP)) ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ประเทศไทย ต้องยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนย และนมและครีม ให้เป็นร้อยละ 0 ความตกลงดังกล่าวจึงผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมนมของไทยเนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมนมสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มจำนวนเด็กนักเรียนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักเรียนในโครงการนมโรงเรียนฯ ปี 2563 จำนวน 7,036,845 คน แต่ในปี 2567 กลับลดเหลือจำนวน 6,525,110 คน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจำนวนที่จะนำมาจัดสรรสิทธิโดยเฉพาะภาคสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษา (ตั้งแต่เริ่มโครงการนมโรงเรียนฯ ในปี 2562 มีแนวโน้มการได้รับสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนลดลงตามลำดับ)
2. เนื่องจากแนวโน้มภาคสหกรณ์โคนมรัฐวิสาหกิจและสถานศึกษาได้รับการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนลดลง รวมถึงการยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนยและนมและครีมให้เป็นร้อยละ 0 ส่งผลให้อุตสาหกรรมโคนมมีข้อจำกัดด้านการแข่งขันทางการตลาด ประกอบกับข้อมูลสถิติการเลี้ยงโคนมและเขตการบริหารราชการของกรมปศุสัตว์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการกระจายตัวของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไม่สัมพันธ์กับหลักโลจิสติกส์ โดยการทบทวนปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการจัดสรรสิทธิการจำหน่าย นมโรงเรียนในบางกลุ่มพื้นที่ที่มีปัญหาการขนส่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการดำเนินโครงการนมโรงเรียนฯ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนด้วย
3. การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ในประเด็นโครงสร้างระบบบริหารโครงการนมโรงเรียนฯ จากเดิมที่แบ่งกลุ่มพื้นที่ 5 เขตพื้นที่ เป็น 7 เขตพื้นที่ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งนมโรงเรียนได้อย่างมีประสเทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ ซึ่งเมื่อมีการแบ่งเขตใหม่จะสามารถช่วยลดระยะทางในการขนส่งนมโรงเรียนได้จากเดิมที่ต้องขนส่งระยะทางไกลที่สุด 1,191 กิโลเมตร เหลือเพียงแค่ 505 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตกลุ่มพื้นที่ใหม่นี้อาจจะไม่ช่วยทำให้จำนวนนักเรียนและจำนวนศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมีการกระจายตัวอย่างสมดุลในแต่ละกลุ่มพื้นที่มากนัก ซึ่ง กษ. สามารถทดแทนได้จากการรับนมของพื้นที่นอกเขต โดยปัจจุบันในแต่ละกลุ่มพื้นที่มีปริมาณนมยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนฯ ต่อวันเพียงพอต่อความต้องการในกลุ่มพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว