xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” สับสวิตช์ตัดไฟข้ามแดน 5 จุด เผยเสียรายได้ปีละ 600 ล้าน แต่คุ้ม ไม่หวั่นโดนฟ้องผิดสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อนุทิน” เข้าสำนักงานใหญ๋ กฟภ.สับสวิตช์ตัดไฟ 5 จุดชายแดนไทย-เมียนมา ตามคำสั่ง สมช.หลังกระทบความมั่นคง เผย เสียรายได้ปีละ 600 ล้านบาท คิดเป็น 1% ของรายได้ ถือว่าคุ้ม ไม่หวั่นโดนฟ้อง เพราะทำตามเงื่อนไขสัญญา กระทบความมั่นคงตัดไฟได้

วันนี้ (5 ก.พ.) ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA หรือ กฟภ.) สำนักงานใหญ่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กดปุ่มตัดไฟฟ้า 5 จุด ที่พบข้อมูลว่ามีการนำไฟฟ้าไปใช้ไม่เป็นไปตามสัญญา ส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ


มี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ การตัดไฟ ทั้ง 5 จุด เป็นระบบสั่งการอัตโนมัติควบคุมระยะไกล ซึ่งทันทีที่กดปิดระบบ แผงวงจรที่แสดงบนหน้าจอปุ่มจ่ายไฟจากสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และจำนวนวัตต์ที่จ่ายไฟจะเปลี่ยนเป็น 0 แอมป์ ทันที

โดยทยอยตัดทีละจุด เริ่มที่จุดแรก โดยในเวลา 09.00 น. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เริ่มตัดไฟ เริ่มจากจุด 1 จุดซื้อขายบริเวณบ้านพระเจดีย์สามองค์-เมืองพญาตองซู รัฐมอญ 2. จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 3. จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านเหมืองแดง-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 4. จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2-เมืองเมียวดี และ ในจุดที่ 5 จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านห้วยม่วง-เมืองเมียวดี


ซึ่งจุดสุดท้าย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมากดสวิตช์ปิดกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเองในเวลา 09.34 น. รวมการตัดกระแสไฟฟ้าทั้ง 5 จุด 20 เมกะวัตต์

โดยภายหลังตัดกระแสไฟฟ้า นายอนุทิน กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทำการตัดกระแสไฟฟ้าไปยังประเทศรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 5 จุด ตามมติของที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ได้มีการประชุมไปเมื่อวานนี้ ซึ่ง นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามและมีหนังสือสั่งการมายัง กฟภ.ให้ดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้า ตามกำหนดเวลา 09.00 น. ซึ่งเราเป็นผู้ปฏิบัติเมื่อมีข้อสั่งการที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการได้ทันที

ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการตั้งคำถาม ทำไมกระทรวงมหาดไทยไม่ตัดกระแสไฟฟ้า ต้องบอกว่ามันอยู่นอกเหนืออำนาจ แต่เมื่อ สมช. มีการประชุมและมีมติออกหนังสือคำสั่งออกมาเราก็ดำเนินการทันที ตามที่ตนและปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยบอกไว้ว่า บทบาทหน้าที่ของเราเป็นอย่างไร เท่ากับว่ าตอนนี้กระแสไฟฟ้าที่ถูกส่งจากไทยไปประเทศเมียนมาได้ถูกยุติลงแล้ว


ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า การอนุญาตให้ขายไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การจะตัดกระแสไฟฟ้าก็ควรรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี แม้ว่าเรื่องนี้จะดำเนินการไปแล้วตามมติ สมช. ก็ยังต้องเสนอแจ้งให้นายกรัฐมนตรีให้รับทราบส่วนจะมีการเสนอให้ ครม. รับทราบหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่าน เพราะเรื่องนี้ยังมีมติที่ต่อเนื่องเพิ่มอีกมากมายหนึ่งในนั้นคือ ให้กระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้า ศึกษามติ ครม. ที่อนุญาตให้ขายไฟฟ้าเพื่อทบทวนและปรับปรุงแก้ไข เกี่ยวกับเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ซึ่งในอดีตยังไม่มีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอให้ ครม. พิจารณาพิจารณา

ยืนยันว่า นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เคยสั่งระงับการจ่ายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน แต่สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปติดตามสืบสวนสอบสวนว่ามีการใช้ไฟฟ้าที่ไทยส่งให้เมียนมาไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หากมีก็ให้ดำเนินการตัดไฟ ซึ่ง กฟภ. ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้ว

หากทางการเมียนมาติดต่อประสานขอซื้อไฟฟ้าใหม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ วันนี้รัฐบาลสั่งให้หยุดเพราะเมียนมานำกระแสไฟฟ้าไปใช้ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อไทยด้วย เขาจึงต้องไปแก้ไขและต้องมีการเจรจาใหม่

กระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งว่า จะเป็นผู้ไปประสานกับรัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดกระแสไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามสัญญาข้อที่ 14 ที่กำหนดว่าหากจ่ายไฟฟ้าไปแล้วเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานและความมั่นคงของชาติไทยสามารถงดจ่ายไฟได้


เมื่อถามว่า เกรงจะถูกคู่สัญญาฟ้องหรือไม่ นายอนุทิน ยืนยันว่า การไฟฟ้าทำตามสัญญา เมื่อพบว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งทางด้านพลังงานและความมั่นคงของชาติ ก็สามารถหยุดการจ่ายไฟได้ตามเงื่อนไขสัญญา

ส่วนที่ นายภูมิธรรม อ้างว่า กฟภ. มีอำนาจในการตัดไฟเองได้เลยนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับตนมองว่าไม่ใช่ นี่ไม่ใช่การโยนกันไปโยนกันมา กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ไปขอให้ นายกฯ และรองนายกฯ สั่งการ แต่เป็นไปตามขั้นตอน กฟภ. มีหน้าที่ในการจ่ายไฟ แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการประเมินว่ามีผลต่อความมั่นคงของประเทศหรือความมั่นคงทางพลังงานหรือไม่

ซึ่งการตัดไฟฟ้าในครั้งนี้ตัดไฟฟ้าไปทั้งหมด 20 เมกะวัตต์ เสียรายได้ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้การขายไฟทั้งหมดรวม 600,000 ล้านบาทต่อปี


ในส่วนนี้จึงไม่ถึง 1% แต่แค่นี้ ถือว่าคุ้มเพราะรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และเราไม่ได้ล่าช้า ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า มีการขายไฟฟ้าให้กับประเทศกัมพูชา และมั่นใจว่า จะใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นเมื่อไหร่ให้ถาม สมช.

นายอนุทืน ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า การตัดกระแสไฟฟ้าจะช่วยสกัดกั้นการก่ออาชญากรรมข้ามชาติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้มากน้อยแค่ไหน แต่เป็นการทำตามคำสั่ง ซึ่งทราบว่า ทางเมียนมารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวที่จีนไปตั้งบริษัท ซึ่งถือเป็นการทำผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องไปดูแลจัดการกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับเราที่จะมากล่าวหาได้ว่าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก่อให้เกิดสิ่งผิดกฎหมาย

นายอนุทิน ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นเรื่องความมั่นคงและการรับข้อสั่งการจากรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายนโยบาย ไม่ใช่การเมืองหรือประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตนยืนยันเรื่องนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เป็นประเด็น ซึ่งตนบอกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีข้อสั่งการที่ถูกต้องตามกฎหมาย กฟภ.จะดำเนินการทันที


















กำลังโหลดความคิดเห็น