เปิดผลสำรวจครอบครัวไทยร้อยละ 96 หวั่น"บุหรี่ไฟฟ้า"กระทบลูกหลาน เครือข่ายภาคปชช.ชี้อันตรายยิ่งกว่าPM 2.5 จี้รัฐ-สภาคงกม.ห้ามนำเข้า ผลิต จำหน่าย และเร่งปราบปราม ด้านกมธ.สภาเตรียมชง3แนวทางให้ที่ประชุมพิจารณามี.ค.นี้
วันนี้(10ก.พ.)เครือข่ายครอบครัวปลอดบุหรี่ สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ และศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ร่วมกันแถลงข่าว"ครอบครัวไทยเป็นห่วงลูกหลาน..หลงรักคงกฎหมาย 'แบนบุหรี่ไฟฟ้า'เรียกร้องเร่งปราบให้สิ้นซาก"
โดยผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เตรียมนำผลการศึกษา 3 แนวทางหลัก คือ 1. การคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ (Total Ban) 2.การอนุญาตเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products) และ 3. การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบถูกกฎหมาย(Full Legalization) เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรประมาณเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายสุขภาพ และเครือข่ายครอบครัว ได้มีการศึกษาข้อมูลความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ได้ผลสำรวจตรงกันว่าต้องการให้รัฐบาลคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย บุหรี่ไฟฟ้า และ เร่งปราบปราบบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายทั้งหน้าร้าน และออนไลน์ จึงอยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวอีกว่า ตนเข้าใจว่าสส.มาจากการเลือกของประชาชนก็อยากได้ทั้งกล่องชื่อเสียงและอยากได้ทั้งผลประโยชน์ก็อาจจะมองว่าตอนนี้ก็มีการสูบ มีการซื้อขายกันง่ายๆอยู่แล้ว ถ้าเช่นนั้นก็ทำให้ถูกกฎหมายจะได้นำเงินภาษีเข้าประเทศ แต่ในข้อเท็จจริงบุหรี่ไฟฟ้าจะขายผ่านออนไลน์โดยเฉพาะแพลตฟอร์มจากต่างประเทศถ้าต่ำกว่า 1,500 บาทไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย ดังนั้นที่รัฐหวังจะมีรายได้จากการเก็บภาษี จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ ตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้เด็กซื้อมากขึ้น และส่งผลให้ตัวเลขคนที่ป่วยจากบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นและเร็วขึ้น ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องแบกรับกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น บวกลบคูณหารแล้วคิดว่าไม่คุ้มกัน
" ดังนั้นคนที่เป็นสส.หรือรัฐบาลต้องมองให้กว้างถึวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับคนในประเทศกับการสร้างรายได้ให้กับประเทศ เราอยากมีผู้บริหารที่คิดการสร้างรายได้ให้ประเทศด้วยวิธีที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ ไม่ใช่หวังรายได้จากการขายสิ่งเสพติดให้กับคนในประเทศ สส.และผู้บริหารประเทศ จะมองแค่บางจุดหรือผลประโยชน์ส่วนตัวแค่เล็กๆน้อยๆ เช่นคิดว่าตัวเองสูบบุหรี่แล้วถ้าจะมาออกกฎหมายควบคุมก็เหมือนตัวเองทำผิดกฎหมาย จะคิดแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งก็อยากให้สส.พยายามเลิกเพราะเราอยากทุกคน แข็งแรงมีอายุยืนยาวจะได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนได้มากๆ
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวว่า มีงานวิจัยพบว่าฝุ่นพิษหรือPM 2.5ที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่า PM 2.5ทั่วๆไปซึ่งมีระดับที่120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรก็ถือว่าอันตรายแล้ว แต่ฝุ่นพิษ
ที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าตั้ง 220 กว่าไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าระดับฝุ่นพิษในกทมเกือบ 10 เท่า
เคยมีการวัดค่าPM 2.5 ในห้องประชุมที่ใช้จัดอีเว้นท์ และมีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่ามีค่าPM 2.5 ที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าทิ้งอยู่ภายในสูงกว่าตั้ง 819 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มันรุนแรงยิ่งกว่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั่วไป ฉะนั้นมันเกี่ยวข้องกันหมด เมื่อข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเราจึงเห็นว่าสส.หรือรัฐบาลไม่ควรทำให้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายเลย
"เราคาดหวังว่าเมื่อปัญหามันหนักหน่วงขนาดนี้ และเรามีกฎหมายห้ามนำเข้า ผลิต จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า อยู่แล้ว เราจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร มันเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงมากซึ่งเรามีนายกรัฐมนตรีไว้สำหรับบูรณาการการเแก้ไขปัญหาที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งทำไม่ได้ ฉะนั้นจึงอยากเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีซึ่งท่านก็เป็นผู้หญิงและเป็นคุณแม่ ท่านคงไม่อยากให้ลูกได้รับควันหรือไอบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเด็กๆเข้าโรงเรียน เพราะตอนนี้จากที่เราสำรวจพบว่าในห้องเด็ก 80%สูบบุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากเพื่อนทุกคนสูบ มันเป็นค่านิยมเมื่อก่อนคนสูบบุหรี่อาจจะเป็นเด็กหลังห้องเพราะเรียนไม่ดี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่กลายเป็นเด็กหน้าห้องที่สูบเพราะมันเท่ มันหรู มันหอม มันเลิศ ฉะนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกๆของท่านรัฐมนตรี ท่านสส.จะติดบุหรี่ไฟฟ้าไหม อยากขอร้องว่าเมื่อเราเห็นถึงพิษภัยแล้วก็ไม่ควรที่จะออกกฎหมายที่เป็นการเอื้อให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย"
