xs
xsm
sm
md
lg

จับตา "ขาใหญ่" ก๊วนสวาปาล์มอินโดฯ รอด!? หรือป.ป.ช.จะดาบทื่อ ฟันได้แค่ปลาซิวปลาสร้อย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ธนกร นันที - จุลสิงห์ วสันตสิงห์ - สุภา  ปิยะจิตติ
ข่าวปนคน คนปนข่าว



++ จับตา "ขาใหญ่" ก๊วนสวาปาล์มอินโดฯ รอด!? หรือป.ป.ช.จะดาบทื่อ ฟันได้แค่ปลาซิวปลาสร้อย!

คดีมหากาพย์ทุจริตโครงการลงทุนธุรกิจปาล์มอินโดนีเซียของปตท. ที่สูญเสียนับหมื่นล้าน ส่อเค้าว่าจะเอาผิด "ก๊วนสวาปาล์ม" ได้แค่ปลาซิวปลาสร้อย ขณะที่"ขาใหญ่" ผู้บงการเกม รอดพ้นข้อกล่าวหา

แว่วว่า สำนวนคดีนี้ซึ่งถูกดองเค็มมานานกำลังจะถูกเสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อ “ชี้มูลความผิด” คนที่เกี่ยวข้องวันจันทร์นี้ (20 ม.ค.)

โดยมีเสียงลือเสียงเล่าอ้าง สะพัดออกมาในทำนองว่า ป.ป.ช.น่าจะพิจารณา"เป็นคุณ" กับ "ขาใหญ่" อดีตผู้บริหารปตท. ที่หลายฝ่ายกำลังจับจ้อง เพราะเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลบารมีใน ปตท.มาทุกยุคทุกสมัย

หากผลปรากฏสุดท้าย มติป.ป.ช.เอื้อต่อ "ขาใหญ่" รอดพ้นข้อกล่าวหา นี่ต้องจะถือว่าเป็นการ "พลิกความคาดหมาย” ของหลายๆ คน

นั่นเพราะด้วยเหตุ และผล ข้อเท็จจริง ป.ป.ช.ควรต้องแจ้งข้อกล่าวหา ฟัน "ขาใหญ่" รายนี้แทนการละเว้น!
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ลองมาไล่เรียงทบทวนความจำกันนิด

ธนกร นันที
ประการแรก "ขาใหญ่" ขณะเป็นผู้บริหารปตท. เป็นผู้เสนอโครงการลงทุนธุรกิจน้ำมันปาล์มที่ประเทศอินโดนีเซียเอง เรียกว่า "ปั้นมากับมือ"

ประการที่ 2. เนื่องจากธุรกิจน้ำมันปาล์มที่ได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท. เมื่อปี 2548 “บอร์ดปตท.” มีความห่วงใยอย่างยิ่งกับโครงการธุรกิจน้ำมันปาล์มมาก เนื่องจากธุรกิจน้ำมันปาล์มเป็นธุรกิจที่ปตท.ไม่มีประสบการณ์มาเลย จึงกำชับให้ฝ่ายจัดการที่มี "ขาใหญ่" ในฐานะฝ่ายจัดการ ปตท.ให้รายงานความคืบหน้าปัญหาของโครงการธุรกิจน้ำมัน น้ำมันปาล์ม มายังคณะกรรมการเป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้เกิดปัญหาในอนาคต

โดยที่ "ขาใหญ่" ในฐานะฝ่ายจัดการก็รับ และให้คำมั่นกับคณะกรรมการปตท. ว่าจะดำเนินการ ดูแลอย่างใกล้ชิด

ในช่วงตั้งแต่ปี 2548 จนถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2550 เป็น "ขาใหญ่" แต่เพียงผู้เดียว เป็นผู้ควบคุมดูแลโครงการธุรกิจน้ำมันปาล์มโดยตลอดมา ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจน้ำมัน แก๊ส และปิโตรเคมี ที่ได้มอบหมายให้รองกรรมการผู้จัดการหนึ่งคนรับผิดชอบโดยตรง

ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2550 "ขาใหญ่" ได้กำหนดผู้รับผิดชอบในโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม เรื่องย่อยของปตท. โดยมอบให้รองกรรมการผู้จัดการที่ปัจจุบัน "เป็นใหญ่เป็นโต" ในรัฐบาล "อุ๊งอิ๊ง" เป็นผู้กำกับดูแลธุรกิจน้ำมันปาล์ม

จุลสิงห์ วสันตสิงห์
และให้ "นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา" เป็นหัวหน้ารับผิดชอบโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม

ต่อมา ปตท.ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ปตท.กรีนเอ็นเนอยี่ เรียกย่อว่า PTTGE จดทะเบียนที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย นั่นเอง

