เมืองไทย 360 องศา
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การ ทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2567 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ที่ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มอาเซียนคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 84 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก
โดยได้คะแนนลดลงจากปีที่แล้วที่ได้ 35 คะแนน ขณะที่อันดับ 1 คือ ประเทศเดนมาร์ก ได้คะแนนสูงที่สุด 90 คะแนน, อันดับ 2 คือประเทศฟินแลนด์ ได้ 88 คะแนน อันดับ 3 ของโลกคือ ประเทศสิงคโปร์ ได้ 84 คะแนน และเป็นประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มอาเซียนคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 84 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก
ทั้งนี้ ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เป็นดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความสำคัญต่อนักลงทุนหรือนักธุรกิจในการประเมินความเสี่ยงหรือใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการเข้ามาลงทุนในแต่ละประเทศ ซึ่งดัชนีดังกล่าวสำรวจโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1993 มีสถานะ เป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริต
ผลจากการรายงานดัชนีชี้วัดการทุจริตในประเทศไทยที่ “แย่ลง” แทบจะรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแนวโน้มการทุจริตคอร์รัปชันมีความใกล้เคียงกับ ลาว กัมพูชา และเมียนมาแล้ว
นายสมชาย แสวงการ อดีต ส.ว.ได้รายงานเปรียบให้เห็นภาพ โดยเชื่อมโยงไปถึงความคิดในเรื่องนโยบายจะอนุญาตให้มีคาสิโนและพนันออนไลน์ถูกกฎหมายโดยอ้างแบบสิงคโปร์โมเดลนั้นจะทำได้อย่างไร
ในเมื่อดัชนีทุจริตคอร์รัปชันโลกที่ประกาศออกมาล่าสุดนั้น แทบเรียกได้ว่าห่างชั้นกันจนเทียบไม่ติด สิงคโปร์เลื่อนคะแนนความโปร่งใสไร้ทุจริต สูงขึ้นไปถึง84คะแนนสูงสุดติด อันดับ3ของโลก ขณะที่ไทยถอยร่นรั้งท้ายคะแนนต่ำสุดในรอบ 12 ปี เหลือเพียงแค่ 34 คะแนน อันดับ107ของโลก มีคะแนนต่ำกว่าสิงคโปร์ถึง 50 คะแนน ห่างชั้นกันถึง104 ลำดับ
หากนับตำแหน่งกันในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยอาการน่าเป็นห่วงมากเพราะนับวันคะแนนยิ่งถดถอย ขณะที่สิงคโปร์ดีวันดีคืนขึ้น ติดอันดับ 3 ของโลก ครองอันดับ1 ในอาเซียนมาตลอด ตามมาด้วยอันดับ2 คือมาเลเซีย ที่มีคะแนนสูงขึ้นเป็น50คะแนนแซงไทยทิ้งขาดไปแล้ว อันดับ3 เวียดนามที่เคยสูสีกับไทย ก็มีคะแนนทิ้งห่างไทยสูงขึ้นไปถึง 40 คะแนนเช่นกัน
อันดับ 4 อินโดนีเซียที่มีคะแนนใกล้ไทยในอดีต ยังคงขยับขึ้นไปเล็กน้อยที่37คะแนน
ส่วนไทยได้อันดับ5 ด้วยคะแนนถดถอยรั้งท้าย เหลือเพียง34คะแนน ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้านกลุ่มด้อยพัฒนา อันดับ 6 ลาว ที่มีคะแนนห่างจากไทยแค่1คะแนน ได้33 คะแนน และอันดับ7 ฟิลิปปินส์ ที่มีคะแนนเท่ากับลาว 33 คะแนน เช่นกัน
คงไม่ต้องไปเทียบอันดับ 8 กัมพูชา 21 คะแนนหรืออันดับ 9 เมียนมาร์ 16 คะแนน ที่ห่างไกลรั้งท้ายมาก
เมื่อพิจารณารายงานจาก ฐานคะแนนที่ทำให้ประเทศไทยอันดับลดลงมากมีที่มาจาก 4 แหล่ง นั้นคืออะไร
1) IMD หรือการติดสินบนหรือการทุจริตมีอยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใด คำตอบคือ คะแนนที่ลดลงมากถึง7คะแนนจาก 43 คะแนนในปี 2566 เป็น 36 คะแนน สะท้อนภาพชัดเจนมากๆว่า การติดสินบนและการทุจริตสูงขึ้นมากๆ
