เมืองไทย 360 องศา
มาถึงวันนี้สนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศก็น่าจะมาถึงโค้งท้ายๆกันแล้ว เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันเท่านั้นก่อนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่เป็นกำหนดวันเลือกตั้ง และแม้ว่ามีหลายจังหวัดที่ต้องจับตามอง แต่อยากให้โฟกัสไปที่สนามเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน เพราะน่าจะสะท้อนภาพการเมืองใหญ่ในอนาคตได้เป็นอย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย และตัวนายทักษิณ ชินวัตร
อย่างไรก็ดี ก่อนไปถึงตรงนั้นลองมีพิจารณาบรรยากาศการหาเสียงและความเคลื่อนไหวในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง เช่นที่จังหวัดเชียงรายและ เชียงใหม่ โดยทั้งสองจังหวัด นายทักษิณ ชินวัตร ได้จัดคิวขึ้นไปช่วยหาเสียงผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยถึงสองรอบ
ทั้งนี้ ในวันที่ 29 มกราคม ซึ่งตรงกับวันตรุษจีน เขาจะขึ้นเวทีปราศรัยให้สามเวทีรวดภายในวันเดียว ก่อนหน้านี้ นายทักษิณ เคยไปช่วยหาเสียงให้แล้วเมื่อ 5 มกราคม มีรายงานว่า นายทักษิณและพรรคเพื่อไทย เห็นว่าจังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่สำคัญในยุทธศาสตร์การเมืองภาคเหนือของพรรคเพื่อไทย จึงต้องการชนะในศึกเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงรายให้ได้ เพื่อนำไปต่อยอดการเมืองระดับชาติ ซึ่งแม้จะเป็นภาคเหนือที่เป็นฐานเสียงสำคัญของนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยอยู่แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี พบว่า การหาเสียงนายก อบจ.เชียงราย ความนิยมในพื้นที่ยังสูสีกันอยู่ เพราะคู่แข่งสำคัญคือ นายอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ หรือ นายกนก อดีตนายก อบจ.เชียงราย จากบ้านใหญ่เชียงราย ตระกูลวันไชยธนวงศ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคสีน้ำเงิน ที่ทางทีมงานหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กำลังจับตาว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายคู่แข่ง อาจลุยหาเสียงอย่างหนักและส่วนกลางอาจเข้ามาช่วยสนับสนุนในสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้ ทีมงานของพรรคเพื่อไทย ไม่ประมาท และทำให้นายทักษิณ ต้องขึ้นไปช่วยหาเสียงเป็นรอบที่สอง
จากนั้นวันรุ่งขึ้น 30 มกราคม นายทักษิณ จะเดินทางไปปิดการเดินสายช่วยหาเสียงที่จังหวัดเชียงใหม่บ้านเกิดตระกูลชินวัตร โดยอยู่ระหว่างการเตรียมการว่าจะปิดการปราศรัยใหญ่ที่จุดใดของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นระหว่าง เพื่อไทย กับพรรคประชาชน ที่ส่งคนลงสมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการ
อย่างที่รับรู้กันดีว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย และครอบครัวชินวัตร ของนายทักษิณ มานาน โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นบ้านเกิด และที่ผ่านมาในสนามเลือกตั้งใหญ่ คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทยมักจะกวาดที่นั่งมาได้เกือบทั้งหมด มีเพียงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ที่พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาชน (ก้าวไกล) ในหลายเขต นั่นคือ จากที่มีจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 10 คน พรรคก้าวไกลได้ไปถึง 6 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทยรักษาที่นั่งได้แค่ 4 ที่นั่งเท่านั้น
มองแบบนี้ถือว่า พรรคเพื่อไทย พ่ายแพ้อย่างหมดรูป และสำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร แล้วถือว่าการพ่ายแพ้ในบ้านเกิดแบบนี้ถือว่าเสียหายหนัก และนี่อาจเป็นคำตอบว่า ทำไมการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่คราวนี้ เขาถึงให้ความสำคัญมาก ถึงกับต้องวนกลับมาหาเสียงซ้ำอีกรอบ และเป็นการหาเสียงปิดท้ายในจังหวัดแรกและจังหวัดเดียว
เป็นที่รับรู้กันดีว่า สนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ต่างจากการจำลองการเลือกตั้ง ส.ส.นั่นเอง เพราะเป็นการเลือกตั้งทั้งจังหวัด มีการแบ่งเขต แม้จะเล็กกว่าเป็นระดับอำเภอ แต่ก็ถือว่าใกล้เคียง สามารถทดสอบฐานคะแนนเสียงได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการที่สามารถคว้าชัยชนะในแต่ละจังหวัด มันย่อมส่งผลบวกไปถึงการเลือกตั้งใหญ่คราวหน้าอีกด้วย
และคราวนี้จะเห็นว่ามีหลายพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญถึงกับส่งตัวแทนในนามพรรคลงสมัคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสำคัญ ที่มีผลทางการเมืองในสนามใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย รวมไปถึงพรรคภูมิใจไทยแม้ว่าอาจไม่ใช่ส่งในนามพรรคแต่ในพื้นที่รับรู้กันว่าสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะในเรื่อง “กระสุน”
ก่อนหน้านี้พรรคประชาชนตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพรรคก้าวไกล ได้พยายามส่งผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาแล้วหลายจังหวัด รวมไปถึงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ เช่น นายกเทศมนตรี หลายแห่ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากแทบทั้งหมดยังไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่คราวนี้พวกเขามีความมุ่งมั่นมากว่าจะสามารถปักธงได้ในบางจังหวัดสำหรับ เก้าอี้นายกอบจ.ที่จะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยมีการระดมระดับแกนนำพรรค สมาชิกพรรคที่มีความโดดเด่นลงไปช่วยหาเสียงกันอย่างเต็มที่
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ นายทักษิณ ชินวัตร ถือว่า “ทุ่มสุดตัว” เหมือนกับว่าเดิมพันหมดหน้าตักไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า เพราะคราวที่แล้ว พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก ทำให้เสียหน้าเสียเครดิตอย่างมาก ครั้งนี้สำหรับสนาม อบจ. ถือว่าเป็นการ“ทดสอบพลัง” ครั้งสำคัญว่ายังไหวอยู่หรือไม่ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.คราวหน้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 หากรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อยู่ครบเทอม
อย่างไรก็ดีการทุ่มเทคราวนี้ หากมองอีกมุมหนึ่ง หากพลาดพลั้งขึ้นมา หรือผลตอบรับกลับมา “ไม่เต็มร้อย” เกิดรายการพ่ายแพ้สักจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความหมายทางการเมือง เช่น ในภาคอีสานที่เป็นบ้านใหญ่ รวมไปถึงในภาคเหนือ หากแพ้ขึ้นมาก็ต้องบอกว่า “เสียหาย” แน่นอน
และหากโฟกัสที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ที่เหมือนกับว่าเป็นบ้านเกิดแท้จริง แม้ว่าจะชนะ แต่ถ้าออกมาแบบสูสี ไม่ชนะกันแบบขาดลอย ก็ต้องถือว่า “แพ้” กันเลยทีเดียว เพราะหากผลออกมาแบบนั้น นั่นเท่ากับว่าเป็นสัญญาณร้ายสำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร เลยทีเดียว เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ทุ่มเทกันขนาดนี้ หากยังแพ้ หรือชนะแบบหายใจรดต้นคอ ก็น่าจะมองเห็นอนาคตข้างหน้าได้ดี
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่จะเห็น นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยต่างระดมสรรพกำลังกันทุกทางเพื่อให้ชนะเลือกตั้งให้ได้ และที่สำคัญต้อง “ชนะขาด” เสียด้วย แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากรายงานบรรยากาศในพื้นที่แล้ว ก็ต้องบอกว่า “น่าหนักใจ” เหมือนกัน หรือว่าจะสิ้นมนต์หรือเปล่า อีกไม่กี่วันก็รู้กันแล้ว !!