xs
xsm
sm
md
lg

“อัครา” มุ่งแก้ปัญหา PM 2.5 ชวนลดและงด การเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(17 ม.ค.)นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน”พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา เขต 1 พรรคกล้าธรรม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

โดยการจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างปลอดภัยด้วยการจัดการตอซังและฟางข้าว ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อปลอดการเผา และผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน smart farmer ชาวนาอาสา ผู้นำองค์กรชาวนา และประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วิธีการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตลอดจนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการงดเผาตอซังและผลิตข้าวอย่างปลอดภัย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จนเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว


นายอัครา กล่าวว่า หลายพื้นที่ในภาคเหนือ ยังคงเผชิญวิกฤติฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (การจัดอันดับ World’s Best Awards ของนิตยสารทราเวล แอนด์ เลซเซอร์ ปี 2559) ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน สาเหตุหลักคือ การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จึงได้ร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการเผา ที่จะสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ “นาแปลงใหญ่” ที่เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิต และบริหารจัดการผลิตข้าว มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ กลุ่มเกษตรกรให้มีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ห่วงโซ่การผลิตข้าวแบบเดิม โดยการผสานเชื่อมโยงกันตั้งแต่เริ่มการจัดการการเพาะปลูกข้าวไปจนถึงการตลาด โดยกระบวนการรับรองการผลิตข้าวมีทั้งการรับรองรายเดี่ยวและการรับรองแบบกลุ่ม ซึ่งการขอการรับรองแบบกลุ่มนั้น จะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลา สร้างความเข็มแข็งและความยั่งยืนในการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกร






กำลังโหลดความคิดเห็น