ประการที่ 3 การลงทุนในโครงการธุรกิจน้ำมันปาล์ม คณะกรรมการปตท.ได้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้ชัดเจนที่สำคัญดังนี้

3.1 ราคาที่ดินเพื่อปลูกปาล์ม ที่ปตท.จะจัดซื้อต้องมีราคาไม่เกิน 900เหรียญสหรัฐ ต่อ เฮกต้า

3.2 โครงการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อทำธุรกิจน้ำมันปาล์มในแต่ละพื้นที่ จะต้องมีผลตอบแทนของโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

3.3 ในการพิจารณาลงทุนในทุกพื้นที่ จะต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 3 ด้าน คือ ด้านการเงิน ด้านเทคนิคสภาพพื้นที่ และด้านกฎหมาย เพื่อให้มีความมั่นใจว่าโครงการนี้ในพื้นที่นี้ มีความเป็นไปได้ และถ้าพื้นที่ใดผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ทั้ง 3 ด้านแล้ว และฝ่ายจัดการเห็นว่าควรลงทุน ก็ให้เสนอคณะกรรมการปตท. อนุมัติในหลักการ

ขอย้ำว่า อนุมัติในหลักการ ก่อนการเจรจาซื้อขาย (เป็นการอนุมัติครั้งที่หนึ่ง ของแต่ละโครงการ) และถ้ามีการเจรจากับเจ้าของที่ดิน ได้ผลประการใดในราคาเท่าใด เงื่อนไขอย่างไร ก่อนลงนามในสัญญาซื้อขาย ต้องเสนอคณะกรรมการ ปตท. อนุมัติก่อนการลงนามสัญญา (เป็นการอนุมัติของคณะกรรมการ ครั้งที่สอง)

แนวทางข้างต้นนี้ เป็นแนวทางที่คณะกรรมการ ปตท. ได้กำหนดไว้ ให้ฝายจัดการและ "ขาใหญ่" ในฐานะฝ่ายจัดการ ผู้เสนอโครงการครั้งแรก ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีความเสียหาย

ต้องขีดเส้นใต้ว่า เพราะปตท.ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจน้ำมันปาล์มเลย และคณะกรรมการ ปตท. ต้องการควบคุมอย่างใกล้ชิด ดังปรากฏในบันทึกการประชุมคณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติ และแสดงความห่วงใยโครงการลงทุนธุรกิจน้ำมันทุกครั้ง!

ประการที่ 4 ตั้งแต่คณะกรรมการปตท. ได้เห็นชอบแนวคิดการดำเนินธุรกิจน้ำมันปาล์ม ปี 2548 ฝ่ายจัดการปตท.ได้ว่าจ้าง "นางแนนซี่ มาร์ตาสุตา" (Mrs Nancy. Martasuta) เป็นที่ปรึกษาโครงการ

สุภา  ปิยะจิตติ
ในช่วงเวลาตั้งแต่ ปี 2548 จนถึงปี 2554 ขาใหญ่ และ พรรคพวก ได้เดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย เกาะกาลิมันตัน เพื่อจัดหาที่ดินทำธุรกิจน้ำมันปาล์ม ปลูกปาล์ม และโรงงานน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย โดยมี "บุคคลภายนอก" ร่วมก๊วนไปด้วย อาทิ ได้แก่ "นายธนกร นันที" อดีตเลขารัฐมนตรี นักการเมืองใหญ่ที่ก็รู้ๆ กันว่ารู้จักสนิมสนมกับ "ขาใหญ่" ร่วมเดินทางไปดูพื้นที่ ที่ประเทศอินโดนีเซียด้วย ทั้งๆ ที่โครงการลงทุนนี้เป็นเรื่องลับของ ปตท. และอาจกระทบราคาหุ้น ปตท.ในตลาดหลักทรัพย์

ประการที่ 5 โครงการธุรกิจน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย ฝ่ายจัดการได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่ เป็น 5 พื้นที่ ดังนี้

(1) โครงการ PT. Az Zhara (โครงการพีที อาซาร่า) คณะกรรมการ ปตท. อนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่25พ.ค.50
โครงการนี้ถูกเสนอเนื้อที่มากกว่าความเป็นจริง ซึ่งกระทำเพื่อให้เกิดการจองเงินที่จ่ายลงทุน และซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินในราคาสูงมาก

ผู้ขายที่ดินมีสัญญาลักษณะช่วยจัดการ /สัญญานายหน้ากับบริษัท KSL ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติของ นายธนกร นันที!

