เมืองไทย 360 องศา
ถือว่าเริ่มมีสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อยๆแล้ว สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยคาดว่าการปรับคณะรัฐมนตรีดังกล่าว น่าจะมีขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือในช่วงปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าว กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมาย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ ขอความชัดเจนเรื่องกรอบจริยธรรม และนิยามคำว่า ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ว่า เรื่องจริยธรรมใช่ หรือไม่ จริงๆ เป็นสิ่งที่สร้างความชัดเจนเท่านั้นเอง เพราะของเดิมไม่ทราบว่าขอบเขตเป็นอย่างไร จริงๆ แล้วกฎหมายทุกเรื่อง อย่างเช่น วันนี้ตนจะคุยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเรื่องอะไรก็ตามต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อให้คนปฏิบัติจะได้ปฏิบัติได้อย่างชัดเจน เช่น ตำรวจจะได้รักษากฎหมายได้อย่างชัดเจน
ถามว่า เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับ ครม. ในโอกาสหน้าด้วยหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องจริยธรรมในการตั้งใครเข้ามา นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ อันนี้ไม่เกี่ยว ตอนที่ตนรับตำแหน่งนายกฯ การแต่งตั้งบุคคล เราก็ต้องเช็กประวัติเยอะมาก บางทีไม่ทราบด้วยว่าเคสนี้ควรจะได้หรือไม่ได้ มีความสับสนเยอะในการนำคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน สับสนเยอะ
“ใช่ๆ เพื่อทำให้เรามั่นใจมากขึ้น เพราะเราไม่อยากจะโดนเรื่องจริยธรรมหรือเรื่องอะไรแบบนี้” นายกฯกล่าวเมื่อถูกถามว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจน
มีรายงานว่าคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือตามคำแนะนำของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งคำร้องส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลระบุคำนิยามเรื่องคุณสมบัติของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี รวมถึงคุณลักษณะต้องห้ามฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) โดยใช้เหตุผล ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งไปต่อไป โดยมอบหมายให้ นายชูศักดิ์ ที่รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ทำหนังสือสอบถามความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าว เพราะรัฐบาล และครม.ต้องการความชัดเจนว่า นิยามหรือคำจำกัดความในเรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ที่บัญญัติว่า ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์กับต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัย ที่ 21/2567 หรือคำวินิจฉัยกลาง ในคดีนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 14 สิงหาคม 2567 ว่า ศาลมีคำจำกัดความหรือหลักการพิจารณาจากอะไร
การเตรียมส่งคำร้องดังกล่าวของรัฐบาลไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองว่า การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มีกระแสข่าวการปรับ ครม. ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น ที่คาดว่าจะปรับช่วงปิดสมัยประชุมสภา ประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย.68 ที่ถึงตอนนั้นเท่ากับรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทำงานมาได้ประมาณ 8-9 เดือน
โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงการตั้งรัฐบาล น.ส.แพทองธาร มีแกนนำพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอย่างน้อยสองคน ที่เป็นรัฐมนตรียุครัฐบาล นายเศรษฐา ที่ตอนตั้งรัฐบาล ฝ่ายพรรคเพื่อไทย เกรงว่าจะมีปัญหาในการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี จนทำให้ต้องเสนอชื่อเครือญาติ ไปเป็นแทน เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรฯ ที่สุดท้ายต้องส่งชื่อ น้องชายตัวเองคือ นายอัครา พรหมเผ่า อดีตนายกฯ อบจ.พะเยา ไปเป็น รมช.เกษตรฯ และ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ที่ส่งนางสาวซาบีดา ลูกสาวไปเป็น รมช.มหาดไทย แทน
อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่า หากรัฐบาลส่งเรื่องหรือคำร้องไปแล้ว ทาง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัย หรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง หรือการตอบข้อซักถามของฝ่ายบริหาร หรือ ครม.ในลักษณะการให้นิยาม หรือคำจำกัดความ ในคำวินิจฉัยกลางของทางศาลเองมาก่อน
