xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการด่วนลดฝุ่น คนกรุงนั่งรถเมล์-รถไฟฟ้า ทั้งบนดินใต้ดินฟรี 7 วันรวด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ สั่งคมนาคมแก้ PM 2.5 ด่วนที่สุด “สุริยะ” ขานรับข้อสั่งการ จัดรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน และรถเมล์ฟรี 7 วันรวด พร้อมเข้มข้นตรวจวัดควันดำและจัดการปล่อยมลพิษ

วันที่ 24 ม.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการไปยังกระทรวงคมนาคม และส่วนราชการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รายงานว่า หลังจากที่ นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีข้อสั่งการเร่งด่วน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เข้าดูแลบริหารจัดการ ด้านโครงข่ายคมนาคม เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ดังนี้

1. รถไฟฟ้าทั้งบนดิน และใต้ดินให้บริการฟรี 7 วัน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (25 ม.ค.) ไปถึงวันที่ 31 มกราคม 2568 โดยได้สั่งการให้องค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ให้บริการฟรีทุกเส้นทาง
ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้เจรจากับผู้ประกอบการที่ให้บริการประชาชน ซึ่งได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ใช้รถไฟฟ้าฟรีทุกสายในระยะ 7 วัน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (25 ม.ค.) ไปจนถึง 31 มกราคม 2568 สำหรับรายได้ของทางเอกชนที่สูญเสียไปนั้น ทางรัฐบาลจะชดเชยตามค่าเฉลี่ย 7 วัน รวมประมาณ 140 ล้านบาท โดยมาจากงบกลาง

2. เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้รถสาธารณะ และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จึงให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) ให้ประชาชนใช้บริการรถเมล์ฟรี ทุกสาย ในระยะเวลา 7 วันเช่นกัน ตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม ถึง 31 มกราคม 2568

3. ให้หน่วนงาน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ลงพื้นที่ตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 จุด ประกอบด้วย 1. บริเวณหน้าฟิวเจอพาร์ครังสิต 2. ท่าเรือคลองเตย 3. หน้าสวนจตุจักร ถ.พหลโยธิน 4. ถ.บางนา-ตราด กม.1 5. ถ.สุวินทวงศ์ หน้าการประปามีนบุรี 6. ถ.พระรามสอง ขาออก หน้าแขวงการทางบางขุนเทียน 7. ถ.รังสิต-นครนายก กม.4 หน้าโลตัส 8. ถ.บรมราชชนนี ขาเข้า -ออก โดยหลังจากนี้ จะให้เจ้าพนักงานกระจายตามจุดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าควบคุมมลภาวะทางรถยนต์ให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม พร้อมที่จะพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะหลักให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะรอง (Feeder) ในการเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างมีศักยภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อโอกาสของประเทศไทย และเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุกด้าน

4. ให้ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ เข้าบริหารจัดการพื้นที่ทันที เบื้องต้นให้ ผู้รับเหมาฉีดพรมน้ำ ทำความสะอาดล้อรถที่เข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้าง กวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง ปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย และจัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาเด็ดขาด นายจิรายุ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น