ด้านนางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ประธานเครือข่ายครอบครัวปลอดบุหรี่ ระบุว่าได้ร่วมกับสมาคมเครือข่าย พัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ สำรวจความเห็น “ครอบครัวไทยคิดอย่างไรต่อบุหรี่ไฟฟ้า” ระหว่างวันที่ ่ 4 – 11 ม.ค. 68 ผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น3,428 คน คิดเป็นร้อยละ 79 เป็นเพศหญิงร้อยละ 80 อยู่ในวัยทำงาน อายุ 31-60 ปี ร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นผู้สูงอายุและเด็กกระจายตัวทุกภูมิภาคทั่วประเทศใกล้เคียงกัน ผลการสำรวจพบว่าครอบครัวส่วนใหญ่ร้อยละ 79 มีความกังวลมากต่อการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในเด็กและเยาวชนไทย รองลงมาร้อยละ 17 มีความกังวลระดับปานกลาง และมีเพียงร้อยละ 4 ที่ตอบว่ากังวลน้อย นั่นคือร้อยละ96 ของครอบครัวมีความกังวลว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะแพร่ระบาดมาถึงลูกหลานตน และร้อยละ33 คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเจาะเข้าถึงบุตรหลานของตนอย่างแน่นอน ร้อยละ 40 คิดว่ามีโอกาสครึ่งต่อครึ่ง ขณะที่ร้อยละ 19 คิดว่ามีโอกาสไม่เกินร้อยละ 10 ที่บุหรี่ไฟฟ้าจะเข้าถึงบุตรหลานของตน
ทั้งนี้เมื่อถามว่าวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้เด็กเยาวชนปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร ครอบครัวส่วนใหญ่ ร้อยละ 74 เห็นว่าต้องปราบปรามกระบวนการขายให้สิ้นซาก ร้อยละ 22 คิดว่าต้องฉีดวัคซีนความรู้ให้แก่เด็ก เยาวชนให้ทั่วถึง มีครอบครัวเพียงร้อยละ 4 ที่เสนอว่าให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ฉะนั้น โดยรวมแล้ว ร้อยละ 96 ของครอบครัวไม่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และขอให้รัฐบาลขจัดให้สิ้นซาก
"ผลการประมวลข้อมูล ออกมาว่าครอบครัวไทยเป็นห่วงและกังวลอย่างมาก และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะก่อให้เกิดโทษต่อเยาวชนและมีผลกระทบทางสังคมอย่างมาก บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสียเวลาและงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะเป็นการทำลายลูกหลาน และเท่ากับรัฐบาลกำลังมอมเมาประชาชนและเยาวชน ทำลายอนาคตของชาติ"
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่มากขึ่นของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐที่ไม่ได้ตั้งใจป้องกัน ช่วยเหลือ แก้ไขหรือเยียวยาเด็กและเยาวชนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นเป็นข้อเท็จจริงที่ครอบครัวมีความกังวลเป็นอย่างมาก และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพราะขนาดไม่ถูกกฎหมายก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง
“หากรัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับเยาวชน การพิจารณา อย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของผู้แทนประชาชนที่จะแสดงความจริงใจในการปกป้องสิ่งที่มีคุณค่าและมีมูลค่าที่สุดในการพัฒนาประเทศ นั่นคือเยาวชนของเรา”
น.ส.ณัฐนพิน บุญจริง หนึ่งในผู้ปกครองที่ลูกใช้บุหรี่ไฟฟ้า ระบุว่า วัยรุ่นมีความคิดเป็นของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง แต่วุฒิภาวะและการตัดสินใจยังมีน้อย ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาตอนนี้สุขภาพของลูกไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน ภูมิคุ้มกันลดลง ป่วยง่าย แทนที่เมื่อลูกเติบโต จะแข็งแรง กลับตรงกันข้าม บางครั้งหยิบยืมเงินแม่เนื่องจากเงินไม่พอใช้ สิ่งที่แม่พยายามทำเพื่อช่วยลูก คือการพยายามทำความเข้าใจ สื่อสาร บอกถึงอันตรายที่มีต่อสุขภาพ แสดงความเป็นห่วง แม่รู้ว่าคนสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นคนชั่วร้าย แต่ผลิตภัณฑ์ต่างหากที่อันตราย มุ่ ่งเป้าไปที่เด็ก เยาวชน หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ทั้งที่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมาย ก็ทำอะไรไม่ได้ และการที่รัฐบาลจะทำให้ถูกกฎหมาย เป็นความอันตรายเป็นหลายร้อยเท่า
“ทุกวันนี้ ลูกก็พูดอยู่บ่อยๆว่า ใครๆ เค้าก็สูบกัน ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ และรัฐบาลกำลังทำให้สิ่งเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเรื่องปกติ ซึ่งแม่รับไม่ได้”