xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ” มนตร์เสื่อม “อนุทิน” ยิ้มร่าแผนใต้ดินได้ผล “พรรคส้ม” เริ่มตาสว่าง กับผลการเลือกนายก อบจ. ** รู้จัก“เฮง-วีระเดช” พรรคส้ม หนึ่งเดียวผู้ปักธง นายกอบจ.ลำพูน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - อนุทิน ชาญวีรกูล - วีระเดช ภู่พิสิฐ
ข่าวปนคน คนปนข่าว




++ “ทักษิณ” มนต์เสื่อม “อนุทิน” ยิ้มร่าแผนใต้ดินได้ผล “พรรคส้ม” เริ่มตาสว่าง กับผลการเลือกนายก อบจ.

การเลือกตั้งท้องถิ่น คือ การเลือกนายก และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา รู้ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว

ต้องยอมรับว่าบรรยากาศการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ คึกคักกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นตัวเร่ง ลงพื้นที่ ขึ้นเวทีปราศรัย ช่วยผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย มีการโยงการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งสส. แถมสร้างสีสันระบายอารมณ์ ใส่บรรดา“ขาประจำ” ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามด้วยภาษานักเลงโต

ขณะที่พรรคประชาชน ก็หมายมั่นว่า จะใช้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นฐานการเลือกตั้ง สส.ครั้งต่อไปเช่นกัน จึงยกขบวนออกเดินสายปราศรัย เปิดหน้าสู่กันอย่างดุเดือด

ทักษิณ ชินวัตร
ส่วนพรรคภูมิใจไทย แม้จะไม่ได้ส่งผู้สมัครในนามพรรค เพราะ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค อ้างว่าเป็นรองนายกฯและรมว.มหาดไทย ต้องวางตัวเป็นกลาง ไปขึ้นเวทีหาเสียงไม่ได้ ... แต่เป็นที่รู้กันว่า มีการ สนับสนุนผู้สมัครในหลายจังหวัด ทั้งพื้นที่อีสานใต้ อีสานชายโขง ภาคเหนือ รวมทั้งภาคใต้บางจังหวัด ... เรียกว่า พรรคภูมิใจไทย “เปิดเกมสู้ใต้ดิน”

ผลการเลือกตั้งนายกอบจ. ที่ออกมา ปรากฏว่า “พรรคเพื่อไทย” กวาดที่นั่งได้มากสุดคือ 10 ที่นั่ง ประกอบด้วย นายพิชัย เลิศพงศอดิศร จ.เชียงใหม่, น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร์ จ.ลำปาง, นายอนุวัธ วงศ์วรรณ จ.แพร่, นายนพรัตน์ ถาวงศ์ จ.น่าน, นางยลดา หวังศุภกิจโกศล จ.นครราชสีมา, นางนฤมล สัพโส จ.สกลนคร, นายวุฒิไกร ช่างเหล็ก จ.หนองคาย นายพลพัฒน์ จรัสเสถียร จ.มหาสารคาม, นายอนุชิต หงษาดี จ.นครพนม และ นางณภาภัช อัญชสาณิชมน ภรรยาสจ.โต้ง จ.ปราจีนบุรี

อนุทิน ชาญวีรกูล
ส่วน “พรรคภูมิใจไทย” ได้ 9 ที่นั่ง ได้แก่ นายวิชิต ไตรสรณกุล จ.ศรีสะเกษ, นายภูษิต เล็กอุดากร จ.บุรีรัมย์ , นางแว่นฟ้า ทองศรี จ.บึงกาฬ, นายพนัส พันธุ์วรรณ จ.อำนาจเจริญ , นางอรพิน จิระพันธุ์วาณิช จ.ลพบุรี, นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา จ.พิจิตร, นางอทิตาธร วันไชยธนวงค์ จ.เชียงราย, นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล จ.กระบี่, นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ จ.สตูล

