เมืองไทย 360 องศา
ตามกำหนดการเดิมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชน จะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ นี้ แม้ว่ายังไม่อาจสรุปวันเวลาวัน “ซักฟอก” ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อว่าคงหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์แน่
แต่ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันก็คือ ท่าทีล่าสุดของพรรคประชาชน ที่ประกาศว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ตลอดสมัยของสภาชุดนี้ นั่นคือหากจะร่วมรัฐบาลกันก็ต้องรอหลังเลือกตั้งใหม่ หรืออาจหลังเลือกตั้งปี 2570 ไปแล้ว
ที่บอกว่าน่าสนใจ ก็เนื่องจากว่า เป็นการประกาศท่าทีในช่วงที่มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นพรรคสำคัญในรัฐบาลกำลังปีนเกลียว และกำลังต่อรองผลประโยชน์บางอย่าง และมีการคาดหมายว่า มีความเป็นไปได้ที่พรรคแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทย จะสลัดพรรคภูมิใจไทยออกไป แล้วดึงพรรคประชาชนเข้ามาแทน โดยมีการอ้างอิงเรื่อง “ดีลลับ” ของระดับ “เจ้าของพรรค” ทั้งสองฝ่าย
แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ก็เป็นไปตามคาดหมาย เมื่อทั้งสองฝ่ายคือพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย มีท่าทีปรองดองกันได้ โดยแกนนำทั้งสองคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคและ นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจ ต่างแถลงแบบอารมณ์ดี ยืนยันไม่มีรอยร้าว โดย นายอนุทิน ย้ำว่าร่วม “รัฐบาลครบเทอม”
ที่ต้องบอกว่าไม่เกินความคาดหมาย เนื่องจากมองออกกันอยู่แล้วว่า ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏให้เห็นเป็นความขัดแย้งนั้น ถูกมองว่านั่นคือ “เกมต่อรอง” ผลประโยชน์ ไม่ให้อีกฝ่ายล้ำเส้นมากเกินไป และทุกอย่างก็จะหยุดนิ่ง ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แล้วค่อยเงียบหายกันไป เป็นเพราะทั้งสองฝ่ายต่างไม่อยากเสี่ยงให้รัฐบาลล้มลงหรือทำให้มีการยุบสภาก่อนกำหนด อีกทั้งยังมีปัจจัยภายนอกที่เชื่อมโยงกัน จากคดีความสำคัญ ผลการสอบสวนทั้งจากเรื่อง ชั้น 14 อีกทั้งผลงานของรัฐบาลยังไม่เข้าตา ยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมมันก็จะไม่คุ้ม
เมื่อวกมาที่ท่าทีของพรรคประชาชน ที่เพิ่งประกาศออกมาล่าสุดชัดเจนว่า ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยในสมัยรัฐสภานี้ โดยเป็นการยืนยันออกมาจากปากของหัวหน้าพรรค คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รวมไปถึง นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค และประธานวิปฝ่ายค้าน ดังนั้นก็ชัดเจนว่า ไม่ร่วมรัฐบาลแน่นอน
ขณะเดียวกันน่าจับตาก็คือ พวกเขาเดินหน้ายื่น “ซักฟอก” รัฐบาลทันที โดยมีการแย้มออกมาล่วงหน้าว่า งานนี้จะ “จัดหนัก” กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ “กระทบชิ่งไปถึง พ่อ” คือ นายทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย พร้อมทั้งกล่าวทำนองด้อยค่า นายกฯ ว่าไม่มีอำนาจจริง
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ขอให้รอดูทั้งตัวญัตติ รายชื่อรัฐมนตรี ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ บอกได้แค่ว่า ถ้าเปิดรายชื่อออกมาก็จะเห็นถึงความเข้มข้นร้อนแรงในการอภิปรายมากกว่าทุกครั้งแน่นอน
