เมืองไทย 360 องศา
หลังจากยืนยันชัดเจนแล้วว่า นายชํานาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เซ็นเพิกถอนการจดทะเบียน และนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา และเตรียมส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินดำเนินการต่อไปโดยขั้นตอนหลังจากนี้ กรมที่ดินจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.กรมที่ดินจะต้องดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน พร้อมแจ้งสิทธิการฟ้องคดีให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ
2.กรมที่ดินแจ้งจังหวัดปทุมธานี เพื่อให้สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินและขายรวมสองโฉนด ในโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตลอดจนรายการจดทะเบียนลำดับต่อมา รวมทั้งเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงแยกที่ออกสืบเนื่องมาจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทุกรายการ ในโฉนดที่ดินแปลงแยกนั้นด้วย ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308 /2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและวิธีการ
3.เมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง หมายเหตุการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน และขายรวมสองโฉนดแล้ว จะมีผลให้โฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา เจ้ามรดก มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก สามารถจดทะเบียนโอนมรดกตามพินัยกรรมของ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร โดยดำเนินการขอได้มาซึ่งที่ดิน ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
4.เมื่อที่ดินตกเป็นของวัดธรรมิการามวรวิหารแล้ว วัดสามารถนำที่ดินดังกล่าว ให้ผู้ครอบครองคนปัจจุบันเช่า หรือออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ เพื่อโอนสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองคนปัจจุบัน หรือโอนที่ดินโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เมษายน 2545 ข้อ 6
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 สามารถใช้สิทธิยื่นคำฟ้อง พร้อมขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาล หรือยื่นคำขอให้กระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดิน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรมที่ดิน ได้เคยประเมินค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมูลค่าตามราคาตลาดโดยการประมาณและทุนทรัพย์จำนองอยู่ที่ 7,700 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์ตามมูลค่าตลาดประมาณ 7,228 ล้านบาท และทุนทรัพย์จำนอง 439.05 ล้านบาท ปัจจุบัน เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์ มีจำนวน 533 ราย และผู้รับจำนองอีก 30 ราย
ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อที่ดินมาปี 2540 ในราคาประมาณ 500 ล้านบาท ต่อจาก นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ และนางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยา นายเสนาะ เทียนทอง ขณะนั้นที่ซื้อมา 130 ล้านบาท จากวัดธรรมิการามวรวิหาร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ก่อนหน้านี้ นายทักษิณ กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ เอาอย่างไรก็เอา จะได้จบๆ เสียที คาราคาซัง น่ารำคาญ และหากมีการถอนสิทธิจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะหลักการคือถ้าเป็นของกรมที่ดิน ก็ต้องชดเชยความเสียหายที่รับโอนอย่างไม่ถูกต้อง หรือหากเป็นของวัด ต้องถามว่าวัดจะชดเชยค่าเสียหายหรือให้เช่าต่อ คนเราถ้ารักษากติกาและไม่ยึดติดอะไร”
รับรู้กันอยู่แล้วว่ากรณี “ที่ดินอัลไพน์” หรือ ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นมหากาพย์ ที่ยืดเยื้อยาวนาน และจะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี แม้ว่าล่าสุดกระทรวงมหาดไทย โดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในหนังสือเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินและนิติกรรมต่างๆไปแล้ว ทำให้ที่ดินกลับไปเป็นของวัดธรรมิการามฯ ตามพินัยกรรมของผู้บริจาคคือ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา และตามหลักกฎหมายแล้วผู้ที่ถือครองที่ดินในปัจจุบัน (ก่อนกลับไปเป็นของวัด) ที่มีอยู่กว่าห้าร้อยราย ในจำนวนนั้นมีคนในครอบครัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ถือครองอยู่ด้วย ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะเรียก “ค่าชดเชย” ด้วย
โดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวถึงขั้นตอนดำเนินการว่าสิ่งแรกที่ต้องทำ จะดำเนินการแจ้งให้ผู้ถือครองที่ดินทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้สูญเสียรับทราบคำสั่งเพิกถอนดังกล่าว ส่วนจะดำเนินการอย่างไรเป็นสิทธิ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยนั้น ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง รวมถึงอยู่กับคำตัดสินของศาลว่ามีผลอย่างไร ซึ่งจากรายละเอียด และหลักฐานค่อนข้างเยอะ คาดว่าการฟ้องร้องจะต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง อาจมีการขอในแผนงานงบประจำปี แต่ถึงอย่างไร ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบชัดเจนได้ แต่ต้องเป็นเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย
แน่นอนว่า หากโฟกัสไปที่ครอบครัวของ นายทักษิณ ก็จะพบความจริงว่า โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ จ.ปทุมธานี ในนาม บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด จำนวน 22,410,000 หุ้น มูลค่าตามทุนจดทะเบียน 224.1 ล้านบาท เมื่อหลายปีก่อน ล่าสุดได้โอนหุ้นดังกล่าวให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นมารดาแล้ว ขณะเดียวกันก็มีคนในครอบครัวอีกหลายคนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว
ดังนั้น หากกล่าวถึงเรื่อง “ค่าชดเชย” กลุ่มคนที่จะต้องได้รับตามกฎหมาย ก็ต้องเป็นคนในครอบครัวชินวัตร ของ นายทักษิณ ชินวัตร มากที่สุด โดยก่อนหน้านั้น เมื่อราวปี 2540 นายทักษิณ ได้ซื้อที่ดินมาในราคา 500 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการในโครงการจัดสรรที่ดิน และสนามกอล์ฟ อย่างไรก็ดี มีการตีราคาประเมินตามราคาตลาดและทุนทรัพย์จำนองรวมแล้ว 7,700 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินไม่ใช่น้อย ที่กรมที่ดินจะต้องตั้งงบประมาณชดเชย
แม้ว่าตามขั้นตอนแล้ว จะต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะจะต้องมีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย และต้องรอให้คดีถึงที่สุด จนมีคำพิพากษาออกมา ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เนื่องจากมีผู้ถือครองที่ดินหลายร้อยราย แต่ขณะเดียวกันการที่ นายทักษิณ ชินวัตร บอกว่ารู้สึก “รำคาญ” แบบว่าจะเอาอย่างไรก็ให้ว่ามา จะได้จบๆไป แต่ให้จ่ายค่าชดเชยมานั้น ตามกฎหมายที่เปิดช่องเอาไว้ ก็อาจจะได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ แต่สำหรับความรู้สึกของสังคมที่เฝ้ามองเรื่องนี้อยู่ มันก็คงผ่านไปไม่ได้ หรือให้ “ตัดรำคาญ” ไปง่ายๆ คงไม่ได้เช่นกัน
เพราะหากพิจารณาถึงที่มาในอดีตถูกมองว่ามีเจตนาได้มาซึ่งที่ดินแปลงนี้โดยมิชอบมาตั้งแต่ต้น ถูกมองว่ามีเจตนาสมคบกันฮุบที่ดิน “ธรณีสงฆ์” แปรเจตนาของผู้บริจาคที่ดินให้กับวัด จนมีการเล่นแร่แปรธาตุกลายมาเป็น “สนามกอล์ฟ” จนกระทั่งมาจนถึงวันนี้ มีการเพิกถอนการจดทะเบียนต้องกลับไปเป็นของวัดอีกครั้ง และจะมาขอค่าชดเชย แม้ว่าตามสิทธิ์ อาจดำเนินการได้ แต่ความรู้สึกของคนทั่วไป มันก็ไม่ง่าย และโทนที่ออกมาล้วนเป็นลบมากกว่าบวกแน่นอน !!