xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ”ดับไฟใต้ สวรรค์หรือนรกรอบใหม่ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - ภูมิธรรม เวชยชัย
เมืองไทย 360 องศา

น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการกลับมามีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกรอบของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ เขาจะร่วมหารือกับทางฝ่ายความมั่นคงชุดใหญ่ นำโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คาดว่าจะมีการเสนอแนวทางในการ “ดับไฟใต้” และที่น่าจับตาก็คือมีเหตุผลอธิบายว่า มาในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน

นายภูมิธรรม เปิดเผยถึงกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ว่า "นายทักษิณ" จะลงพื้นที่ในฐานะเป็น "ที่ปรึกษาประธานอาเซียน" โดยจะนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้พูดคุยมาประกอบกับการลงพื้นที่ และตนในฐานะที่กำกับดูแลกองทัพภาคที่ 4 ตำรวจภูธรภาค 9 และ ศอ.บต. ก็จะไปร่วมรับฟังปัญหาด้วย ซึ่งหากมีประเด็นปัญหาก็จะได้นำมาดำเนินการ และส่วนตัวก็ไม่ได้มีอะไรที่ห่างไกลกับนายทักษิณ สามารถพูดคุยกันได้

ส่วนจะนำข้อมูลการลงพื้นที่ครั้งนี้ไปประกอบในยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมระบุว่า ยุทธศาสตร์ชายแดนภาคใต้ได้ดำเนินการมาถึงในระดับหนึ่งแล้ว รวมถึงในช่วง 2 วันที่ผ่านมาที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยในประเด็นเหล่านี้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดบ้าง ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกับกองทัพภาค 4 ส่วนหน้า มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงหลายระดับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดี และหลังจากนี้จะต้องมีการพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาในระดับกองพันขึ้นไป รวมไปถึงในระดับกองทัพภาค เพื่อนำแผนที่มีการปรับและทบทวนนำไปใช้ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และได้แจ้งไปว่าจะกลับมาที่พื้นที่อีกครั้งเพื่อพูดคุยกัน แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไม่ให้มีพิธีกรรมมาก จะเป็นในลักษณะการสนทนาวงเล็ก เพื่อนำเรื่องต่างๆ มาพูดคุยกัน ซึ่งตนได้ย้ำไปว่าไม่ได้ไปในฐานะผู้บังคับบัญชา แต่อยากไปในฐานะที่เป็นผู้ที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา

เมื่อถามว่าจากประสบการณ์ที่เคยผ่านเหตุการณ์ทางการเมือง มองอย่างไรหากมีการใช้นโยบาย 66/23 ในอดีต นายภูมิธรรมระบุว่าเป็นการย้อนหลังไปถึง 50 ปี แต่ก็มองว่าหากเรื่องใดที่เคยใช้ได้ ก็ต้องนำมาพิจารณา ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ของชีวิต แต่ก็ต้องดูว่าสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันหรือไม่ ส่วนใดที่เคยประสบความสำเร็จมาก ก็นำมาปรับใช้ แต่คงไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด

ส่วนความคืบหน้าร่างยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ที่ถูกตีกลับไปยัง สมช. เพื่อทบทวนนั้น นายภูมิธรรมย้ำว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้ว ก็จะได้นำไปสู่หน่วยงานในพื้นที่ แต่ยอมรับว่าอาจจะช้าไปบ้าง แต่เพื่อที่จะเปิดรับฟังจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยทำให้การทำงานในพื้นที่แม่นยำมากขึ้น

ก่อนหน้านี้มีภาพปรากฏ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน เฝ้าฯหารือสมเด็จพระราชาธิบดีบรูไน โดยมีนายอันวาร์อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ร่วมสนทนาด้วย

นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาภาคใต้ฉบับใหม่ หลังมีการส่งกลับมาให้สมช.ทบทวนว่า ในยุทธศาสตร์ใหม่มีหลายประเด็น โดยเฉพาะการนำผู้เห็นต่างกับเข้าสู่สังคม คล้ายกับนโยบาย 66/23 ยืนยันไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่จะใช้การเมืองนำการทหาร