เขาย้ำว่า พรรคประชาชน เลือกอภิปราย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีจริงๆ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละครั้ง ย่อมต้องส่งแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ซึ่งพรรคประชาชนก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือการตอบชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาของรัฐมนตรีในสภาฯ มากกว่า ส่วนเกมการเมืองในฝั่งพรรคร่วม จะเป็นอย่างไร พวกเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
“หลายอย่าง เราไม่เห็นความชัดเจนจากตัวนายกฯ มีการโยนกันไปโยนกันมาระหว่างพรรคร่วมด้วยกันเอง ซึ่งประชาชนไม่อยากเห็น เราอยากเห็นนายกฯ ที่กล้าออกมาใช้อำนาจที่ตัวเองมี เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่สถานะตอนนี้ นายกฯ ก็ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจตัวจริง เลยไม่สามารถควบคุมเสียงในรัฐบาลได้ รอยร้าวที่เกิดขึ้นเกิดจากการต่อรองผลประโยชน์ การปัดความรับผิดชอบในพรรคร่วม” หัวหน้าพรรคประชาชน ระบุ
“เราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าใครเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงในการบริหารประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเป็นเวทีที่ทำให้นายกฯ ได้พิสูจน์ตัวเอง ถ้ามาตอบชี้แจงด้วยตัวเอง ก็จะมีภาวะความเป็นผู้นำมากขึ้นในสายตาประชาชน”
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ยืนยันว่า เราพร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง และให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจอีกครั้งว่าจะให้ใครเป็นผู้นำรัฐบาล ใครเป็นตัวแทนของพวกเขา
“จะเปลี่ยนขั้วหรือไม่เปลี่ยนขั้วก็ตาม พรรคประชาชนยืนยันว่าในสภาชุดนี้ เราไม่เข้าไปร่วมรัฐบาลแน่นอน” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
ก็ถือว่า เป็นท่าทีชัดเจนจากพรรคประชาชน ว่าไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยในตอนนี้ อย่างไรก็ดีหากให้ประเมินแล้ว มันก็ย่อมมีสาเหตุทางหนึ่งเห็นแล้วว่า เป็นเกมต่อรองผลประโยชน์ระหว่างสองพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าว ไม่ถึงขั้นแตกหัก ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งหากมองสถานการณ์กันตามเป็นจริงก็จะพบว่า เวลานี้พรรคประชาชนไม่ได้ร้อนแรงเหมือนเดิมแล้ว เงื่อนไขต่างๆทางสังคมก็เปลี่ยนไป จากบรรยากาศเงื่อนไขเด็จการสืบทอดอำนาจจบลง กระแส “ล้มเจ้า” แผ่วลง ซึ่งล่าสุดสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็เห็นแนวโน้มได้ไม่ยาก
อีกทั้งคงมองออกมาหาก “เปลี่ยนขั้ว” อีกครั้งไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่าง กลายเป็น “รองบ่อน” กว่าเดิม และด้วยบรรยากาศการทำงาน ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เข้าตา หากเข้าไปร่วมรังแต่ฉุดให้ถดถอยลงไปอีก โอกาสจะพลิกฟื้นกลับมาคงยาก
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มคงเห็นแล้วว่า หากร่วมรัฐบาล คงมีผลลบมากกว่าบวก มิสู้ฝากผลงานจากการ “ซักฟอก” รัฐบาล ให้เต็มที่ดีกว่า เนื่องจากชาวบ้านกำลังจับตามองกันว่าคราวนี้จะ “เอาจริง” หรือเปล่า เพราะหากออกมาแบบ “ปาหี่” ก็จบเห่เหมือนกัน ทำให้ต้องจับตากันว่า งานนี้จะกล้าแตะ “ลูกเถ้าแก่” หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่อง ผลงานการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ และกระทบชิ่งไปถึง “พ่อนายก” เพราะหากไม่เอาจริงก็โดนโห่ เหมือนกัน !!