เลขาฯ กกต.แจง ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็น “ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น” ได้ แต่หากถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ ระบุ ยึดหลักการนี้ตั้งแต่ปี 62 ด้าน “สมชัย” ชี้ เท่ากับยอมรับทักษิณ -ธนาธร-พิธา เป็นผู้ช่วยหาเสียง รับเงินวันละ 300 เล่นบท 3 ล้านได้ ติงควรคิดทำเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่
วันนี้ (30 ม.ค.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา อธิบายถึงคุณสมบัติของ “ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น” ที่มีตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้หรือไม่โดยระบุว่า
ผู้ช่วยหาเสียง...
1. ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
1.1 เป็นผู้ช่วยหาเสียงไม่ได้
1.2 เป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
1.3 เป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
2. ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
2.1 เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้
2.2 เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
2.3 เป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ยังแนบรายละเอียดข้อกฎหมาย คำนิยาม และระบุว่า กกต.และสำนักงาน กกต.ได้บังคับใช้หลักการนี้โดยตอบข้อหารือผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง รวมทั้งมีหนังสือเวียนแจ้งแนวปฏิบัติแก่ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุก จังหวัดมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว และเคยตอบข้อหารือของพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2563
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง นายแสวง โพสต์ข้อความดังกล่าวได้ไม่นาน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต ก็ได้แชร์โพสต์ของนายแสวง พร้อมกับระบุว่า คำชี้แจงจาก กกต. ว่า เคยตอบคำหารือของพรรคก้าวไกล เมื่อปี 2563 ว่า ผู้ช่วยหาเสียงท้องถิ่นเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นใดก็ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง
เมื่อเคยมีการพิจารณาแบบนี้ ก็ยอมรับได้ว่า คุณทักษิณ คุณธนาธร คุณพิธา สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียง รับเงินวันละ 300 เล่นบท 3 ล้านได้ แต่สิ่งนี้ คงเป็นโจทย์ที่ กกต.ต้องคิดต่อในอนาคตว่า เหมาะสมหรือไม่ นำไปสู่การเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมหรือไม่ หากเหมาะก็เอาแบบนี้อย่างสนุกสนานต่อไป หากไม่เหมาะก็เขียนระเบียบให้รัดกุมครับ