เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นางพัชรี วัฒนวิชัยกุล ตัวแทนกลุ่มโรงผลิตนมโรงเรียนภาคเอกชน พร้อมผู้ประกอบการกว่า 20 คน เข้าพบนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือเรื่องหลักเกณฑ์การแบ่งโควต้านมโรงเรียน
นางพัชรี กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งขึ้นในปี 2567 มีความไม่เป็นธรรม เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯให้สหกรณ์ได้สิทธินมโรงเรียน 50% และภาคเอกชนได้ 50% ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ออกโดยคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีการแต่งตั้งอนุกรรมการหลักเกณฑ์นมโรงเรียน ซึ่งสหกรณ์บางแห่งไม่สามารถรับโควต้าได้ทั้งหมดเนื่องจากในพื้นที่มีปริมาณน้ำนมดิบน้อยกว่าโควต้าที่ได้รับ จึงมีการจัดให้สหกรณ์จากเขตอื่นขึ้นมารับสิทธิในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น สหกรณ์ฯหนองโพ , สหกรณ์ฯกำแพงแสน , สหกรณ์ฯพัทลุง , สหกรณ์ฯอ่าวน้อยประจวบคีรีขันธุ์ และสหกรณ์ฯชะอำห้วยทราย
ซึ่งตามหลักเกณฑ์เดิมโรงงานในเขตพื้นที่ 2 และ 3 ที่อยู่ภาคอีสาน ก็ได้รับการจัดสรรสิทธิจำหน่ายตรงตามเขตพื้นที่อยู่แล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้สหกรณ์บางแห่ง เมื่อได้รับสิทธิแล้วไม่สามารถผลิตนมเองตามที่ได้รับจัดสรรสิทธิ์ได้ เช่น สหกรณ์ฯไทยมิลค์ และสหกรณ์ฯมวกเหล็ก ได้นำสิทธิที่ได้รับจัดสรรแล้วไปสละสิทธิให้บริษัทเอกชนบางแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ แบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมจะต้องสละสิทธิลงส่วนกลางเพื่อให้คณะกรรมการเขตนั้น จัดสรรให้หลายโรงงานเพื่อความเป็นธรรม
"โดยหลักเกณฑ์ที่ออกมาให้ อ.ส.ค. ที่เป็นภาครัฐมาจัดสรรสิทธิร่วมอยู่กับเอกชน คือต้องการสกัดให้เอกชนได้โควต้ารับจัดสรรสิทธินมโรงเรียนน้อย เพื่อให้สหกรณ์ได้โควต้ามากกว่าจำนวนจริง ซึ่งหลักเกณฑ์ ประจำปี 2567- 2568 นั้น ไม่คุ้มครองให้กับโรงงานเล็กจนทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และให้เอานมที่ออกจากโรงงานเล็กไปเพิ่มยอดให้สหกรณ์" ตัวแทนกลุ่มโรงผลิตนมโรงเรียนภาคเอกชน กล่าว
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนและตัวแทนจึงขอให้คณะกรรมการ ปปช.ตรวจสอบประธาน คือนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรรมการอีกหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย 1.อธิบดีกรมปศุสัตว์ 2.ผู้แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ 3.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 4.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 5.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 6.ผู้ทรงคุณวุฒิ