ห่วงวัยเรียน “สสส.จับมือรัฐ- โรงเรียน-ท้องถิ่น-องค์กรภาคี ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทยวัยเรียน
ด้วยมาตรฐานการจัดการอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาวะในพื้นที่ หลังพบคอนเทนต์การตลาด ทำเกิดพฤติกรรมกินจุเกินจำเป็น -ภาวะน้ำตาลเกิน- โรคอ้วนคุกคาม
วันนี้( 20 ม.ค. 68) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสร้างเสริม
วิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา”โดยน.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กล่าวเปิดสัมมนาว่า อาหาร คือปัจจัยสำคัญของประเทศสำหรับเด็กเยาวชนที่จะเติบโตในอนาคต ไทยเราเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับเรื่องยุทธศาสตร์ด้านการจัดการอาหารแต่เรายังใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ฉะนั้นอยู่ที่เราจะให้ความสำคัญกับสถานศึกษา เป็นโอกาสที่จะสร้างเด็กเรียนดี มีความสุข การที่มีสุขภาพดีจะเกิดได้เด็กต้องได้รับอาหาร มีโภชนาการที่เหมาะสม จะทำให้เติบโตมีคุณภาพ และมีสมองที่ดี
ทั้งนี้ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่แค่อาหารแต่เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อระบบอาหารไทยและของทั้งโลก แหล่งอาหารในชุมชนได้รับผลกระทบ ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้ เด็กจึงได้รับผลกระทบในแง่ความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งยังมีโซเชียลมีเดีย มีโฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้เด็กได้รับข้อมูลทางอาหารหรือคอนเทนต์ในเชิงการตลาด เกิดพฤติกรรมกินจุเกินความจำเป็น ได้รับปริมาณน้ำตาลเกินความจำเป็น
“ความท้าทายที่เผชิญอยู่ก็จะมีอีกด้านคือโอกาสที่จะร่วมกันสร้างระบบเปลี่ยนแปลงระบบอาหารโรงเรียนให้ยั่งยืนได้ 3 ทางคือ 1.การเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ด้านอาหารและโภชนาการ 2.ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงชุมชน ท้องถิ่น โรงเรียนให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ และ 3. ลดผลกระทบของเด็กอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีส่งผลต่อโรงเรียนอย่างไร ดังนั้น เราคาดหวังว่าอาหารเป็นสิ่งที่ครอบครัว โรงเรียน จะเรียนรู้เพื่อสร้างอนาคตเด็ก เพราะอาหารคือรากฐานของชีวิต อาหารทุกเมนูที่จัดสรรในโรงเรียน จึงเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะสร้างเด็กให้มีคุณภาพ"
ด้าน ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมฟอนามัย บรรยายพิเศษหัวข้อ"การแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียน" ว่า เด็กอ้วนเป็นปัญหามากขึ้นจึงมีคณะกรรมการเรื่องโรคอ้วนในเด็กในส่วนโรงเรียน และยังต้องส่งเสริมเรื่องของสุขาภิบาลในการประกอบอาหารในโรงเรียน นับเป็นความท้าทายของประเทศไทย ผู้ปฏิบัติจึงเป็นกำลังหลักที่จะดำเนินงานนี้ หมายถึงเครือข่ายในท้องที่มีความสำคัญที่จะส่งเสริมด้านโภชนาการในเด็ก โรงเรียนเป็นส่วนสำคัญในการจัดการอาหาร ขณะนี้ได้เริ่มมีโมเดล “พลังสามสร้าง” คือมีนโยบาย มีภาคี และมีงบประมาณ กรมอนามัย ได้เริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 ให้ประเทศไทยส่งเสริมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะด้านมาตรฐานสากลให้โภชนาการเป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชุมชน
ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชน บรรยายพิเศษ "การสร้างเด็กไทยเรียนดี มีความสุข และสุขภาพดี " ว่า วันนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดพิธีประกาศเจตนารมย์ต่อต้านการทุจริตโดยในเรื่องการทุจริตอาหารกลางวัน ไม่ได้เกิดขึ้นทุกโรงเรียน มีเพียงบางโรงเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นการทุจริตต่อการดูแลเด็กนักเรียน เป็นการทำลายประเทศชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จึงประกาศต่อต้านในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะอาหารโรงเรียน อาหารนักเรียน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะส่งเสริมเด็กไทยได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย รวมถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็ก ปลูกฝังระเบียบวินัยของเด็ก
ขณะที่ นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิฯ และผู้จัดการโครงการพัฒนากลไกชุมชนและท้องถิ่นในการขับเคลื่อนระบบอาหารและโภชนาการเพื่อคุณภาพเด็กวัยเรียน กล่าวว่า ความสำคัญของอาหารและโภชนาการในโรงเรียน จำเป็นต้อง บูรณาการด้านการสร้างแหล่งอาหารชุมชนที่ปลอดภัย มีระบบการรับรองด้านเกษตรปลอดภัย การสร้างความ
รอบรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการ การส่งเสริมพฤติกรรมด้านโภชนาการ รวมถึงการจัดทำแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา จากการนำร่องในโรงเรียนประถมศึกษาและขยายโอกาส 55 โรงเรียน ใน 11จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ น่าน บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี นนทบุรี และ สงขลา
สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ ได้จัดทำข้อเสนอต่อภาคนโยบายเพื่อนำมาตรฐานการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาไปขยายผลให้กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น มีการวิเคราะห์ช่องว่างที่เป็นปัญหาและอุปสรรค ออกแบบกลไกเครื่องมือ มาตรการ องค์กร และบทบาทที่ควรดำเนินการในระดับจังหวัด / ท้องถิ่น ภายใต้การบูรณาการ ทั้งแนวนอน และแนวตั้ง ที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือลูกหลานมีสุขภาพดี เรียนดี มีความสุข เป็นอนาคตของชาติที่มีประสิทธิภาพ