xs
xsm
sm
md
lg

แฉอีก “แม้ว” เร่งทำ MOU44 จนเขียนผิด เปลี่ยนท่าทีฝ่ายไทยสิ้นเชิง-เอื้อเขมร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตสมาชิกที่ปรึกษาสภาพัฒน์ ชี้พิรุธ MOU44 เร่งรีบผิดปกติ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ 4 เดือนเสร็จ แผนที่แนบท้ายยังเขียนผิด เส้นละติจูด “องศาเหนือ (°N)” แต่เขียนเป็น “องศาตะวันออก (°E)” ท่าทีเจรจาของไทยถูกเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงจากที่เคยยืนยันมาตลอดว่าเขมรต้องขีดเส้นเขตไหล่ทวีปของตนให้ถูกต้องเสียก่อน แต่ MOU44 ยอมให้กัมพูชาไม่ต้องปรับเส้นของตัวเอง แต่กำหนดเขตพัฒนาร่วมได้ทันที ทำให้ไทยเสียเปรียบ และเมื่อเป็นสนธิสัญญาจึงยกเลิกได้ยาก กลายเป็นข้อผูกมัดต้องทำตาม

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอดีตสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ตอนที่ 8: ข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับ MOU 2544” มีเนื้อหาโดยละเอียดดังนี้

MOU 2544 ซึ่งเป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป โดยได้กำหนดกรอบและกลไกในการเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งความตกลงร่วมกันในการปักปันเขตแดนและการใช้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามรับรองเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 นั้น มีข้อสังเกตที่สำคัญสำหรับบันทึกความเข้าใจดังกล่าวดังนี้

1) การจัดทำ MOU 2544 เป็นไปอย่างเร่งรีบ รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ได้จัดให้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของไทยและกัมพูชาที่เสียมราฐเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2544 ซึ่งนำไปสู่การจัดทำ MOU 2544 และต่อมา ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น และนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสและประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชาในขณะนั้น ได้ลงนามรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ณ กรุงพนมเปญ ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายทักษิณ ชินวัตร จะเห็นว่าใช้เวลาเพียงแค่ราว 4 เดือนในการจัดทำ MOU 2544 ซึ่งบ่งบอกถึงการรีบเร่งในการจัดทำ MOU 2544 โดยอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้น หากดูที่แผนที่แนบท้าย MOU 2544 ตามภาพที่ 1 ซึ่งแสดงถึงการแบ่งพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนและส่วนล่างของเส้นละติจูด 11° เหนือ จะเห็นว่า มีการระบุเส้นละติจูดผิดจาก “องศาเหนือ (°N)” เป็น “องศาตะวันออก (°E)” อันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่อให้เห็นถึงการรีบเร่งในการจัดทำ MOU 2544

ภาพที่ 1: แผนที่แนบท้าย MOU 2544 แสดงพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล
2) กรอบการเจรจาตาม MOU 2544 ได้เปลี่ยนท่าทีในการเจรจาของไทยต่อปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจา กรอบการเจรจาตาม MOU 2544 มีผลทำให้กัมพูชาไม่ต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในบริเวณพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11o เหนือ ให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ซึ่งทั้งกัมพูชาและไทยเป็นภาคี และกฎหมายระหว่างประเทศอีกทั้งยังสามารถใช้การปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในบริเวณพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11° เหนือ ซึ่งกัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่ไหล่ทวีปเลยในส่วนนี้ มาใช้เจรจาต่อรองในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) ที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11° เหนือ ตั้งแต่เริ่มเจราจากับกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2513 จนถึงก่อนการจัดทำ MOU 2544 นั้น ไทยมีท่าทีที่คงมั่นว่าเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิไม่เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาจึงต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปทั้งหมดของตนให้ถูกต้องเสียก่อน จนเหลือพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริงที่สมเหตุผลเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาพิจารณาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวซึ่งมีพื้นที่เหลือน้อยที่สุดเพื่อทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ท่าทีของไทยนี้ถือเป็นท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

3) MOU 2544 เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 178 ถ้าพิจารณาเฉพาะตัว MOU 2544 เองในขณะที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 ไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 224 ที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา จึงไม่ต้องให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนลงนามรับรอง และไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 178

แต่หากพิจารณาว่าเมื่อการดำเนินการเจรจาตามกรอบและกลไกของ MOU 2544 เสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์แล้ว จะได้มาซึ่งร่างความตกลงระหว่างสองฝ่าย เมื่อได้ร่างความตกลงร่วมดังกล่าวแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำร่างดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายภายในของแต่ละฝ่ายเพื่อผ่านความเห็นชอบก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ลงนามรับรองร่วมกัน ซึ่งความตกลงนี้มีความชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาที่เข้าข่ายตามมาตรา 178 ดังกล่าว เนื่องจากเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และเป็นหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ความตกลงร่วมดังกล่าวจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนี้ ยังต้องมีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาดังกล่าวตามมาตรา 178 วรรคสี่ด้วย

4) การยกเลิก MOU 2544 ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศไม่สามารถกระทำได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากกัมพูชา MOU 2544 ถือว่าเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ในการที่ไทยซึ่งเป็นรัฐคู่สัญญาจะบอกเลิก MOU 2544 กับกัมพูชาซึ่งเป็นรัฐคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องมีเหตุผลที่เพียงพอตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ MOU 2544 ไม่ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเลิกหรือการถอนตัวระบุไว้ หากพิจารณาอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 (Vienna Convention on the Law of Treaties 1969) ในส่วนที่ 5 (Part V) หมวดที่ 3 (Section 3) การยกเลิกและการระงับชั่วคราวของการใช้สนธิสัญญา (Termination and Suspension of the Operation of Treaties) จะพบว่าไม่มีช่องทางใดที่จะใช้ยกเลิก MOU 2544 ได้เลยหากไม่ได้รับความยินยอมจากกัมพูชา กัมพูชาเองก็ไม่เคยทำการฝ่าฝืนอย่างร้ายแรงต่อ MOU 2544 หรือแม้ไทยจะอ้างพฤติการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก (a fundamental change of circumstance) ตามข้อ 62 ของอนุสัญญาดังกล่าว ก็ไม่น่าจะรับฟังได้ แม้ทั้งไทยและกัมพูชาไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญากรุงเวียนนา แต่ข้อกำหนดดังกล่าวของอนุสัญญานี้เมื่อพิจารณาเบื้องต้นแล้วน่าจะเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นหลักแห่งการถือปฏิบัติโดยทั่วไป หรือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปซึ่งอารยะประเทศรับรอง ซึ่งส่งผลให้ไทยและกัมพูชาต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวนั้นด้วยอยู่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น