“พรรคชาติไทยพัฒนา”ได้ 2 ที่นั่ง นายอุดม โปร่งฟ้า จ.สุพรรณบุรี และ นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ จ.นครปฐม “พรรคประชาชาติ” 2 ที่นั่ง นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน จ.นราธิวาส และนายมุขตาร์ มะทา จ.ยะลา “พรรคกล้าธรรม” 2 ที่นั่ง นางศรัณยา สุวรรณพรหม จ.หนองบัวลำภู และนายเจษฎา ญาณประภาศิริ จ.สมุทรสงคราม “พรรคประชาชน” 1 ที่นั่ง คือ นายวีระเดช ภู่พิสิฐ จ.ลำพูน
นอกจากนี้ยังมี “กลุ่มบ้านใหญ่” ที่ไม่ได้ผูกอยู่กับพรรคการเมืองโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นแชมป์อยู่แล้ว กลุ่มนี้ ได้ไปทั้งหมด 22 ที่นั่ง ประกอบด้วย นายวิทยา คุณปลื้ม แชมป์เก่า จ.ชลบุรี, นายปิยะ ปิตุเตชะ จ.ระยอง, นายกุลยุทธ ฉายแสง จ.ฉะเชิงเทรา, นายธนภณ กิจกาญจน์ จ.จันทบุรี, นายสุนทร ปานแสงทอง จ.สมุทรปราการ, นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ จ.สมุทรสาคร
นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ จ.ตราด, นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร จ.สิงห์บุรี , พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ จ.นนทบุรี, นายสัญญา บุญ-หลง จ.สระบุรี, น.ส.นิดา ขนายงาม จ.นครนายก, นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ , นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร จ.พัทลุง ,นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม จ.สงขลา

วิชิต ไตรสรณกุล
นายบำรุง ปิยนามวาณิช จ.พังงา, นายเรวัต อารีรอบ จ.ภูเก็ต, นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี จ.ปัตตานี, นายวีระพงษ์ ทองผา จ.มุกดาหาร, นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ จ.แม่ฮ่องสอน, นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ จ.ตรัง. นางโสภา กาญจนะ จ.สุราษฎร์ธานี

สำหรับจังหวัดที่ “ทักษิณ”ไปช่วยปราศรัยหาเสียง หากไม่นับเมื่อครั้งก่อนหน้านั้น ที่ไป จ.อุดรธานี และ จ.อุบลราชธานี แล้วประสบผลสำเร็จงดงาม ทำให้ครั้งนี้ได้รับการคาดหมายว่า ทุกจังหวัดที่ไปจะกวาดชัยชนะอีก

วุฒิไกร ช่างเหล็ก
รอบนี้ “ทักษิณ”ไปขึ้นเวที 9 จังหวัด ปรากฏว่า ชนะ 5 แพ้ 4 โดยจังหวัดที่แพ้ ได้แก่ จ.เชียงราย ไปสองรอบ แพ้ ตระกูลวันไชยธนวงศ์ คนของพรรคภูมิใจไทย , จ.ลำพูน แพ้ “วีระเดช ภู่พิสิฐ” คนหนุ่มจาก พรรคประชาชน และเป็นจังหวัดเดียวที่ “พรรคส้ม” ได้ นายกอบจ., ที่ จ.บึงกาฬ แพ้ผู้สมัครจากตระกูล ทองศรี ของพรรคภูมิใจไทย และที่ จ.ศรีสะเกษ ที่ไปเปิดเวที “ไล่หนู ตีงูเห่า” ก็แพ้ วิชิต ไตรสรณกุล หรือ “นายกส้มเกลี้ยง” คนของพรรคภูมิใจไทย

ส่วนที่ชนะก็มี ที่ จ.เชียงใหม่ ลำปาง นครพนม หนองคาย และ มหาสารคาม ซึ่งผลงานที่พอจะคุยได้ก็ ที่ จ.หนองคาย ที่พา “วุฒิไกร ช่างเหล็ก” ล้มยักษ์ แชมป์เก่าอย่าง “ยุทธนา ศรีตะบุตร” อดีตนายก อบจ. 5 สมัยลงไปได้

