“คารม” ชี้ กคพ.เลื่อนพิจารณาปมฮั้วเลือก สว.ถูกต้องแล้ว เตือน 6 ประเด็นเสี่ยงข้อกฎหมาย หากดึงดันรับเป็นคดีพิเศษ จะสร้างปัญหาเป็นหนังอินเดีย
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 68 นายคารม พลพรกลาง ในฐานะนักกฎหมาย และอดีต สส.กล่าวว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2568 คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษได้มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) และได้มีมติให้เลื่อนการพิจารณาวาระดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาให้ข้อเท็จจริง เพื่อความชัดเจนในพิจารณารับหรือไม่รับเป็นคดีพิเศษ ว่า แม้ตนจะเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ตาม แต่เป็นนักกฎหมาย และแสดงเหตุในเชิงกฎหมาย และขอย้ำว่า ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย และไม่ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะรองโฆษกรัฐบาล แต่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นในฐานะนักกฎหมายเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตีความกฎหมาย และอาจนำมาซึ่งความยุ่งยากและวุ่นวายทางการเมือง และตนเคยแสดงความคิดเห็นไปหลายครั้งแล้วว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่มีอำนาจดำเนินคดีหรือไม่มีอำนาจสอบสวนเรื่องนี้
นายคารม กล่าวว่า ส่วนหลักการในเรื่องนี้คือกระบวนการที่ทำให้เกิดคดีอาญา เกิดจากกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเรียกว่าสรรหา หรือคัดเลือก หรือเลือกตั้ง ก็คือ การเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งนั้นจะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการจัดการ มีการพูดคุย มีการหาพวก คนหาพวกได้มากที่สุด ก็จะได้รับการเลือกตั้ง ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะตีความว่าการที่มีพวกเยอะเป็น “การฮั้ว” ก็ไม่น่าใช่เสียทีเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ต้องชี้แจงให้ได้ว่า 1. ลักษณะเป็นความผิดฐานอั้งยี่หรือไม่ 2. หากพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานะอั้งยี่ แล้วความผิดนี้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจรับหรือไม่
3. ถ้าหากจะรับแล้วจะหักล้างการรับรองการเลือกตั้ง สว.อย่างไร เพราะความผิดนี้เกิดจากกระบวนการเลือกตั้ง พิจารณาเบื้องต้นนอกจากจะต้องตีความว่าเป็นความผิดก็เป็นความผิดอาญาก่อน ที่มีต้นเรื่องจากการเลือกตั้ง ความผิดใดใด ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องอยู่ขบวนการเลือกตั้งนั้นเอง
นายคารม กล่าวว่า 4. ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ได้บัญญัติเกี่ยวกับการเลือก สว. เกี่ยวกับความผิดฐานฟอกเงินไว้ด้วย แต่ทำไมไม่ระบุฐานความผิดฐานอั้งยี่ใน พ.ร.บ,คดีพิเศษฯ 5. การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อ้างว่าการเลือกเป็นอั้งยี่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะรับเป็นคดีพิเศษ จะทำได้ไหม และ 6. ถ้ารับไปคนที่ลงมติไปจะมีปัญหา ว่าปฏิบัติหน้าที่ชอบไหม เพราะคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษมีสองอย่าง คือคดีพิเศษโดยแท้ ตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. กับคดีพิเศษ ที่ กคพ.มีมติให้รับ ถ้ามีมติให้รับโดยขาดหลักการเท่ากับมีการขยายความคดีพิเศษ แต่คดีอาญานั้น หลักการห้ามขยายความและขยายอำนาจของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ
“เพราะฉะนั้นการที่คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ ได้เลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป จึงถูกต้องและถ้าจะให้ถูกต้องและปลอดภัย ต้องมีมติไม่รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ไม่อย่างนั้น ปัญหานี้จะเป็นหนังอินเดีย ไม่ใช่หนังจีน เพราะหนังอินเดียยาวกว่าหนังจีน” นายคารม กล่าว