xs
xsm
sm
md
lg

มท.หนู รับลูก ป.ป.ช. ตั้ง ปลัดป๊อป คุมคณะทำงานขจัดระบบหลงจู๊-คนรัฐ ทุจริตออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มท.หนู รับลูก ป.ป.ช. สั่ง ปลัด มท. นั่งหัวโต๊ะคณะทำงาน คุม “ทุจริตออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร” ทั่วประเทศ เน้นแก้ไขข้อกฎหมาย-ระเบียบ มท. สารพัดฉบับ ว่าด้วยการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หลัง ป.ป.ช. ปูด 7 รูปแบบ! แก๊งเรียกใต้โต๊ะ แลกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร พบ “ผู้รับเหมา/เอกชน-จนท.กรมโยธาฯ หลายระดับมีเอี่ยว ดัน อปท. เจ้าภาพ พัฒนาเทคโนโลยีออกใบอนุญาต-ดัดแปลงอาคาร “ออนไลน์” จี้ใช้กลไกตรวจสอบโดยเอกชน เชื่อขจัด “ระบบหลงจู๊” จัดคิวเรียกรับเงินแลกใบอนุญาตฯ

วันนี้ (9 ม.ค.) มีรายงานจากระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ถึง รมว.มหาดไทย

เช่น ให้เร่งรัดพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาต/ใบรับรองการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดให้มีคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาต และจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต

ล่าสุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรี 7 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย แจ้งครม. โดยมีหนังสือด่วนที่ แจ้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อ 26 พ.ย. 2567 แจ้งดำเนินการแต่งตั้งคณะทํางานเพื่อกําหนดแนวทางการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงาน อาทิ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. ผู้แทนสำนักงานสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคารกรมโยธาธิการและผังเมือง

หัวหน้ากลุ่มงานกำกับและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง เจ้าหน้าที่สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคารที่ได้รับมอบหมายจากสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง

ทั้งนี้ ให้คณะทำงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1. กำหนดแนวทางการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

2. กำหนดแนวทางการแก้ไขข้อกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และ 3.ปฏิบัติงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

สาระสำคัญ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เสนอคณะรัฐมนตรี ถึง มท.1

เช่น เร่งรัดพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาต/ใบรับรองการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดให้มีคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาต และจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต โดยมีมาตรการสำคัญ 5 ข้อ สรุปได้ดังนี้

1. เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งรัดในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ และการขอใบรับรองการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดแผนและระยะเวลาเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้าง หรืออาคารออนไลน์ให้ชัดเจน

พร้อมทั้งให้ อปท. และ อปท. รูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตออนไลน์ เพื่อตรวจสอบถึงสถานะของการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารของหน่วยงานได้

เพื่อเป็นการลดช่องทางการติดต่อระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยตรง จะทำให้การดำเนินการอนุญาตเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้มาติดต่อ และลดการใช้ดุลพินิจ การทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการออกใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. กระทรวงมหาดไทย ควรพัฒนาระบบ One Stop Service โดยการเชื่อมโยงการอนุมัติ อนุญาต ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ควรบูรณาการการทำงานร่วมกัน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมถึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลทุกหน่วยงาน

โดยการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต้องคำนึงถึงมาตรฐานของข้อมูล คุณภาพของข้อมูล ความสะดวกในการนำไปใช้ต่อของผู้ใช้งานข้อมูล และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐเปิดเผย ให้ประชาชนเข้าถึงได้ครบถ้วน ง่าย สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อจำกัด การมีข้อมูลที่ครบถ้วนที่ภาครัฐเปิดเผย จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้

3. ควรใช้กลไกการตรวจสอบโดยเอกชน (Third Party Inspector) เข้ามามีบทบาทร่วมตรวจแบบแปลนและการก่อสร้างทั้งในขั้นตอนก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง เช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารทั้งในส่วนของพระราชบัญญัติและกฎกระทรวง รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

แต่อำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาตยังคงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบความปลอดภัยอาคารมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายตรวจเอกชนให้รัดกุม เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายตรวจเอกชนเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ถูกต้อง และโปร่งใส ซึ่งจะทำให้การพิจารณารวดเร็ว ลดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ได้ รวมถึงแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงพออีกด้วย

4. ควรจัดให้มีคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และประชาชนที่ขอใบอนุญาตดังกล่าว โดยเป็นคู่มือเกี่ยวกับรายละเอียดการพิจารณาอาคาร หรือดัดแปลงอาคารแต่ละประเภท พร้อมทั้งจัดทำในรูปแบบอินโฟกราฟิกส์ รวมถึงการมีรายการตรวจสอบ (Checklist) ที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต

รวมทั้งควรจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ลดปัญหาการเกิดความเข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน

5. ควรจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตที่มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ

รวมถึงสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2553

ทั้งนี้ สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ป.ป.ช. สรุปปัญหาที่ค้นพบว่า รูปแบบการทุจริตจะมีการดำเนินการเป็นขบวนการโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนการยื่นขออนุญาต ซึ่งจะมีการเรียกรับผลประโยชน์ก่อน แต่จะไม่สามารถตรวจพบหลักฐานได้

ในขั้นตอนออกใบอนุญาตฯ ที่มีช่องว่างให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจที่จะไม่รับเรื่องการยื่นขออนุญาต หรือรับเรื่องล่าช้า เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการเรียกรับเงินเพื่อให้ดำเนินการได้สะดวกและรวดเร็วตามที่ควรจะเป็น โดยเจ้าหน้าที่ไม่ลงทะเบียนรับเรื่อง และแจ้งข้อทักท้วงให้ผู้มายื่นคำร้องแก้ไขรายการแบบแปลน ตลอดจนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อเรียกรับผลประโยชน์

รวมทั้งกรณีเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาต โดยปฏิบัติตามความพึงพอใจของตน ซึ่งผู้บังคับบัญชามิได้กวดขันและลงโทษกรณีดังกล่างอย่างสม่ำเสมอ เป็นเหตุให้ผู้ประสงค์ขอออกใบอนุญาตไม่ได้รับความเป็นธรรม และในภาวะที่ค่าต้นทุนการก่อสร้างแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่สามารถทำการเริ่มก่อสร้างได้ เพราะถูกกลั่นแกล้งไม่ออกใบอนุญาตในเวลาอันสมควรหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดความเดือนร้อนแก่ผู้ขอออกใบอนุญาตเป็นอย่างมาก

“เมื่อมีการยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้าง หากดำเนินการยื่นแบบปกติตามขั้นตอน เจ้าหน้าที่มักจะส่งไปติดต่อกับฝ่ายโยธา แล้วจะมีผู้ประสานงานติดต่อให้ที่เรียกกันว่า “หลงจู๊” จะเป็นผู้ที่จัดการจัดคิวรวมถึงผลประโยชน์ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หากดำเนินการยื่นแบบก่อสร้าง จะมีการกำหนดอัตรา (rate) ไว้

ยกตัวอย่างเช่น โครงการแต่ละแบบจะมีกำหนดไว้ว่าจะเรียกรับผลประโยชน์เป็นจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้น เงินก็จะไหลเข้าสู่กระบวนการจัดสรรปันส่วนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งไม่อาจทราบได้ว่ามีใครบ้าง หากเป็นโครงการอาคารขนาดใหญ่ก็จะถูกเรียกรับผลประโยชน์เยอะกว่าโครงการขนาดเล็ก

แต่ถ้ายังตกลงกันไม่ได้และยังคงยื่นแบบตามปกติก็อาจจะติดขัด มีความพยายามดึงเรื่องหาเหตุทำให้ใบอนุญาตออกช้าถึงช้ามากหากไม่เข้าระบบของเขา แต่ถ้าเข้าระบบการเรียกรับเงินก็จะมีการจัดการแบบที่ได้ยื่นไป ซึ่งหากถ้ามีการจ่ายเงิน ก็จะไม่พบปัญหาอะไรและได้รับใบอนุญาตในที่สุด”

โดยสามารถแบ่งรูปแบบความเสี่ยงการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ได้ดังนี้

1. การใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

2. การตรวจเอกสารไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในคำขอแต่มีการรับเรื่องไว้

3. การพิจารณาตรวจสอบและเสนอความเห็นของการอนุมัติ อนุญาต ไม่ดำเนินการตามลำดับคำขอ

4. การเก็บเรื่องไว้ไม่แจ้งผู้ประกอบการเพื่อเรียกรับผลประโยชน์

5. เจ้าหน้าที่ของรัฐสมยอม หรือมีส่วนรู้เห็นกับบุคคลหรือนิติบุคคลในการดำเนินการออกใบอนุญาตก่อสร้าง การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

6. การพิจารณาอนุมัติ อนุญาต อาจมีคณะกรรมการบางท่านเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขออนุญาตบางรายที่คุณสมบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์

7. ผลประโยชน์ทับซ้อน รับจ้างเขียนแบบแปลน และตรวจเอง (ถึงแม้ราชการจะให้มีแบบมาตรฐาน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนก็ตาม แต่การขออนุญาตต้องมีผังประกอบ จึงต้องว่าจ้างผู้ตรวจ หรือผู้อนุมัติ อนุญาต จะได้ผ่านง่าย)


กำลังโหลดความคิดเห็น