เนื้อหาในสัญญานายหน้า ระบุว่า ส่วนต่างระหว่างราคาที่เจ้าของจะเสนอ กับราคาที่ปตท.ตกลงจ่ายนั้น ให้เป็นของบริษัท KSL
เท่านั้นยังไม่พอ ยังปรากฏ "เส้นทางการเงิน" ที่ได้สอบถามไปที่ประเทศสิงคโปร์ ปรากฏว่า เจ้าของที่ดิน ที่ขายที่ดินให้กับ ปตท. ได้มีการจ่ายเงินนอกระบบให้กับ “นางแนนซี่” ที่ปรึกษาของปตท.ในโครงการนี้ ประมาณ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ!
(2) โครงการ Pt. Mar(Pontianak) โครงการ พีที มาร พอนเที่ยนัค ที่คณะกรรมการปตท. เห็นชอบให้ลงทุนเมื่อวันที่ 25 พ.ค.50

โครงการนี้มีผลตอบแทนของโครงการประมาณ 14% เป็นไปตามกรอบ และแนวทางที่คณะกรรมการ ปตท.กำหนด
ทั้งยังปรากฏว่า ในเงื่อนไขการซื้อที่ดิน ปตท. ถูกบังคับให้ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน หรือชุมชนในพื้นที่นี้ร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ของโครงการ

เป็นโครงการซื้อที่ดิน แต่การทำสัญญากลายเป็นสัญญาซื้อหุ้น ซึ่งแตกต่างจากแนวทางที่คณะกรรมการ ปตท.กำหนด ชัดเจน
(3) โครงการ Pt. Mar(Banyuasin) โครงการ พีที มาร์ บันยันซิน ไม่เคยเสนอ คณะกรรมการปตท. เห็นชอบหลักการ หรืออนุมัติลงนามในสัญญาซื้อที่ดิน เพื่อทำธุรกิจน้ำมันปาล์มตามแนวทางที่คณะกรรมการ ปตท. กำหนดแต่อย่างใด

(4) โครงการ Pt . FBP โครงการ พีที เอฟบีพี ไม่เคยมีการเสนอให้คณะกรรมการปตท. เห็นชอบในหลักการ และอนุมัติให้จัดซื้อที่ดินก่อนการลงนามซื้อขายที่ดินเลย

ที่สำคัญโครงการนี้ บริษัทที่ปรึกษา HSP&Partner ได้เสนอผลการการศึกษาแล้วชี้ว่า โครงการ PT. FBP เป็นโครงการที่มีปัญหาหลายด้าน ไม่เหมาะสมกับการลงทุน เพราะมีการบุกรุกพื้นที่ และอยู่ในถิ่นทุรกันดาร จะมีปัญหาเรื่องของการขนส่งผลผลิตน้ำมันปาล์ม และหลายประเด็น

จนคณะกรรมการ พีทีที จีอี PTT GE ที่มี "คนใหญ่คนโต" ใน “รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์” เป็นประธาน มีมติให้ทบทวนการลงทุนในโครงการพื้นที่นี้ และได้ทำหนังสือถึง "ขาใหญ่" แจ้งถึงปัญหาการลงทุนในโครงการนี้ว่า "ไม่สมควรลงทุน" แต่ "ขาใหญ่" เก็บเข้าลิ้นชัก มิได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณา ของคณะกรรมการ ปตท.

ไม่เพียงไม่เสนอบอร์ด "ขาใหญ่" กลับจัดการ "เปลี่ยน" ประธานกรรมการบริษัท PTT GE จาก "คนใหญ่คนโต" เป็นคนใกล้ชิดตัวเองแทน แล้วส่งหนังสือทักท้วงดังกล่าวให้พิจารณา ทั้งๆที่เรื่องนี้ "ขาใหญ่" มีหน้าที่ต้องเสนอ คณะกรรมการ ปตท. พิจารณาก่อน ตามแนวทางที่คณะกรรมการ ปตท. ได้กำชับให้ดูแลอย่างเคร่งครัด

เห็นได้ชัดว่า ในเวลาต่อมา โครงการนี้เสียหายมาก ถึงขนาดไม่มีผู้ซื้อเมื่อ ปตท. ประกาศขาย

(5) โครงการ PT.KPI โครงการนี้ เป็นโครงการใหม่ ซึ่งคนละพื้นที่กับ โครงการ PT.Az Zhara ไม่เคยมีการนำเสนอคณะกรรมการ ปตท. เพื่อขออนุมัติหลักการให้เจรจา และไม่เคยขออนุมัติลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดิน แต่ประการใด
ไม่มีการเสนอคณะกรรมการ ปตท. เห็นชอบในหลักการให้เจรจาและไม่มีการเสนอคณะกรรมการ ปตท. อนุมัติให้จัดซื้อที่ดิน ก่อนการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดิน แต่ประการใด

ทว่า กลับมีการจ่ายเงินค่าซื้อที่ดินงวดแรก ให้กับผู้ขาย กระทั่ง "ขาใหญ่" หมดวาระ ก็ยังทำจ่ายในงวดสุดท้าย อ้างว่า เป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่อง ขยายมาจากโครงการ PT Az Zhara

ตอนนั้นจึงถือว่า "ขาใหญ่" และพรรคพวก ไม่ได้ดำเนินการขออนุมัติต่อคณะกรรมการ ปตท. แต่ประการใดเลย เพิ่งมาขออนุมัติขอคณะกรรมการ ปตท. ในภายหลัง มีความผิดปกติชัดเจน อย่างยิ่ง

ยิ่งผู้ขายซึ่งต่อมา ได้ให้การกับ ปตท.ว่า ฝ่ายจัดการได้แจ้งให้ไปคุยกับคนใกล้ชิด “ขาใหญ่” ที่เป็น "คนนอก" ที่จะเป็นผู้เคาะราคาสุดท้ายที่ ปตท.จะซื้อที่ดินจากผู้ขายรายนี้ ทั้งๆ ที่ผู้ขายเสนอขายที่ดินให้กับ ปตท.ในราคา 890 เหรียญสหรัฐต่อเฮกต้า แต่ต่อมาได้เพิ่มราคาที่จะขายที่ดินให้กับ ปตท.เป็น 1,300 เหรียญสหรัฐต่อเฮกต้า ตามที่คนของ "ขาใหญ่" ได้แจ้ง
นี่จึงทำให้ปรากฏสัญญาการจัดการนายหน้า ระหว่างผู้ขายที่ดิน กับ บริษัท KSL ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งที่ เกาะบริติชเวอร์จิน แดนสวรรค์ของนักฟอกเงินที่ว่าไว้ข้างต้น

พร้อมๆ กับ "มีเงินทอน" จากผู้ขาย ได้จ่ายราคาส่วนต่างที่เสนอครั้งแรก 890 เหรียญสหรัฐ ต่อเฮกต้า กับราคาซื้อที่ดินที่ PTTGE จ่าย 1,350 เหรียญสหรัฐ ต่อเฮกต้า หรือ ประมาณ 450 เหรียญสหรัฐ ต่อเฮกต้า

เส้นทางการเงินตรงนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้ว่า ผู้ขายที่ดินได้จ่ายเงินให้กับ บริษัท KSL โดยให้จ่ายผ่านไปที่บริษัท Folcon Energy และบริษัท Solid Fokcon Energy ซึ่งจดทะเบียนที่เกาะบริติชเวอร์จิน ของเครือญาติ "ธนกร"

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ องค์คณะป.ป.ช. สมัยที่ "สุภา ปิยะจิตติ" เป็นกรรมการ ป.ป.ช. รับผิดชอบสำนวนนี้ ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง เบลเยียม สิงคโปร์ และฮ่องกง ผ่าน MLA

และเงินที่ได้รับจากผู้ขาย ถูกนำไปที่ "อังกฤษ" ซื้ออสังหาริมทรัพย์ อันเป็นที่มาของ "การปกปิด" ไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินของอดีตคนของ ป.ป.ช.เอง ที่มีสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น KSL !

ความนัยนี้ ก็ย้อนไปดูในสำนวนการไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติของคนในป.ป.ช.ที่กลายเป็นอดีตไปแล้วก่อนหน้านี้ได้
และประการสำคัญที่สุด องค์คณะไต่สวน ป.ป.ช ได้ตรวจข้อมูลผ่านความร่วมมือทางอาญา ระหว่างประเทศ หรือ MLA และและมีพยานบุคคลที่สำคัญคือ "จุลสิงห์ วสันตสิงห์" อดีตอัยการสูงสุด ในฐานะกรรมการ ปตท. และเจ้าหน้าที่ 2 คนได้เดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย สอบสวน "ผู้ขาย" เกี่ยวกับหนังสือที่ให้ไว้กับ ปตท. ว่า มีการเพิ่มราคาที่เสนอขายตามที่คนของ "ขาใหญ่" เคาะจริงหรือไม่

จากการสอบปากคำของ "จุลสิงห์" อดีตอัยการสูงสุดได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ขายยืนยันตามหนังสือที่เคยแจ้งปตท. !
ดังนั้น จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่า มีการทุจริตเรียกรับเงิน จากการซื้อขายที่ดินในโครงการ PT.KPI
สรุปว่า จากข้อมูลพื้นฐาน ข้อเท็จจริง "เงินทอน" และ พฤติการณ์ของ "ขาใหญ่" ใครได้ ใครเสีย ชัดเจนพอหรือไม่?
งานนี้ต้องจับตา มติป.ป.ช.ให้ดีๆ อย่ากระพริบตา !?


กำลังโหลดความคิดเห็น