เมืองไทย 360 องศา
อีกไม่กี่ชั่วโมง คือวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมรัฐสภาก็จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกร่างใหม่ แต่เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้แล้ว ถือว่าเป็นไปได้ยากถึง “ยากมาก” อีกทั้งเป็นเพียงแค่การนำเสนอแค่สนองความอยากของการเมืองเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
สำหรับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ ที่ถูกบรรจุในระเบียบวาระมีอยู่สองฉบับคือร่างของพรรคประชาชน กับของพรรคเพื่อไทย แม้ว่ามีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย แต่หลักๆแล้วก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งเพื่อความเข้าใจง่ายก็คือต่างมีการเสนอแก้ไข มาตรา 256 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่ปัญหาก็คือ เมื่อมี สสร.ที่กำหนดว่าต้องมาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน มาร่างฉบับใหม่ แต่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วว่า ต้องทำประชามติก่อน และหลังจัดทำเสร็จแล้ว ส่วนที่มีการถกเถียงกันว่าจะทำประชามติถามชาวบ้านกี่ครั้ง รวมไปถึงหากมีการลงประชามติต้องใช้เป็นแบบ “สองชั้น” ด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ในการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในวาระแรกหรือขั้นรับหลักการต้องใช้เสียงสนับสนุนของ ส.ว.ไม่น้อยว่า 1 ใน 3 หรือ 67 คน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากท่าทีของ ส.ว.ส่วนใหญ่ในเวลานี้ต่างชัดเจนว่า “ไม่เอาด้วย” โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพียงแค่สนองความต้องการของนักการเมืองบางกลุ่ม บางพรรคเท่านั้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมาย อีกทั้งยังเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการทำประชามติก่อน
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเคยเป็นอดีตเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เห็นว่า โอกาสที่จะผ่านน่าจะยาก เพราะยังมีปัญหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับจำนวนครั้งในการออกเสียงประชามติ ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันจนมีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการเพิ่มมาตรา 256/1 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฉะนั้นจะต้องประชามติสอบถามประชาชนก่อน จนทำให้ที่ประชุมรัฐสภาที่เคยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256/1 ต้องชะลอไป แต่ครั้งนี้ก็ยังมีปัญหาการพิจารณาว่า รัฐสภาสามารถพิจารณาได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงมติของสมาชิกรัฐสภา หากสมาชิกรัฐสภาลงมติก็อาจถือว่าเข้าข่ายมีความผิดทันที เพราะกระทำการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และตนเองก็มั่นใจว่า ในประเด็นนี้ จะต้องมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
นายนิกร ยังกล่าวถึงกรณีที่อาจจะมีผู้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก โดยเห็นว่า มีความเป็นไปได้เพราะทราบว่าที่จะมีการเสนอ แต่ใครจะผู้เสนอ เพราะวุฒิสภา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยื่น เพราะหากไม่ลงคะแนนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่า จบปัญหา หรือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยื่น เพราะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง ดังนั้นตนจึงยังเชื่อว่า จะมีผู้ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่ทราบว่า ใครจะเป็นผู้ยื่น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีประเด็น หากพิจารณาเสร็จแล้วสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติไปแล้วก็สุ่มเสี่ยงที่ผิดจริยธรรมได้