หากสุดท้าย รัฐบาลส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ หรือส่งผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามข่าวที่ออกมา ทำให้เริ่มถูกจับตามองว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับหรือไม่รับเรื่องที่รัฐบาลส่งมา
ก่อนหน้านี้ คือเมื่อปี 2567 ปัญหาเรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ก็เคยมีนักการเมือง ไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว แต่ศาลไม่รับคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ นั่นคือ กรณีของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และเลขาธิการพรรคกล้าธรรม
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว ก็ยังเชื่อว่าคราวนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับพิจารณาอีก แต่ถึงอย่างไร หากมองในอีกมุมหนึ่งมันก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มในการปรับคณะรัฐมนตรีสูงมาก และยังมองออกอีกว่า หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี ครั้งต่อไป บุคคลที่ว่านี้ก็ย่อมได้รับการพิจารณาให้รับตำแหน่งในรัฐบาลอีกด้วย หลังจากก่อนหน้านั้นพวกเขามีปัญหา ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติ จนทำให้ไม่กล้าเสี่ยง
ขณะเดียวกัน เมื่อมองกันถึงเรื่องจังหวะเวลา และบรรยากาศทางการเมืองในเวลานี้แล้ว ก็เชื่อว่าการปรับคณะรัฐมนตรี ต้องเกิดขึ้นค่อนข้างสูงทีเดียว ในเรื่องเวลาก็ต้องถือว่า รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ผ่านการบริหารมานาน 8-9 เดือนแล้ว และหากพิจารณาจาก “แบ็กกราวด์” แล้ว สำหรับพรรคเพื่อไทยที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญสูงสุดแล้ว ก็มักจะมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เสมอ ทั้งด้วยเหตุผลการตอบสนองกับกลุ่มการเมืองภายในพรรค รวมไปถึง “กลุ่มทุน” ภายใน
แน่นอนว่าการปรับคณะรัฐมนตรี หากมีขึ้นหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่ฝ่ายค้านมีกำหนดยื่นญัตติ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นี้ และคาดว่าจะมีการ “ซักฟอก” หลังจากนี้ราวสองสัปดาห์ ซึ่งคาดว่าหนึ่งในเป้าหมายหลักก็คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่นเอง
แต่ถึงอย่างไร แม้ว่าจะถูกตั้งคำถามในเรื่องความรู้ความสามารถ การปรับเปลี่ยนเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี ต้องไม่เกิดขึ้นแน่นอน ด้วยเหตุผลที่พอเข้าใจได้ แต่สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากนั้น จะต้องเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง โดยเฉพาะจากสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย และภูมิใจไทย
เหตุผลทางการเมืองที่ว่านั้น สำหรับทั้งสองพรรคก็คือ หวังผลต่อการเลือกตั้งคราวหน้า ที่ทั้งคู่ต่างก็มีการแข่งขันแย่งชิงกันในหลายพื้นที่ และหวังกลับมาเป็นพรรคแกนนำ เริ่มจากพรรคเพื่อไทยที่เวลานี้กำลังถูกวิจารณ์ในเรื่องผลงาน สร้างความ “ผิดหวัง” ตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรีลงมา บรรดารัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่อยู่ในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย อย่างพรรคกล้าธรรม ที่เวลานี้ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจต้องถึงเวลาต้องเปลี่ยนตัวหรือเปล่า และหากศาลรัฐธรรมนูญตอบความเห็นกลับมา ก็ถือว่าเป็นไปได้สูง แม้ว่าจะมีโอกาสยกคำร้องสูงมากก็ตาม แต่หากมีความชัดเจนก็ต้องถือว่า “เปลี่ยนแน่” โดยให้จับตาไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล แม้ว่าตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคส่วนใหญ่ยังนิ่งไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากปรับก็ต้องหวังผลในการเลือกตั้ง เป็นการ “คุมโซน” ในพื้นที่ เช่น กรณีของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น รวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ต้องจับตาดูอีกครั้งว่ามีรัฐมนตรีมีรายชื่อถูกซักฟอกด้วยหรือไม่
ดังนั้นหากสรุปในเบื้องต้นเวลานี้ น่าจะมั่นใจได้มากว่าจะต้องมีการปรับครม. หลังจากการ “ซักฟอก” ผ่านไปแล้ว โดยเป้าหมายน่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยเอง และพรรคพันธมิตรในเครือข่าย เช่น พรรคกล้าธรรม รวมไปถึงพรรคภูมิใจไทยที่ต้องการสับเปลี่ยนบางตำแหน่งเท่านั้น แม้ว่าแต่ละพรรคจะมีเหตุผลรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน แต่ทั้งหมดเพื่อหวังผลการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นเรื่องหลัก !!