2)WEF หรือการที่ภาคธุรกิจต้องจ่ายสินบนในกระบวนการต่างๆมากน้อยเพียงใด คำตอบคือคะแนนลดลง2คะแนนจาก 36 คะแนนในปี 2566 เป็น 34 คะแนน
แต่หากย้อนดูไปถึงปี2565 มาเปรียบเทียบกับปี2566 และ2567ด้วยจะเห็นได้ว่า คะแนนลดลงจาก45คะแนนต่อเนื่องมาที่36คะแนนและ34คะแนน ลดไปแล้วถึง11คะแนน แสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจต้องจ่ายสินบนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
3)EIU หรือความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ คำตอบคือ คะแนนลดลง2คะแนนจาก 37 คะแนนในปี 2566 เป็น 35 คะแนน แสดงให้เห็นถึงการใช้จ่ายงบประมาณในภาครัฐที่อาจมีการทุจริตมากขึ้น แต่กลับมีความโปร่งใสน้อยลงและตรวจสอบได้ยากขึ้น
4) GI หรือการดำเนินการทางธุรกิจต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากเพียงใด คำตอบคือ คะแนนลดลงถึง3คะแนน ลดลงจาก 35 คะแนนในปี 2566 เป็น 32 คะแนน แสดงให้เห็นถึงการประกอบธุรกิจมีส่วนร่วมหรือต้องเผชิญกับปัญหาการทุจริตที่มากขึ้น
ดัชนีทุจริตประเทศไทย ยังไปไม่ถึงไหน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ได้ถึง 50 คะแนน แต่ผลที่ออกมากลับลดลงเรื่อยๆ ความหมายคือการทุจริตยิ่งมากกว่าเดิม จนอยู่กลุ่มรั้งท้ายของโลก เทียบชั้นประเทศด้อยพัฒนาแล้ว
เมื่อพิจารณาจากตัวเลข 4 แหล่งดังกล่าวทำให้เห็นภาพชัดทันทีว่า ไม่ว่าการติดสินบน การจ่ายใต้โต๊ะ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐล้วนแล้วแต่น่าเป็นห่วง เพราะมีอัตราเพิ่มขึ้น แบบกว้างขวาง
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากนโยบายหลักของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังไม่มีมาตรการในการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย ตรงกันข้ามมีแต่เรื่องที่น่าพิรุธ สงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และหากเทียบเคียงกับกรณี “เทวดา ชั้น 14” ก็ย่อมมองได้ว่านั่นคือการ “ทุจริต” ในรูปแบบหนึ่งได้เหมือนกัน
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากบางนโยบายอย่างเรื่อง “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ที่เปิดทางให้มี “บ่อนการพนัน” ถูกกฎหมาย พนันออนไลน์ รวมไปถึงนำธุรกิจผิดกฎหมายขึ้นมาบนดิน ยิ่งส่อให้เห็นถึงแนวโน้มการทุจริตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมอบายมุข ไม่สมควรเป็นข้ออ้างในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันขาด
และยิ่งอ้างอิง “คาสิโน” ในสิงคโปร์ เป็นต้นแบบ ยิ่งถือว่าห่างไกลนัก เพราะจากผลรายงานการทุจริตยังห่างกันสุดกู่ เพราะเขาติดอันดับสามของโลก ขณะที่ไทยแทบรั้งท้ายในเรื่องการทุจริต ติดสินบน ดังนั้นแทบมองไม่ออกว่า จะจัดการกับเรื่องการทุจริตประพฤตมิชอบได้อย่างไร
ดังนั้นผลจากการรายงานเรื่องดัชนีการทุจริตคอร์รัปชันที่ออกมาล่าสุด อีกด้านหนึ่งเหมือนกับการ “ตบหน้า” รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ฉาดใหญ่ และเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วมีความเป็นไปได้สูงที่จะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ อันจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน กระทบต่อเศรษฐกิจ และยิ่งมีนโยบายส่งเสริม “คาสิโน” พนันออนไลน์ ก็ยิ่งเห็นภาพ “สีเทา” และ “สีดำ” ชัดเจนขึ้นไปอีก !!