"ทักษิณ" เผยลงพื้นที่ จชต.สวม 3 บทบาท ทั้งอดีตนายก-ที่ปรึกษา ปธ.อาเซียน-ผู้สนับสนุนรัฐบาล อยากเห็นสันติสุขเกิดขึ้น เตรียมนำปัญหาคนสองสัญชาติเข้าหารือเวทีอาเซียน พร้อมนำแนวทาง 66/23 มาปรับใช้ อ้างเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังได้คัยกับต่างชาติ ชี้เหตุบึ้ม 2 ครั้ง แค่ทำให้ตกใจ แต่ตนเฉยๆ โดนลอบฆ่ามาแล้ว 4 ครั้ง พร้อมขออภัยเหตุตากใบ การทำงานอาจผิดพลาดได้บ้าง
วันนี้ (23 ก.พ. 68) ที่ รร.สัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ว่า มีความตั้งใจที่อยากเห็นสันติสุขเกิดขึ้น ซึ่งจากบทบาทที่ปรึกษาประธานอาเซียน นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตนเองอยากเห็นความร่วมมือในพื้นที่และความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านเป็นหัวใจสำคัญ ในการคืนสันติสุขให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งในพื้นที่เราต้องมีการพูดคุยกันให้เข้าใจ ตนเองได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้นำประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องทุกคนอยากเห็นประเทศไทยและอยากเห็นอาเซียนมีความสงบสุข และได้มีการลงทุน การท่องเที่ยวกันมากขึ้น ฉะนั้นทุกคนร่วมมือกันหมด ซึ่งการร่วมมือตนเองมีความรู้สึกว่าเป็นการร่วมมือที่ไม่เคยได้รับมาก่อนเหมือนครั้งนี้เชื่อมั่นว่าเราน่าจะแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดีกว่าจากความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เมื่อถามว่าเรื่องที่จะนำไปหารือกับในประเทศอาเซียนนั้นมีเรื่องใดบ้าง นายทักษิณ กล่าวว่า ส่วนใหญ่คือเรื่องของการที่บุคคล 2 สัญชาติ ซึ่งไม่ผิดอะไรเป็นการข้ามไปข้ามมาเพื่อทำมาหากิน และไปเยี่ยมเยียนกันไม่เป็นไร แต่การข้ามไปข้ามมาในเชิงของเพื่อก่อการร้ายในประเทศได้แล้วไปหลบซ่อนนั้นเราได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดี
เมื่อถามถึงเรื่องของการนิรโทษกรรมนั้น นายทักษิณ กล่าวว่า เราต้องคุยกันก่อนหากเราคุยกันจบแล้วทุกสิ่งทุกอย่างสามารถปรับได้หมดว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะให้คนที่มีความผิดไปแล้วและสำนึกผิดได้กลับมาประเทศไทยอย่างเดิม แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกันอยู่อีกหลายขั้นตอนอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรกับการที่รัฐบาลมีการทบทวนที่จะใช้นโยบาย 66/2523 นายทักษิณ กล่าวว่า เป็นแนวที่เคยใช้สมัยก่อนก็ได้ผลดี แต่วันนี้อาจจะมีการพูดคุยกันในหลายๆ ฝ่ายแล้วก็ปรับให้เป็นไปได้ทุกอย่างเป็นไปได้
เมื่อถามว่าหลังจากไม่ได้ลงพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานมีเป้าหมายอย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า 20 กว่าปีก็อยากจะกลับมาเห็นว่าความรู้สึกของคนที่นี่เป็นอย่างไรทัศนคติที่จะเห็นความปรองดองสันติสุขเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรวันนี้เท่าที่ดูแล้วมันฟูขึ้นเยอะยิ่งตนเองไปประสานงานกับต่างประเทศด้วยมั่นใจว่ามันเป็นสิ่งที่หาข้อยุติได้ และรู้สึกดีใจเหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
เมื่อถามว่า พี่น้องจังหวัดสามชายแดนภาคใต้มองว่านายทักษิณเป็นแสงสว่างสุดท้าย และต้องรออีกนานแค่ไหน นายทักษิณ กล่าวว่า ไม่ต้องรอภายในปีนี้มันจะเห็นสัญลักษณ์ที่ดีขึ้นเยอะและปีหน้าน่าจะจบ
นายทักษิณ กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ตนเองมาใน 3 บทบาท ทั้งเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยที่มีลูกสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ตนเองมีความรู้สึกว่ายังทำงานไม่จบก็อยากจะเห็นสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากจะเห็นตรงนี้ให้จบ ซึ่งก็เอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสมัยก่อนที่เคยทำไปมาแชร์กันว่าเราควรปรับอย่างไร เพราะวันนี้ทัศนคติของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เบาลงขึ้นเยอะ เข้าใจขึ้นเยอะ
นายทักษิณ กล่าวย้ำว่า หลังจากนี้จะเห็นความชัดเจนในการตั้งคณะพูดคุยหรือการเดินหน้าต่อในการดำเนินการคืนสันติสุขให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภายในปีนี้ทุกอย่างคงเห็นได้ชัดขึ้นเพราะอดีตรองประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย นายยูซู ฟ ลัลลา ก็อาสามาช่วย และมีคนอาสาเข้ามาช่วยจากหลายๆ ที่
ส่วนตัวจะมีการเข้าพูดคุยด้วยตนเองหรือไม่นั้น นายทักษิณ กล่าวว่า แน่นอนตนเองจะพยายามอยู่ห่างๆ และให้คำแนะนำ แต่แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่เค้าต้องทำงานของเขาโดยตรง
มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าตัวเองจะเข้าไปอยู่ในคณะการพูดคุย นายทักษิณ กล่าวว่า “ไม่ครับ ผมแก่แล้ว”
ส่วนจะมีการถอนกำลังทหารลงหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า เราอย่าพึ่งพูดไปไกลหลังจากวันนี้ที่มีการพูดคุยกันอะไรที่จำเป็นก็อยู่ต่อไปอะไรไม่จำเป็นก็ไม่ควรอยู่
เมื่อถามถึงกรณีเกิดเหตุระเบิด 2 จุดก่อนที่จะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และที่ท่าอากาศยานจ.นราธิวาส เมื่อเช้านี้ เป็นการต้อนรับการมาครั้งนี้หรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า “เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ บางคนอยากทำให้ผมตกใจ แต่บังเอิญผมเป็นคนตกใจยาก ผมใจแข็ง ถูกลอบฆ่ามา 4 ครั้งแล้ว ยังเฉยๆ ไม่เป็นไร ใครจะต้อนรับวิธีไหน ผมรับได้หมด”
เมื่อถามถึงกรณีตากใบ คนในพื้นที่อาจจะยังคาใจ นายทักษิณกล่าวว่า “วันนี้ได้คุยกับผู้นำทางศาสนา ตอนที่ผมเป็นนายกฯ ผมมีความตั้งใจและห่วงใยพี่น้อง 100% แต่การทำงานมีความผิดพลาดได้บ้าง ถ้าผมมีอะไรผิดพลาด ที่ไม่เป็นที่พอใจ ก็ขออภัยด้วยครับ เพื่อเราจะได้หันกลับมาช่วยกันแก้ปัญหาด้วยกัน ไม่อยากให้มีความเกรงใจเล็กๆ น้อยๆ แต่พี่น้องมุสลิมถูกสอนมาว่า รักสันติสุข รู้จักให้อภัย เพราะฉะนั้นเมื่อเราขออภัยในสิ่งที่ผมอาจจะทำเป็นที่ไม่ถูกใจหรือผิดพลาดบ้าง ต้องขออภัยด้วยครับ”