มีการมองกันว่า การที่“ทักษิณ”ลงทุน ลงแรงไปขนาดนั้น แต่ได้มา 10 ที่นั่ง ชนะ “ภูมิใจไทย” แค่ที่นั่งเดียวนั้น ถือว่า ไม่คุ้มทุน เพราะจังหวัดที่แพ้นั้น อาจทำให้คนของพรรคเพื่อไทยขวัญกระเจิง

ยลดา หวังศุภกิจโกศล
อีกอย่าง มีการมองว่า “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย เดินเกมผิดพลาดที่หาเสียงเลือกตั้ง อบจ. แต่ไปเน้น ที่นโยบายของรัฐบาล เพื่ออวย “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เป็นหลัก มากกว่าช่วยโปรโมตสรรพคุณผู้สมัครของพรรค ในการทำงานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ยิ่งไปโปรโมต “แพทองธาร” ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า เราต้องการผู้นำอย่างนี้จริงหรือ เกิดกระแสตีกลับ ผลก็เลยผิดเป้าหมายไปเยอะ

ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย นั้น แม้จะได้น้อยกว่า 1 ที่นั่ง แต่ก็ทำให้ “อนุทิน” ยิ้มร่าได้ด้วยความสะใจ เพราะไม่ต้องไปสร้างกระแส แค่ส่ง “กำลังบำรุง” แถมชนะในจังหวัดที่เป็นไฮไลต์ อยู่ในความสนใจของสื่อ และคนทั้งประเทศ อย่างที่ จ.ศรีสะเกษ และที่ จ.เชียงราย

ณภาภัช อัญชสาณิชมน
และการชนะแบบนี้แหละ ที่นำไปสู่คำถามที่เป็นไวรัลว่า “ทักษิณ เสื่อมมนต์ขลัง” แล้วหรือไม่

ผลเลือกตั้งครั้งนี้ พอที่จะให้พรรคภูมิใจไทย พูดได้เต็มปากว่า จะเป็นพันธมิตร หรือคู่ต่อสู้ของพรรคเพื่อไทย ในสนามเลือกตั้งสส. ได้ทั้งนั้น!!

สำหรับ “พรรคประชาชน” ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งหมด 17 คน ชนะเพียง 1 ที่นั่ง คือ “วีระเดช ภู่พิสิฐ” ที่ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นชัยชนะที่ค่อนข้างสร้างเซอร์ไพร์สพอสมควร เพราะเดิมคาดว่าถ้าพรรคประชาชน จะได้เก้าผู้นำท้องถิ่น ก็น่าเป็นที่หนึ่งที่ใดในกลุ่มจังหวัด 2 สมุทร (สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม) ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่พรรคส้มได้ สส.ยกจังหวัด รวมทั้ง จ.ภูเก็ต บรรดาแกนนำพรรคประกาศลั่น จะมาต่อ “จิ๊กซอว์” ตัวสุดท้าย แต่ที่สุดแล้วก็แพ้ แบบไม่ได้แม้กระทั่งที่นั่ง ส.อบจ.

การหาเสียงของพรรคประชาชน จะเน้นไปที่ภาพใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อคนรุ่นใหม่ เหมือนกับการหาเสียงเลือกตั้งสส. ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ คงทำให้ “พรรคส้ม” ตาสว่างขึ้นมาบ้างก็ได้

ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “กลุ่มบ้านใหญ่” ที่ชนะการเลือกตั้งถึง 22 จังหวัด กลุ่มนี้ไม่หวังพึ่งกระแส แต่อาศัยผลงานที่ผ่านมา บวกกับเครือข่ายหัวคะแนน และ“กระสุน” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสู้ศึก

เพราะคนกลุ่มนี้จับทางได้ว่า กกต.ชุดนี้ ถนัดในทาง “ปล่อยผี” มากกว่า “สอย” ผู้ที่ถูกร้องเรียนว่าซื้อเสียง จึงเชื่อว่า ในการเลือกตั้ง สส.ที่จะมีขึ้นครั้งต่อไป “เทรนด์ยิงกระสุนสู้กระแส” ก็ยังคงใช้ได้ดี มีประสิทธิภาพ