พร้อมย้ำว่า เป็นเพียงกรอบแนวความคิดเท่านั้น เพราะยุทธศาสตร์ยังไม่แล้วเสร็จอยู่ระหว่างการแก้ไข เราตั้งใจจะทำให้เป็นระบบมากขึ้น แทนที่จะทำเฉพาะจุดหรือเฉพาะเรื่อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องมีการตรวจสอบกลุ่มเห็นต่าง แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ชัดเจน

ยืนยันว่ายุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาภาคใต้ฉบับใหม่ยังเป็นร่างและยังไม่ได้รับการรับรอง เพียงแต่เป็นการยกตัวอย่างว่ามีประเด็นอะไรบ้าง หากแล้วเสร็จจะทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น และยืนยันว่าคณะพูดคุยสันติสุขก็ยังคงมีอยู่ตามนโยบายใหญ่ที่กำหนดไว้

แน่นอนว่า การกลับมามีบทบาทในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้รอบใหม่ของนายทักษิณ ชินวัตร คราวนี้มาในตำแหน่งที่ปรึกษาประธานอาเซียน คือที่ปรึกษาของนายอันวาร์อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนโดยตำแหน่ง ถือว่าเป็นการหาความชอบธรรมในการแก้ปัญหา เนื่องจากด้วยแบ็กกราวด์เป็นอดีตนักโทษ ไม่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองและสมาชิกพรรคการเมือง

ดังนั้น ตำแหน่งของนายทักษิณ จึงมาในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายอันวาร์ที่รัฐบาลไทยในยุคพรรคเพื่อไทยดึงมาร่วมแก้ปัญหา เนื่องจากมาเลเซียมีชายแดนทางภาคเหนือติดกับไทย และมีแกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกบดานอยู่ในมาเลเซีย รวมไปถึงยังได้รับการสนับจากกลุ่มการเมือง และบางพรรคการเมืองท้องถิ่นที่นั่นด้วย

อย่างไรก็ดีหากโฟกัสไปที่ นายทักษิณ ชินวัตร โดยตรง และย้อน “แบ็กกราวด์” ในอดีตตั้งแต่ที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จนเรียกได้ว่า “ลุกเป็นไฟ” กันเลยทีเดียว โดยมี 3 เหตุการณ์สำคัญที่ยังต้องจดจำกันมา นั่นคือ "การปล้นปืนในค่ายทหาร เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และโศกนาฏกรรมตากใบ" ที่ทุกเหตุการณ์ดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นในปี 2547 ที่มีระยะห่างกันเพียงแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น แทบจะเปรียบเทียบได้ว่า “กองศพสูงเป็นภูเขา” กันเลยทีเดียว

หรือหากจะว่าไปแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งเหตุการณ์เผาโรงเรียน เผาสถานที่ราชการ และเหตุการณ์ปล้นปืน ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 และเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2545 จนกระทั่งลุกลามบานปลายในปี 2547 ที่มาพร้อมกับวาทกรรมของ นายทักษิณ กับคำว่า “โจรกระจอก” และ “ทหารสมควรตาย” ที่เขากล่าวหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในระลอกใหม่ ตามมาด้วยหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 เมษายน 2547 โดยในครั้งนั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการนับ 10 จุดของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ก็เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่ตากใบ ที่มีการชุมนุมและเกิดการสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

นั่นคือจังหวัดชายแดนใต้ในช่วงตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นยุคของรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่เรียกว่า “ลุกเป็นไฟ” มากที่สุด และการกลับมาอีกรอบของเขาเที่ยวนี้ โดยเข้ามามีบทบาทชี้นำแก้ปัญหา หลายคนหวังว่าเขาคงสรุปบทเรียน และรับรู้ข้อมูลที่ดีพอ ก่อนที่จะทำอะไรลงไป โดยหวังว่าเหตุการณ์ร้ายคงไม่กลับมาหลอนอีก!!


กำลังโหลดความคิดเห็น