สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA สนับสนุนทุนวิจัยให้กรมประมงดำเนินโครงการ “การกระจายพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมพันธุ์ปรับปรุงสู่ภาคการผลิตเชิงพาณิชย์” ขยายผลงานวิจัยหลังพัฒนาพันธุ์กุ้งขาวแวนาไม "เพชรดา 1 " เจริญเติบโตดี และ “ศรีดา 1” ทนต่อโรค EMS -AHPNDและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยงในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าขยายผลต่อยอดงานวิจัย เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตให้มีคุณภาพ สร้างกลไกเสริมกำลังการผลิต 10 ล้านตัว / ปี มูลค่ารวมกว่า 32 ล้านบาท
กุ้งขาวแวนาไม สัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับความนิยมในการเพาะเลี้ยงอย่างมาก เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามในการเพาะเลี้ยงที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรประสบปัญหาด้านโรคระบาด และกุ้งเจริญเติบโตช้า ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น การปรับปรุงพันธุ์กุ้งขาวแวนาไม จึงมีความสำคัญต่อภาคการผลิตเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย เนื่องจากจะเป็นการจะช่วยลดข้อจำกัดทั้งจากปัญหาของโรคระบาดต่าง ๆ รวมถึงด้านคุณภาพของผลผลิตอีกด้วย
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า โครงการ "การกระจายพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไม พันธุ์ปรับปรุงสู่ภาคการผลิตเชิงพาณิชย์" เป็นโครงการขยายผลที่ต่อยอดจากโครงการ “สร้างประชากรพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวปลอดโรคและโตดีเพื่อการเพาะเลี้ยงในประเทศไทยและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในการปรับปรุงกุ้งขาวแวนนาไม จนเกิดกุ้ง “เพชรดา 1” และ “ศรีดา 1” และกระจายผลผลิตออกไปยังกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และภูเก็ต โดย ARDA ได้มุ่งนโยบายสำคัญในการสร้างความยั่งยืน
ให้อุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทย โดยเน้นการนำนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการพัฒนากุ้งทะเลที่โตเร็ว แข็งแรง และทนต่อโรค EMS -AHPND พร้อมส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเลี้ยงเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ทดแทนการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมั่นคงและยั่งยืน
ด้าน นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้ได้กระจายพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมทั้ง 2 สายพันธุ์ จำนวน 5,150 คู่ สู่เกษตรกรโรงเพาะฟัก จำนวน 5 ราย เกษตรกรโรงอนุบาลจำนวน 15 ราย และเกษตรกรผู้เลี้ยงจำนวน 50 ราย โดยผลผลิตจากงานวิจัยข้างต้น ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรโรงเพาะฟัก ทำให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการลดจำนวนกุ้งที่ตายโดยเชื้อก่อโรค คิดเป็นมูลค่า 8,640,000 บาท/ปี ส่วนเกษตรกรโรงอนุบาล ให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการลดจำนวนกุ้งทดแทนจากการนำเข้า คิดเป็นมูลค่า 20,736,000 บาท/ปี ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง มีกำไรเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายกุ้งที่เพิ่มขึ้นจากเดิม คิดเป็นมูลค่า 2,709,504 บาท/ปี คิดเป็นมูลค่า ผลประโยชน์รวม 32,085,504 บาท/ปี
ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดสนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือซื้อลูกพันธุ์กุ้งทั้ง 2 สายพันธุ์ได้ที่หน่วยผลิตของกรมประมง สายพันธุ์เพชรดา 1 ติดต่อ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี โทร.032473830 และสายพันธุ์ศรีดา 1 ติดต่อ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช โทร. 075536157
“การพัฒนาและกระจายลูกพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไม “เพชรดา - ศรีดา” เป็นหนึ่งในความพยายามของ ARDA ที่ไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”ดร.วิชาญฯ กล่าวในตอนท้าย