วีระเดช ภู่พิสิฐ
++ รู้จัก“เฮง-วีระเดช” พรรคส้ม หนึ่งเดียวผู้ปักธง นายก อบจ.ลำพูน

ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ลำพูน ออกมาแล้วว่า “เฮง” วีระเดช ภู่พิสิฐ จากพรรคประชาชน เป็นผู้ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 109,372 คะแนน เฉือนนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ จากเพื่อไทย และอดีตนายก อบจ. ที่ได้ 103,511 คะแนน

และ “วีระเดช” เป็นผู้ลงสมัครเพียงหนึ่งเดียว ที่คว้าชัยมาให้กับพรรคประชาชนได้

“เฮง” วีระเดช ภู่พิสิฐ เป็นบุตรของ “โกเก๊า” ประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน และเป็นญาติกับ “ชัยณรงค์ ภู่พิสิฐ” อดีต รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และอดีตผู้สมัคร สส.ลำพูน พรรคไทยสร้างไทย

สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จบมาก็ประกอบอาชีพทำธุรกิจส่วนตัวก่อนมายึดอาชีพการเมือง โดยในปี 2561 เข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรก สังกัดพรรคอนาคตใหม่

ในช่วงเวลานั้น พรรคอนาคตใหม่ ประกาศเปิดรับแนวร่วม ซึ่งได้มาราว 7,000 คน ในจำนวนนั้น เป็นชาวลำพูน 7 คน และหนึ่งในนั้นคือ “เฮง” วีระเดช คนนี้

“วีระเดช” เข้าร่วมพรรคอนาคตใหม่ พร้อมกับ “เต๋อ” วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ซึ่งปัจจุบันเป็น สส.ลำพูน เขต 1 และว่ากันว่า วีระเดช เป็นหนึ่งในทีมงานที่ช่วยกันทำให้ “วิทวิสิทธิ์” ปักธงส้ม ในลำพูนได้สำเร็จในการเลือกตั้ง สส.

เมื่อพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบ “วีระเดช-วิทวิสิทธิ์” ได้ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกลด้วยกัน โดย “วีระเดช” ได้เป็น หัวหน้าสำนักงานพรรคก้าวไกล ของจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นสาขาพรรคสาขาแรกของพรรคก้าวไกล

กระทั่ง พรรคก้าวไกล ได้เปิดตัว “วีรเดช” ในฐานะผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน แข่งกับ “อนุสรณ์ วงศ์วรรณ” อดีต นายกอบจ.ลำพูน ซึ่งลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ที่ “ทักษิณ” ไปช่วยหาเสียง ประกาศจะยกระดับลำพูน เป็นเมืองคู่แฝด เป็นเมืองพี่เมืองน้อง กับเชียงใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้ใจคนลำพูน

เมื่อผลคะแนนดังกล่าวออกมา “วีระเดช” ได้โพสต์ ขอบคุณชาวลำพูน ที่มอบความไว้วางใจ

...ทุกเสียงที่ผมได้รับ ไม่ว่าจะเลือกผมหรือไม่ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจและพลังให้ผมก้าวข้ามอุปสรรค จนมาถึงจุดนี้ เพื่อที่จะได้ทำงานรับใช้พี่น้องชาวลำพูนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ชัยชนะครั้งนี้ ไม่ใช่ชัยชนะของผมเพียงคนเดียว แต่เป็นชัยชนะของคนลำพูน ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จที่แท้จริงของผม ไม่ได้จบลงแค่วันที่ได้รับเลือก แต่คือการทำให้ทุกนโยบายที่เราวางไว้เป็นจริง คือการขับเคลื่อนนโยบาย “ลำพูน พูนความสุข ทุกช่วงวัย”

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การบริหารจัดการท้องถิ่นของ “วีระเดช” จะถูกยกเป็น “ลำพูนโมเดล” ของพรรคส้มหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น