วันนี้(9 ม.ค.)นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกำชับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) คุมเข้มการขนย้ายตะกรันอลูมิเนียมหรืออลูมิเนียมดรอสล็อตแรกทั้ง 7,000 ตัน ในทุกขั้นตอน โดยได้เริ่มทำการขนย้ายออกจากบริษัทฯ แล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 เพื่อนำไปบำบัดกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งจากการประเมินของกรมโรงงานฯ พบว่า ในพื้นที่มีกากของเสียตกค้าง รวมประมาณ 33,800 ตัน ประกอบด้วย 1) ของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ 12,600 ตัน
2) กากตะกอนของเสียตกค้างตกค้างในอาคารและรางระบายน้ำ 4,600 ตัน 3) กากตะกอนผิวดินที่เกิดการปนเปื้อนจากเหตุไฟไหม้ 5,900 ตัน และ 4) น้ำเสียเคมีวัตถุ 10,700 ตัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการบำบัดกำจัดสูง ไม่สามารถดำเนินการในคราวเดียว ประกอบกับจากการสำรวจพื้นที่ พบว่ามีอลูมิเนียมดรอสประมาณ 7,000 ตัน ซึ่งเป็นกากของเสียที่สร้างปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนชาวบ้านในพื้นที่มากที่สุด กระทรวงอุตสาหกรรมจึงแถลงต่อศาลจังหวัดระยองขอเบิกเงินที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด วางไว้ต่อศาลจำนวน 4.9 ล้านบาท มาใช้ในการบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอสก่อนเป็นลำดับแรกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในวันที่ 26 เมษายน 2568 นี้
ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายในการบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอสรวมค่าขนส่งจะอยู่ที่ประมาณตันละ 10,000 บาท ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอสทั้งหมด 7,000 ตัน สูงถึง 70 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ผนึกกำลังร่วมกับบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านการดำเนินกิจกรรม “อุตสาหกรรมรวมใจ” ทำการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสไปบำบัดกำจัดโดยใช้เป็นวัตถุดิบผสมร่วมกับดินอลูมินาในกระบวนการเผาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งใช้อุณหภูมิสูงกว่า 1,400 องศาเซลเซียส ประกอบกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มีระบบบริหารจัดการและระบบบำบัดมลพิษประสิทธิภาพสูง ทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอสได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบโรงงาน ด้วยงบประมาณเพียง 4 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ได้แล้ว ยังสามารถลดการใช้งบประมาณของภาครัฐลงได้กว่า 66 ล้านบาท