เมืองไทย 360 องศา
เป็นไปตามคาดหมายตั้งแต่แรก สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ ว่าในที่สุดแล้วจะต้องถูกตีตกไป หรือโหวตไม่ผ่านในวาระแรกค่อนข้างแน่ เพราะเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศการประชุมที่เริ่มต้นวันแรก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่เป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ผลปรากฏว่า ไม่ทันไรก็ล่มกลางคัน เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ มีส.ส.แทบทุกพรรคไม่แสดงตน ไม่เข้าประชุม โดยเฉพาะจากพรรคภูมิใจไทย นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค รวมไปถึงพรรคอื่นๆ จนทำให้ต้องสั่งปิดประชุม และเลื่อนมาประชุมอีกครั้งในเช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์
ขณะเดียวกัน มีการมองกันว่า การที่บรรดาส.ส.และ ส.ว.จำนวนมาก ต่างวอล์กเอาต์ ไม่เข้าห้องประชุม ไม่กดบัตรแสดงตัว จนทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ต้องปิดประชุมกลางคัน เป็นเกมอย่างหนึ่ง เพราะก่อนหน้านั้นญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว.ที่เสนอให้เลื่อนญัตติด่วนเรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1 (2) ไม่ผ่าน ทำให้มีการพิจารณาไปตามวาระ คือ การอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ก่อนที่จะองค์ประชุมล่ม ในที่สุด
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงเป้าหมายที่แท้จริงแล้ว แม้ว่าจะมองออกไม่ยากว่า โอกาสผ่านวาระแรกนั้นยากมาก เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุดก็คือต้องใช้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 67 โหวตเห็นด้วยถึงจะผ่านได้ แต่ก่อนหน้านี้ทาง “ส.ว.สีน้ำเงิน” ซึ่งครองเสียงข้างมากในวุฒิสภามีท่าชัดเจนแล้วว่า ไม่เอาด้วย และหากแก้ไขก็ต้องมีการทำประชามติก่อนตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเอาไว้
นอกเหนือจากนี้ หากพิจารณาทางแท็กติกทางกฎหมายแล้ว เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย คงต้องการ “ลากยาว” ไปก่อน เพราะรู้อยู่แล้วว่า “ผ่านยาก” เพราะหากฝืนลงมติ ก็จะถูกตีตกในวาระแรก และหมดโอกาสที่จะกลับมาเสนอแก้ไขใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้น จึงเห็นว่า มีส.ส.คนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติของ “หมอเปรมศักดิ์” ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา
โดยในรายชื่อมีทั้ง สส. จากพรรคเพื่อไทย อาทิ นายสรวงศ์ เทียนทอง, นางมนพร เจริญศรี, นพ.เชิดชัย ตันติศิรนทร์ และพรรคกล้าธรรม อาทิ นายไผ่ ลิกค์, นายอรรถกร ศิริลัทธยากร, นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา เป็นต้น ซึ่งหลายคนร่วมลงชื่อกับ สว. แสดงความสนับสนุนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยชี้แจงว่า จากที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา มีสส.หลายคนทักท้วงเกี่ยวกับญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ดังนั้นจึงเห็นว่าเพื่อความมั่นใจ และความสบายใจของทุกฝ่าย ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความให้ชัด เพราะอย่างไรถึงลงมติกันไป ร่างแก้ไจรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ผ่าน อีกทั้งเสียงสนับสนุนจากสว. ก็คงไม่ครบ เพราะพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังที่องค์ประชุมล่ม ขณะที่มีการพิจารณาวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และ เพิ่มหมวด 15/1 โดยนายสุทิน กล่าวว่า ขอยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยมีเจตนารมณ์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ และแก้ให้ได้มุ่งต่อความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแต่ได้แก้ ตามนโยบายที่ให้ไว้แล้วมาแสดงว่าได้แก้แล้ว จบไม่จบ ได้ไม่ได้ เรื่องนั้นไม่ใช่ เพราะเรามุ่งหวังความสำเร็จสถานการณ์จึงเกิดวันนี้ขึ้น โดยหลังจากที่เราพยายามได้ยื่นมาหลายรอบ แต่เมื่อยื่นแล้วก็ยังมีข้อกังขาว่าประธาน จะบรรจุหรือไม่บรรจุนั่นคือความคลุมเครือ และเป็นปัญหามาตลอด และรู้ดีว่าจะเป็นปัญหาต่อไป
