วุ่นอีก! “มหาดไทย” รับลูก กกต.แจ้งจังหวัด/อำเภอ/ท้องถิ่น ทั่วประเทศ เร่งตรวจสอบข้อมูลพื้นที่รองรับ “เลือกตั้งสภาเทศบาล-นายกเทศมนตรี” หลัง กกต.แจ้งข้อมูล “การแบ่งเขตเลือกตั้งเทศบาล” บางพื้นที่ ไม่สามารถดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ พบตัวอย่างปัญหาใน จ.เชียงราย ตําแหน่งตัวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เกือบ 4,000 ราย ไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาล กกต.เชียงราย กังวลอาจมีผลต่อการคํานวณผลต่างระหว่างเขตเลือกตั้งตามที่กฎหมายกําหนด โดย กกต.กลาง มีมติให้ชะลอการจัดทําและประกาศรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเทศบาล จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แน่ชัด
วันนี้ (3 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดการเลือกตั้งในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในกรณีของสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ทั่วประเทศ
ล่าสุด พบว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ ด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด
ขอความอนุเคราะห์แจ้งแนวทางปฏิบัติ กรณีสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดทางภาคเหนือแห่งหนึ่ง ตรวจสอบพบว่า ตําแหน่งของตัวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มิได้อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในกรณีของเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
ภายหลัง กระทรวงมหาดไทย เคยได้มีหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดหลายจังหวัด กรณีพบว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง อปท.บางแห่ง ไม่สามารถดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ในเขตจังหวัด
ดังนั้น เพื่อให้การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภา อปท.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอความร่วมมือจังหวัดแจ้งอําเภอทุกอําเภอ และ อปท.ทุกแห่งพิจารณาดําเนินการกรณีดังกล่าว
มีรายงานว่า เมื่อปลายเดือน ม.ค. สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับหนังสือหารือจากสํานักงาน กกต.ประจําจังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
กรณีตรวจสอบพบว่าตําแหน่งของตัวบ้านมิได้อยู่ในเขต อปท. โดยประกอบ ไปด้วยจํานวนราษฎร 3,579 คน อันมีผลต่อการคํานวณผลต่างระหว่างเขตเลือกตั้งตามที่กฎหมายกําหนด
กรณีชุมชน บ้านดอย ชุมชนห้วยปลากั้ง และชุมชนทวีรัตน์ (บางส่วน) หมู่ที่ 3 ตําบลริมกก อําเภอเมืองเชียงราย เนื่องจาก ปรากฏข้อเท็จจริงอยู่ในข้อมูลของจํานวนราษฎรตามประกาศทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย
และมีคณะกรรมการตรวจสอบ ยืนยันแนวเขตร่วมกันของเทศบาลนครเชียงราย เทศบาลตําบลแม่ยาว และเทศบาลตําบลบ้านดู่ จากการตรวจสอบแนวเขตของเทศบาลทั้งสามแห่งดังกล่าว ได้รับแจ้ง ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องของเทศบาลทั้ง 3 แห่ง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเขตของ อปท.ตามสภาพภูมิประเทศจริง แต่ไม่สามารถยืนยัน หรือชี้ชัดได้ว่าแนวเขตการปกครองติดต่อกัน ที่ถูกต้องระหว่าง เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลตําบลแม่ยาว และเทศบาลตําบลบ้านดู่ นั้น อยู่ตรงบริเวณ จุดใด
2. แจ้งว่า ได้นําประชากรที่อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ตามประกาศพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขต เทศบาลเมืองเชียงราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2538 (จํานวน 67,653 คน) มาคิดคํานวณการแบ่งเขตการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงรายและนายกเทศมนตรีนครเชียงราย
(ยกเว้น ประชากรใน ชุมชนบ้านดอย ชุมชนห้วยปลากั้ง และชุมชนทวีรัตน์ (บางส่วน) ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 3 ตําบลริมกก อําเภอเมืองเชียงราย) ไม่นํามา คํานวณในการแบ่งเขตฯ (เพราะอยู่นอกเขตพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงราย)
ทั้งนี้ เทศบาลนครเชียงราย ได้แสดงข้อมูลจํานวนบ้านที่มิได้ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ดังนี้
บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตําบลแม่ยาว รวมประชากร จํานวน 2,300 คน ได้แก่ 1) ชุมชนบ้านดอย มีผู้อยู่อาศัย 551 หลังคาเรือน ไม่มีผู้อยู่อาศัย 229 หลังคาเรือน
2) ชุมชนห้วยปลากั้ง มีผู้อยู่อาศัย 196 หลังคาเรือน ไม่มีผู้อยู่อาศัย 181 หลังคาเรือน 3) ชุมชนทวีรัตน์ ไม่มีข้อมูล ทั้งผู้อยู่อาศัย และไม่มีผู้อยู่อาศัย
ขณะที่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตําบลบ้านดู่ รวมประชากร จํานวน 700 คน ชุมชนห้วยปลากั้ง มีผู้อยู่อาศัย 191 หลังคาเรือน ไม่มีผู้อยู่อาศัย 125 หลังคาเรือน
ทั้งนี้ ในส่วนของเทศบาลตําบลบ้านดู่ ไม่ปรากฏรายละเอียดข้อมูลการดําเนินการเกี่ยวกับ ผลการตรวจสอบแนวเขตพื้นที่แต่อย่างใด
สรุปได้ว่า จากการตรวจสอบแนวเขตของเทศบาลทั้งสามแห่ง ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปเป็นแนวทางเดียวกัน
“ข้อหารือ คือ ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัด จะสามารถชะลอการจัดทําและการประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ลสมาชิกสภาเทศบาล จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แน่ชัดได้หรือไม่” รายงานจากหนังสือหารือจากสํานักงาน กกต.ประจําจังหวัดเชียงราย ระบุ
ซึ่ง กกต.กลาง พิจารณาแล้ว เห็นว่า หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจํานวนราษฎรดังกล่าว มีผลต่อการคํานวณผลต่างจํานวนราษฎรระหว่างเขตเลือกตั้งตามที่กฎหมายกําหนด
“ให้ดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว และหากปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่า ตัวบ้านอยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลใด ให้ประสานสํานักทะเบียนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของกฎหมายทะเบียนราษฎร”
โดยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องโดยเร็ว เพื่อให้การดําเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลประกอบไปด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด.