xs
xsm
sm
md
lg

เวียนอำนาจ “ปลัด อบจ.” ปฏิบัติหน้าที่แทน “นายก อบจ.” ก่อนเลือกตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือน-ค่าจ้าง สั่ง! ชะลอทุกนโยบายผู้บริหารเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย เวียนอำนาจ “ปลัด อบจ.” ปฏิบัติหน้าที่แทน “นายก อบจ.” ทั่วประเทศ 45 วัน ก่อนการเลือกตั้ง ย้ำ! ให้ใช้ชั่วคราวเท่าที่จําเป็น จนถึงวันประกาศผล ทั้งลักษณะงานประจําทั่วไป-เลื่อนขั้นเงินเดือน-ค่าจ้าง ขรก./ลูกจ้าง ตามความดีความชอบ แต่สั่ง! ชะลอทุกนโยบายเก่า รวมถึงการย้าย/โอน/รับโอน/ปรับปรุงตําแหน่ง เว้นมีการดําเนินการไว้ก่อนหน้า ส่วนอำนาจเลื่อน/แต่งตั้ง เป็นหน้าที่ บอร์ด ขรก.อบจ. พิจารณา ส่วนการประเมินผล ขรก.- ลูกจ้างประจํา เป็นอำนาจ ผู้ว่าฯ ส่วนกรณีอื่นสามารถดำเนินการโดยอนุโลม

วันนี้ (21 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สํานักงานคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.อบจ.) ทำหนังสือเวียนแจ้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการ อบจ. ทุกจังหวัด

ให้ อบจ.ดำเนินการปฎิบัติตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล กรณีไม่มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภา (ส.อบจ.) และนายกอบจ. 45 วัน

ภายหลัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว ตามมาตรา 13 และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562

“ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่ของนายก อบจ.เท่าที่จําเป็นได้เป็นการชั่วคราวจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง”

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติ การบริหารงานบุคคลของ อบจ. ที่น่าสนใจ เช่น 1. กรณีเป็นลักษณะงานประจําทั่วไป หรือที่ประกาศมาตรฐานทั่วไป ให้ ปลัด อบจ. ปฏิบัติหน้าที่ของนายก อบจ. พิจารณาดําเนินการได้

ทั้งนี้ กรณีที่ นายก อบจ.หรือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ได้มีการดําเนินการเกี่ยวกับ “การบริหารงานบุคคลไว้” ก่อน กกต.ได้ประกาศกําหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก อบจ. ให้ อบจ. สามารถดําเนินการต่อไปได้

2. กรณีงานใดที่เป็นนโยบายของนายก อบจ. หากไม่ดําเนินการ ก็ไม่เกิดผลกระทบ หรือเกิดผลเสียแก่ผู้ใด และ อบจ.ไม่เสียประโยชน์ “ให้ชะลอการดําเนินการไว้ก่อน” จนกว่าจะมีผู้มาทําหน้าที่นายก อบจ.

เช่น การย้าย การโอน การรับโอน ข้าราชการ อบจ. การปรับปรุงตําแหน่ง การกําหนดตําแหน่งข้าราชการ อบจ. หรือขอปรับระดับตําแหน่งที่มีอยู่เดิม ให้มีระดับสูงขึ้น ยกเว้นได้มีการดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลไว้ก่อน

3. กรณีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนและแต่งตั้ง ประเภททั่วไป และประเภทวิชาการ ในระดับที่สูงขึ้น ทุกกรณี การแต่งตั้งจากบัญชีผู้ผ่านการสรรหา รวมถึงการต่อสัญญาจ้างพนักงานจ้าง ให้เป็นไปตามความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดก่อน

4. การประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการ อบจ.และลูกจ้างประจํา สามารถดําเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานได้ ตามประกาศคณะกรรมการกลางข้าราชการ อบจ. ให้ผู้กํากับดูแล “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นผู้ประเมินผล

5. การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนของข้าราชการ ลูกจ้างประจํา และพนักงานจ้าง สามารถดําเนินการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน และค่าจ้าง ได้

เนื่องจากการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน และค่าจ้าง เป็นการพิจารณาความดีความชอบ เพื่อสร้างขวัญกําลังใจให้กับข้าราชการ และลูกจ้างประจํา โดยมีลักษณะเป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติเป็นประจํา ปีงบประมาณละ 2 ครั้ง

สําหรับการพิจารณาเลื่อนค่าตอบแทนพนักงานจ้างให้ดําเนินการได้เช่นเดียวกัน

6. การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของปลัด อบจ. กําหนดให้ ผู้กํากับดูแลองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้พิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือน

7. การออกคําสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างลูกจ้างประจํา และค่าตอบแทนพนักงานจ้าง ให้ปลัดปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จําเป็นได้เป็นการชั่วคราวจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง

รวมถึงตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า การออกคําสั่งเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้เป็นอํานาจของนายก จึงเป็นอํานาจของปลัด ปฏิบัติหน้าที่ของนายก อบจ.

8. การออกคําสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนของปลัด สามารถดําเนินการออกคําสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ โดยให้นําแนวทางปฏิบัติน มาใช้โดยอนุโลม

9. การบริหารงานบุคคลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาท้องถิ่น ให้ปลัดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ เท่าที่จําเป็นได้เป็นการชั่วคราวจนถึงวันประกาศ ประกอบด้วย

การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อบจ. และการสั่งเลื่อนเงินเดือน, การแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา

และการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และออกคําสั่ง แต่งตั้งครูผู้ช่วย ให้ดํารงตําแหน่งครู เป็นต้น

10. กรณีข้าราชการ อบจ. ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัย ปลัดปฏิบัติหน้าที่ของนายก สามารถดําเนินการทางวินัยกับข้าราชการผู้นั้นได้ ตามประกาศ กจ.อบจ.

สําหรับกรณีปลัด ผู้ปฏิบัติหน้าที่ของนายก อบจ. ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดทางวินัย จะไม่สามารถออกคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือเนื่องจากเป็นคู่กรณีอันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13(1)

“จึงต้องให้รองปลัด หรือข้าราชการ อบจ. เป็นผู้รักษาราชการแทนปลัด เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของนายก อบจ. เป็นผู้ออกคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือออกคําสั่งลงโทษทางวินัยปลัด โดยถือปฏิบัติตามหนังสือสํานักงาน ก.จ., ก.ท. และ ก.อบต. ที่ มท 0809.2/ว 46 วันที่ 11 ส.ค. 2559 โดยอนุโลม”

ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ของนายก ดังกล่าว ไม่ต้องขอให้คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พิจารณาคัดเลือกกรรมการสอบสวนก่อนแต่อย่างใด

เนื่องจากกรณีดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่นายก อบจ.เป็นคู่กรณีกับผู้ถูกสอบสวน หรือถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดร่วม ตามนัยมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดําเนินการทางวินัย พ.ศ. 2558 ข้อ 49 วรรคสี่.


กำลังโหลดความคิดเห็น