ขณะเดียวกัน นายนิกร กล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคประชาชนว่า พรรคชาติไทยพัฒนา จะไม่ลงมติให้ เนื่องจาก มีการแก้นัยยะสำคัญในมาตรา 256 (8) ที่ไปเปิดช่องให้สามารถแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ได้ ซึ่งขัดกับหลักการของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ที่พรรคชาติไทยพัฒนา จะไม่ลงมติให้แน่นอน และหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาชนเสนอในร่างแก้ไข ในวาระแรกที่ให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยเสียงวุฒิสภา 1 ใน 3 ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายแม่ ต้องไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย แต่จะถึงขั้นแก้ไขไม่ได้เหมือนปัจจุบันคงไม่ได้ รวมถึงยังมีปัญหาทางการเมืองเกี่ยวกับที่มาของ ส.ส.ร.200 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะมีการเมืองเข้ามาควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตนจึงมั่นใจว่า การแก้ไขครั้งธรรมนูญครั้งนี้ยากถึงยากมาก
ส่วนหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องจัดการออกเสียงประชามตินั้น นายนิกร กล่าวว่า ว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็ยังรอการพิจารณา ซึ่งคาดว่า อย่างน้อยคือในช่วงก.ค.นี้ ถ้าระหว่างมีการพิจารณารัฐธรรมนูญจะต้องก็จะต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority ซึ่งมีกลไกทางเทคนิคเยอะแยะ ความเห็นของตนคือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงเข้ามาเพื่อที่จะลองว่าเผื่อจะทำได้ ตนก็อยากถามว่าถ้าเผื่อทำไม่ได้บ้าง เพราะถ้าสมมติผ่านเท่ากับว่าประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ วุฒิสภาเขาจะสนับสนุน หากไม่สนับสนุนเขาจะตอบประชาชนลำบาก เพราะไม่ใช่เชิงกฎหมายแต่เป็นเชิงการเมือง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่าในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มีการนัด สส.เพื่อประชุมร่วมกัน และฟังความเห็นจากทีมกฎหมายพรรคด้วย และเท่าที่ทราบมีสมาชิกหลายคนกังวลประเด็นดังกล่าว ฉะนั้นเวลาเห็นอะไรขัดแย้งกันก็ต้องยิ่งให้ความสำคัญ เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งบอกทำได้แต่อีกฝ่ายบอกทำไม่ได้ถ้าอย่างนี้ยุ่ง และเมื่อความเห็นต่างกันก็ต้องหาความเห็นอื่นๆมาประกอบ
“เราไม่เสี่ยงหรอกครับเรื่องพวกนี้ ถ้ามันมีความเสี่ยงแม้แต่น้อย และมันไม่ใช่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ หรือ ครม.เสนอ และเป็นเรื่องของแต่ละพรรค เมื่อเรามีความเห็นของตัวเอง ก็แปลว่าเราไม่ได้เป็นทีมเดียวกัน เราก็ต้องรักษาเอกสิทธิ์ ก่อนย้ำว่าเราไม่อยากมีความเสี่ยงแม้แต่น้อย“
นั่นเป็นท่าทีชัดเจนของพรรคร่วมรัฐบาลนอกเหนือจาก ส.ว.กลุ่มใหญ่แล้ว ยังมี พรรคภูมิใจไทย และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา จากความเห็นข้างต้นของ นายนิกร จำนงค์ รวมไปถึงท่าทีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ย้ำว่าไม่เอาด้วย
เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้วถือว่า “ผ่านยาก” ถึงยากมากดังกล่าว และที่สำคัญต้องใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ในวาระแรกถึง 67 เสียง ก็น่าจะเห็นแล้วว่าผลจะออกมาแบบไหน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงความผิดด้านจริยธรรมจากการกระทำที่เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่า หากร่างฉบับใหม่ต้องมีการลงประชามติก่อน
ดังนั้นไม่ว่า ทางพรรคประชาชน โดยเฉพาะ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค จะพยายามกดดันให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอให้เป็นร่างของรัฐบาล ก็คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเมื่อเสนอแบบนี้กลายเป็นร่างของพรรคการเมือง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลต่างมีอิสระในการลงมติ ซึ่งต่างก็เห็นท่าทีชัดเจนกันไปแล้ว
นอกเหนือจากนี้เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศแล้ว การสืบทอดอำนาจ พวกเผด็จการนั้นจางลงไปแล้ว มีแต่เรื่องปากท้อง ที่ชาวบ้านต้องการให้เร่งแก้ไข ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องรัฐธรรมนูญไกลตัว ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และสิ้นเปลือง และที่สำคัญเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะด้วยนักการเมือง ส.ส.แบบเดิมเข้ามาอีกหรือไม่ จึงกล้าฟันธงว่า ยาก !!