xs
xsm
sm
md
lg

เปิดนโยบาย-ผลงานเด่น "โสภา กาญจนะ" กระแสนิยมมาแรง เต็ง 1 เลือกตั้ง อบจ.สุราษฎร์ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนเต็ม กับการเลือกตั้งสนามเล็กที่จะส่งผลต่อการเมืองภาพใหญ่ระดับประเทศในอนาคต วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 กกต. กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้านี้ ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า เหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)

โดยหนึ่งในสนามเลือกตั้งสำคัญที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ นั่นคือ “ศึกเมืองร้อยเกาะ” จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะการแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันตัวเต็งหลายท่านลงสมัคร ไม่ว่าจะเป็น 1."ป้าโส" อดีต สส.โสภา กาญจนะ ภรรยา นายชุมพล กาญจนะ อดีต สส.หลายสมัย ที่ในรอบนี้ลงแข่งขันในนามอิสระ "กลุ่มพลังสุราษฎร์" ได้เบอร์ 4 มาถึงท่านที่ 2."หมอมุดสัง" นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงในนามพรรคประชาชน ได้เบอร์ 5 และ 3."กำนันศักดิ์"นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว อดีต นายก อบจ.สุราษฎร์ฯ สายตรง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่รอบนี้ลงแข่งในนาม "กลุ่มคนรักสุราษฎร์" ได้เบอร์ 2

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวเพื่อติดตามกระแสการเลือกตั้ง อบจ.สุราษฎร์ธานี อย่างใกล้ชิด พบว่า ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง คะแนนนิยมของ “ป้าโส” เจ้าของสโลแกน “ซื่อสัตย์ มากประสบการณ์ ทำงานเป็น” กระแสมาแรงขี้นเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย "หมอมุดสัง" ซึ่งไล่ห่างมาติดๆ ส่วนแชมป์เก่า "กำนันพงษ์ศักดิ์" คะแนนนิยมรั้งท้ายอยู่อันดับ 3

โดยองค์ประกอบสำคัญนอกจากทีมงานมืออาชีพที่คอยช่วยเหลือในแต่ละอำเภอทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน เรื่องของนโยบาย “กลุ่มพลังสุราษฎร์” ก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน จับต้องได้ และไม่ขายฝัน โดยนโยบายเด่นๆ ที่ป้าโสสั่งลุย คือ “สามลุยด่วน” ได้แก่ 1.สาธารณูปโภคแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรทุกตำบล 2.สาธารณูปโภคไฟฟ้าคุณภาพ ทั่วถึงทุกครัวเรือน และ 3.ความปลอดภัยพัฒนาถนนคุณภาพ เดินทางสะดวกปลอดภัย

ตามมาด้วยนโยบาย “เก้าลุยแน่” ได้แก่ 1.เครื่องมือทางการแพทย์ สำหรับ อสม. ทุกหมู่บ้าน 2.สนามกีฬามาตรฐานทุกอำเภอ 3.จัดติวเตอร์ 0 บาท ให้แก่นักเรียน 4.หนึ่งอำเภอ หนึ่งแหล่ง ต้องแวะเที่ยว 5.สร้างศูนย์บำบัดผู้ป่วยยาเสพติด 6.พัฒนาอาชีพกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ 7.ผลักดันงานชักพระสู่ระดับประเทศ สนับสนุนงานประเพณีของทุกอำเภอ และงานเมาลิดนบี 8.สร้างตลาดกลางสินค้าเกษตร โอท็อป ประมง โค กระบือ แพะ และ 9.พัฒนาระบบกำจัดขยะ และสนับสนุนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานียังคงจดจำผลงานที่โดดเด่นของ “ป้าโส” ซึ่งเคยฝากผลงานไว้ ไม่ว่าจะเป็น การริเริ่มโครงการก่อสร้างถนนเป็น 4 เลน จากซอยสิบบึงขุนทะเลถึงอำเภอบ้านนาสาร (ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ) รวมไปถึงริเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกเวียงสระ ถนนสายเอเชีย 41 และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟจากสามแยกห้วยมะนาวไปยังตลาดบ้านส้อง (ทั้งสองโครงการดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) นอกจากนี้ยังมีผลงานเรื่องการเป็นแกนนำในการระดมทุนทอดผ้าป่าเพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ (เครื่องฟอกไต) ให้กับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งขาดแคลนเป็นจำนวนมาก และเมื่อปี 2557 ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดการแข่งขันจักรยานทางเรียบ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ ให้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ รวมไปถึงสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ (ห้องพิเศษ)

ความในใจของ นางโสภา กาญจนะ ที่ถ่ายทอดจากคำพูดออกมาเป็นตัวหนังสือ มีเนื้อหาใจความดังนี้ “ป้าโส...ตัดสินใจลงเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะอยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด ไม่ได้หวังเงินทอนโครงการต่างๆ ไม่ได้หวังเกียรติยศชื่อเสียงใดๆ มีความตั้งใจเพียงอยากเห็นพี่น้องประชาชนของเราอยู่ดีกินดี บ้านเมืองของเราพัฒนาทัดเทียมเหมือนที่อื่น แต่ความมุ่งมั่นครั้งนี้ของป้าโส...คงจะทำมันเพียงลำพังไม่ได้ ถ้าทุกอย่างจะสำเร็จได้ ต้องขอแรงจากพี่น้องทุกคนช่วยกัน ให้มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์นี้ไปด้วยกัน ทำสุราษฎร์ฯ ให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม”

สำหรับประวัติของ นางโสภา กาญจนะ พื้นเพเดิมเป็นคน ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ โปรแกรมวิชาการจัดการทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระดับปริญญาโท หลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และระดับปริญญาเอก กำลังศึกษา หลักสูตรรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีประวัติการทำงานเป็นทั้งนักธุรกิจ เกษตรกร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการหลายคณะ และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง อบจ.ท้องถิ่นครั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ถึงจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่มีการเลือกตั้ง “นอกเขต” เหมือน สส. หมายความว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะต้องกลับบ้านไปเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ กกต. เคาะมา ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568


















กำลังโหลดความคิดเห็น