xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ชี้คะแนนCPIปี 67 ไทยลด เหตุไม่โปร่งใสใช้งบภาครัฐเสี่ยงเจอสินบน ปราบทุจริตไม่พอ-เอื้อทุนใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป.ป.ช.ชี้คะแนนCPIปี 67 ของไทยลด เหตุความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ นักลงทุนเสี่ยงถูกเรียกรับสินบน รัฐให้ความสำคัญนโยบายปราบทุจริตไม่เพียงพอ ซ้ำบางนโยบายเอื้อทุนใหญ่

วันนี้ (11ก.พ.) นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 รักษาราชการแทน รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงกรณี องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2024 (พ.ศ. 2567) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทย ได้ 34 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผลการสำรวจการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยดังกล่าวเป็นการประเมิน จากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง และประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 5 แหล่ง ลดลง 4 แหล่งนั้น มองว่า
คะแนนที่ได้เพิ่มขึ้น 5แหล่งเนื่องจากมุมมองของผู้ประเมินทั้งจากผู้ตอบแบบสอบถามและผู้เชี่ยวชาญมีมุมมองว่า ภาครัฐได้แสดงออกให้สาธารณชนเห็นอย่างชัดแจ้งในการตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะการเน้นย้ำในความเคร่งครัด เอาจริงเอาจัง ในการบังคับใช้กฎหมาย การผลักดันให้หน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลดปัญหาสินบนในการอนุมัติ อนุญาต การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนระยะเวลามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีมาตรการ ส่งเสริมให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีความโปร่งใส รวมทั้งการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน การแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างกว้างขว้าง ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง

นอกจากนี้มุมมองของผู้ประเมินต่อการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายตุลาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายทหารและ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยการถือปฏิบัติตามนโยบายงดรับ ของขวัญและของกำนัลจากการปฏิบัติหน้าที่ การรณรงค์ให้แยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและ ผลประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงการยึดมั่นในมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคำนึงถึง ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว เนื่องจากภาครัฐมีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางที่ ชัดเจนและต่อเนื่องในการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือใช้ดุลยพินิจขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

ส่วนแหล่งข้อมูลที่คะแนนลดลง จำนวน 4 แหล่งนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจาก มุมมองของผู้ประเมินในประเด็นเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการใช้จ่าย งบประมาณภาครัฐ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการบริหารงบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ โดยมีกรณีสำคัญ เช่น นโยบายประชานิยม การนำงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล การใช้จ่ายอย่างไม่สมเหตุสมผล หรือขาดความคุ้มค่า ส่งผลให้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลต่อการบริหารงานของรัฐ แต่ยังส่งผลกระทบ ต่อภาพลักษณ์ด้านธรรมาภิบาลของประเทศ ประกอบกับมุมมองของนักลงทุนที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ที่เห็นว่ายังคงมีความเสี่ยง เพิ่มขึ้นที่จะต้องเผชิญกับการเรียกรับเงินหรือการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในการประกอบธุรกิจ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน โดยบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการ อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และความพยายามในการพัฒนาระบบและ ขั้นตอนในการอนุมัติ อนุญาต ของหน่วยงานต่าง ๆ ก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ตอบแบบสอบถาม ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีความเชื่อมั่นการดำเนินการดังกล่าว และเห็นว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดการรับรู้ในเชิงลบ

รวมทั้งมุมมองของผู้ประเมินในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจเห็นว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับ การแก้ไขปัญหาการทุจริตไม่เพียงพอ ซึ่งจากข่าวการทุจริตที่ปรากฏจากสื่อต่าง ๆ เช่น คดีที่สร้าง ความเสียหายให้แก่ประชาชนเป็นวงกว้าง และมีข้าราชการ นักการเมือง เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับ การกระทำความผิด ที่ยังไม่มีกลไกการตรวจสอบ ดำเนินคดี หรือลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริต อย่างรวดเร็ว และไม่มีการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย ตลอดจนการดำเนินนโยบายบางนโยบาย อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนหรือบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งมีข่าวเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ การประเมินคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพรวม สถานการณ์คอร์รัปชันในแต่ละประเทศผ่านมุมมองของผู้ประเมิน โดยในการยกระดับคะแนนดัชนี การรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยนั้น ผู้นำประเทศและรัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงทางการเมือง ในการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตร่วมกับ ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

"ข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ที่ได้ให้ไว้จากการประกาศคะแนนในครั้งนี้ คือ ทุกประเทศควรสร้างกระบวนการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตไม่ให้ถูกคุกคามหรือมีการแทรกแซงโดยใช้อิทธิพลในการกำหนดนโยบายในระดับชาติและระดับนานาชาติ ต้องสร้าง ความโปร่งใสและสภาพแวดล้อมที่ดีในการกำหนดนโยบายและการจัดสรรเงินงบประมาณ เสริมสร้าง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริตร่วมกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ งบประมาณการดำเนินโครงการ รวมทั้งข้อมูลการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ โดยการต่อต้านการทุจริตต้อง ส่งเสริมแนวคิดการดำเนินการด้วยความซื่อตรง และความรับผิดรับชอบซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมในการต่อต้านการทุจริตที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น"

นายศรชัย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่องค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่จะส่งเสริมการยกระดับคะแนน CPI ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินการเรื่องตรวจสอบและไต่สวนให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการยื่นบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาระบบตรวจสอบทรัพย์สิน ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบทรัพย์สิน การส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผ่านชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต การจัดทำและพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การพัฒนาการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการ ดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) การพัฒนาการดำเนินการของศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. และการเสนอมาตรการ ข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการสื่อสารสร้างความเข้าใจในกลุ่มภาคเอกชน กลุ่มนักลงทุนและ ชาวต่างชาติที่ต้องเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการขออนุมัติ อนุญาต การนำเข้าส่งออก การขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ชายแดน เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการ ดำเนินงานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในเรื่องที่กระทบ ต่อสาธารณชนในวงกว้าง และประสานการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการดำเนินงาน ในการส่งเสริมการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น