นายสุทิน กล่าวว่า เมื่อร่างดังกล่าวถูกบรรจุเข้าสู่สภาแล้วนับวันที่จะพิจารณาคือที่ 13-14 ก.พ. เราก็พยายามที่จะประสานงานทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ นั่นคือ เสียงพรรคร่วมรัฐบาล และเสียงของ สว. เมื่อเราทำเต็มที่และขอความร่วมมือเต็มที่แล้วจากการประเมิน เมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) พบว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านนั้นยาก โอกาสตกสูง โอกาสที่จะผ่านแทบไม่มี ซึ่งเมื่อไม่มีโอกาส เราจะทำอย่างไร จะจำนนต่อสถานการณ์โดยเราจะเสนอ และพิจารณากันไปปล่อยให้โหวตแล้วให้ตกหรือไม่ หากทำแบบนั้น คือความล้มเหลวและเราทราบดีว่าความล้มเหลวรออยู่แล้ว
ดังนั้น เราจึงแสวงหาอีกวิธีหนึ่งที่พอจะมีความหวัง คือ ขอให้ร่างได้อยู่ในสภายังไม่ตก คือเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัย ร่างก็ยังอยู่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา เราก็มีโอกาสสำเร็จ เราก็จะเดินหน้า แต่หากไม่เป็นคุณ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาในทางแก้ไม่ได้ ก็จะได้ชัดเจนว่า แก้ไม่ได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย ก็เกิดความเห็นที่ต่างกัน เช่น ต้องทำประชามติกี่รอบ และสมาชิกรัฐสภา ก็เกิดความกังวลว่าพิจารณาและลงมติจะถูกตัดสิน หรือดำเนินคดีหรือไม่ เพราะมีตัวอย่าง ต้องยอมรับว่า มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยไม่มั่นใจในสถานะ หากอยู่ประชุมทางที่ดี คือยื่นศาลฯให้ตีความ เชื่อว่าไม่เกิน 1 เดือน และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตีความมาแล้ว ความหวังเรายังมี วันนี้เราจึงสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. แต่เมื่อญัตตินี้แพ้ต่อสภา เราก็ต้องพิจารณากันต่อ เราก็มองเห็นคำตอบอยู่ข้างหน้าว่า เมื่อไปข้างหน้าก็ตก ฉะนั้นเราจึงปรับวิธีการต่อสู้เพื่อให้บรรลุผลของเรา
“วันนี้จึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้ร่างนี้ไม่ตก และให้อยู่นานที่สุด นั่นคือองค์ประชุมถ้าไม่ครบ ก็ประชุมต่อไม่ได้ ก็จะมีเวลาในการตั้งหลัก เพื่อที่จะกลับมาสู้เพื่อเป้าหมายอีกครั้ง ดีกว่าดันทุรังไปว่า พิจารณาไปแล้ว แล้วไปตายข้างหน้านั้น เราไม่เอา ฉะนั้น จึงเกิดเหตุการณ์ในวันนี้ เร็วมาก เราจึงคิดว่าทำยังไงให้ร่างนี้อยู่ และยืดชีวิตต่อไปได้ เพื่อนสมาชิกบางคนบางพรรคอาจจะมองเข้าใจผิด เรามีเจตนาเพื่อที่จะผลักดันให้สำเร็จ ถ้าเดินทางตรงไม่ได้ ก็ขอเดินทางโค้ง หากทางโค้งยังไม่สำเร็จขอหยุดการเดินทางไว้ก่อน ดีกว่าเดินไปตกเหว” นายสุทิน กล่าว
เมื่อท่าทีของพรรคเพื่อไทยออกมาชัดเจนว่า สนับสนุนให้ยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่เหลืออีกหนึ่งวันนั้น มั่นใจว่า “องค์ประชุมล่ม” อีกตามเคย เพราะได้เห็นเจตนาของพรรคเพื่อไทยแล้ว ว่าต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อหวังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “คา” อยู่ในสภา ยังไม่ตกไป ขณะที่ตัวเองก็ลดข้อครหาว่าแก้รัฐธรรมนูญแบบขอไปที อีกทั้งหากจะว่าไปแล้ว ตัวเองก็ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญปัจจุบันอยู่แล้ว จึงไม่อยากแก้ไขนัก เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมาช่วงหาเสียงบรรยากาศ “เผด็จการ” พาไป จึงต้องโหนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มาหาคะแนนนั่นแหละ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากันในภาพรวมแล้ว ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะมี “แท็กติก” แบบไหนก็ตาม แต่มั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสำเร็จได้ยาก โดยเฉพาะหากต้องผ่านด่าน ส.ว.ที่ต้องพึ่งพาเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามหรือ 67 เสียง อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ที่เวลานี้ชาวบ้านไม่ได้สนใจกันแล้ว เพราะพวกเขาต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องปากท้อง มีเพียงพวกนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น !!